ดีเอสไอลงพื้นที่อุบลราชธานีตรวจค้นลานมันสำปะหลังแปรรูป 3 แห่ง ปกปิดข้อเท็จจริงจำนวนรับจำนำ กดราคาเกษตรกร ใช้งบรัฐไปในทางทุจริตเสียหายกว่า 700 ล้าน พร้อมจับกุมผู้ต้องหา 4 ราย
วันนี้ (16 ก.ค.) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผอ.สำนักคดีอาญาพิเศษ พร้อมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และชุดปฏิบัติการพิเศษ ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจค้นและจับกุมเจ้าของลานมันสำปะหลังแปรรูปใน อ.บ้านน้ำผุด และ อ.บ้านน้ำยืน จำนวน 3 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าการทุจริตกว่า 700 ล้านบาท แห่งแรกคือ ลานมันชัยมงคล จับกุมผู้ต้องหาได้ 2 ราย ประกอบด้วย นายพนมไพร วงศ์คำ และ นายไกรศักดิ์ วงศ์คำ สองลานมันศิริพืชผล จับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย คือ นางพาณี สะสมสวัสดิ์ และลานมันชัยเจริญพืชผล จับกุมผู้ต้องหา 1 ราย คือ นายวิชัย ศรีอรุณ เบื้องต้นพนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายและมีจำนวนมันสำปะหลังไม่ครบถ้วนตามที่แจ้งไว้กับองค์การคลังสินค้า จ.อุบลราชธานี
ด้าน พ.อ.ปิยะวัฒก์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ดีเอสไอพบการกระทำความผิดของเจ้าของลานมันสำปะหลัง ทั้ง 3 แห่ง หลายประเด็น เริ่มตั้งแต่การปกปิดข้อเท็จจริงในการรับจำนำมันสำปะหลัง การประกาศรับซื้อมันสำปะหลังแปรรูปชนิดเส้น ทั้งที่นโยบายรัฐบาลประกาศให้รับซื้อมันสำปะหลังสด และให้งบประมาณในการแปรรูปอีกตันละ 300 บาท นอกจากนี้เกษตรกรกว่า 600 ราย ยังถูกกดราคาโดยลานมันสำปะหลัง โดยจะแจ้งต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังว่า สามารถรับจำนำมันได้เพียงครึ่งเดียว เช่น เกษตรกรมีมันสำปะหลัง 100 ตัน ลานมันจะรับจำนำในราคาที่รัฐบาลรับประกันกิโลกรัมละ 2 บาท เพียงแค่ 50 ตัน ส่วนอีก 50 ตัน เกษตรกรต้องยอมขายในราคาหน้าลาน คือ กิโลกรัมละ 80 สตางค์ พฤติการณ์ของเจ้าของลานมันจึงยิ่งทำให้ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เสื่อมราคาไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนของเกษตรกร
ผอ.สำนักคดีอาญาพิเศษ กล่าวต่อว่า ดีเอสไอยังตรวจสอบพบอีกว่า ลานมันสำปะหลังดังกล่าวมีพฤติกรรมร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจัดทำหลักฐานเท็จ โดยมีการลงตัวเลขจำนวนมันสำปะหลังที่รับจำนำไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อให้เกษตรกรนำเอกสารไปขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อได้รับเงินจาก ธ.ก.ส.ผู้มีอิทธิพลจะคอยดักรับเงินจากเกษตรกร เช่น เกษตรกรนำมันสำปะหลังมาจำนำ 100 ตัน ลานมันจะกรอกตัวเลขว่ารับจำนำมันสำปะหลังไว้ 200 ตัน ในราคาที่รัฐบาลรับประกัน ซึ่งพฤติการณ์ทุจริตในหลายขั้นตอนของการรับจำนำพืชผลเกษตรในพื้นที่ จ.อุบลฯ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย 700 ล้านบาท เกษตรกร 1 คน ควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐรายละ 350,000 บาท กลับได้รับเงินเพียงแค่รายละ 50,000-60,000 บาท โดยส่วนต่างเกือบ 300,000 บาท ตกเป็นผลประโยชน์ของลานมัน
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า การตรวจค้นจับกุมเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเชิงรุกในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายไว้แล้วว่า จะต้องดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ดีเอสไอจะขยายผลและดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาในพื้นที่อื่นต่อไป