เล่นเอาตกตะลึงกันไปทั่วเมืองเมื่อทุกสื่อเสนอข่าวพบเงิน 10 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินของกลางที่ได้มาจากการซื้อขายยาเสพติด ซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์นั่งสามตอน ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีเทาดำ หมายเลขทะเบียน ศส-9187 กรุงเทพมหานคร ของ"นายอุสมาน สะแลแมง" ผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมสมคบและร่วมกันนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (เมทแอมเฟตามีน จำนวน 270,000 เม็ด) เพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย และสมคบและร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย และความผิดฐานฟอกเงิน หากเป็นการพบแบบทันทีทันควันหลังจับกุมคงไม่น่าตกตะลึงอะไรนัก แต่คดีนี้มีการจับกุมเครือข่ายของ นายอุสมาน ได้ตั้งแต่ปี 2548 แต่ตัว นายอุสมาน หนีการจับกุมไปได้
กระทั่งมีการสืบสวนสอบสวนและ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)ได้มีคำสั่งลงวันที่ 10 ต.ค.2549 ให้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ของทางราชการที่ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ก็ยังไม่มีการพบเงินดังกล่าวแต่อย่างใด จนต่อมาคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2551 ให้กรณีนายอุสมาน สะแลแมง กับพวก กระทำความผิดฐานค้ายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายระหว่างประเทศ เป็นคดีพิเศษ ทำให้ดีเอสไอต้องเข้าไปสืบสวนคดีนี้ต่อและได้ข้อมูลว่ามีการซุกซ่อนเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดไว้ในรถคันดังกล่าว จนในที่สุดเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2552 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ประสานกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีเพื่อขอทำการตรวจค้นภายในรถยนต์โดยละเอียด ผลการตรวจค้นพบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาทและ 500 บาท จำนวนทั้งสิ้น 9,998,000 บาท ซุกซ่อนอยู่ภายในแผงประตูหลังฝั่งซ้ายและขวา เงินเหล่านั้นถูกซุกซ่อนอยู่ในรถโดยที่ตำรวจที่นำไปใช้เองก็ไม่รู้เลยแม้แต่น้อยเป็นเวลาถึง 3-4 ปี "เรื่องนี้จะบอกว่าเป็นความไม่รอบคอบของเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้หรือไม่ ไม่อาจฟันธง แต่ที่แน่ๆทำให้ตอนนี้ดีเอสไอพอจะกู้หน้าเรียกผลงานขึ้นมาได้บ้าง"
ขณะที่แนวทางการสืบสวนขยายผลต่อจากนี้ "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ได้สั่งให้นำรถยนต์ของกลางในคดีนี้ไปตรวจสอบอย่างละเอียดว่ายังหลงเหลือสิ่งใดซุกซ่อนในตัวรถอีกหรือไม่ จากนั้นจะส่งรถยนต์ให้บริษัท โตโยต้า ตรวจสอบซ้ำให้ด้วย แต่คดีนี้ยังมีรถยนต์อีกหลายคันที่ถูกยึดอายัดมาจากเครือข่ายของนายอุสมาน ก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามนำมาตรวจสอบ ซึ่งบางคันได้ขายทอดตลาดไปแล้ว ส่วนการตรวจสอบเงินในขณะนี้พบว่าเชือกที่มัดเงินจำนวนดังกล่าวปนเปื้อนคราบยาเสพติด ซึ่งดีเอสไอจะส่งหลักฐานให้สำนักงานวิทยาการตำรวจตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
ส่วน นายชาติชาย สุทธิกลม ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า นายอุสมาน ถูกออกหมายจับแต่ตัวนายอุสมาน หลบหนีไปได้คาดว่าจะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ทำให้เครือข่ายของนายอุสมาน ที่มีมากกว่า 10-20 คน แตกกระจาย ส่วนใหญ่ก็ยังยึดอาชีพค้ายาเสพติดอยู่ บางรายได้ไปสร้างเครือข่ายใหม่ซื้อขายยาเสพติดเอง แต่ก็ยังมีการเชื่อมโยงกับนายอุสมาน อยู่ และขณะนี้ ป.ป.ส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งติดตามตัวนายอุสมานกับพวกมาดำเนินคดี ส่วนทรัพย์สินของนายอุสมานที่ ป.ป.ส.ได้ยึดไว้ รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท มีทั้งรถยนต์ และที่ดิน
แต่สำหรับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 52 ที่ยกฟ้องนายทรงศักดิ์ น้อยสร้าง และนายกิตติศักดิ์ ดอรอเอ็ง ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเจ้าของเงินจำนวน 30 ล้านบาทที่ซุกซ่อนในท่อพีวีซีที่เคยเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปี 2548 ซึ่งจากข้อมูลของฝ่ายสืบสวนพบว่าเป็นเครือข่ายของนายอุสมาน จะกระทบกับการขยายผลคดีนี้หรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีผลกระทบการคดีที่ดีเอสไอจะต้องสืบสวนต่อไปหลังเพิ่งพบเงินของกลางในรถยนต์คันดังกล่าว เพราะคดีที่ยกฟ้องเป็นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งอาจยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนคดีของดีเอสไอเป็นการขยายผลการจับกุมนักค้ายาเสพติด 2.7 แสนเม็ด โดยผู้ต้องหาคือนางสุภาภรณ์ คำศรีภาพ ภรรยาของนายอุสมาน ซึ่งศาลตัดสินจำคุก 40 ปี
ผลการสอบสวนขยายผลของดีเอสไอ จะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะไม่อาจทราบได้ว่าจะสามารถตามตัวนายอุสมาน กับเครือข่ายที่ยังหลบหนีอยู่มาดำเนินคดีได้หรือไม่ หรือจะใช้เวลานานเท่าใด แต่หากใครจะลองคิดเล่นๆดูว่ารถยนต์อีกหลายคันที่ยึดอายัดมาได้ โดยเฉพาะคันที่ขายทอดตลาดไปแล้วนั้น หากมีเงินซุกซ่อนอยู่จริง เวลาล่วงเลยมานานขนาดนี้จะหลงเหลือเงินเอาไว้อีกหรือไม่ หรือมีผู้โชคดีค้นพบเงินเหล่านั้นไปก่อนแล้ว รัฐคงต้องสูญเงินไปอย่างไม่น่ามีทางได้คืน แต่ที่แน่นอนที่สุดเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนเรื่องความรอบคอบในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ดีทีเดียว