xs
xsm
sm
md
lg

คดีเงิน 30 ล้านซุกท่อพีวีซีพลิก!อุทธรณ์ยกฟ้องนายทุนใหญ่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสุทรรศน์ อาแซ , นายทรงศักดิ์ น้อยสร้าง และนายกิตติศักดิ์ ดอรอเอ็ง ผู้ต้องหาในคดี
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้คำตัดสินศาลชั้นต้น คดีผู้ต้องหาค้ายาเสพติดนำยาบ้า 2 แสนเม็ดจาก จ.เชียงราย มาจำหน่ายที่ จ.นราธิวาส จากประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนเจ้าของเงิน 30 ล้านซุกท่อพีวีซี จากโทษประหารชีวิต พลิกเป็นยกฟ้อง ชี้หลักฐานอ่อนไม่พอที่จะรับฟังได้

วันนี้ (1 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำที่ ย.3866/2548 ที่อัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นายชัยณรงค์ แก้วประสิทธิ์, นายสุทรรศน์ อาแซ, นายทรงศักดิ์ น้อยสร้าง และนายกิตติศักดิ์ ดอรอเอ็ง ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเจ้าของเงินจำนวน 30 ล้านบาทที่ซุกซ่อนในท่อพีวีซีที่เคยเป็นข่าวครึกโครมมาก่อน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน ร่วมกันสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่าง ส.ค.48 - 13 ก.ย. 48 จำเลยทั้งสี่สมคบกันเพื่อค้ายาเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ยาบ้า) จำนวน 198,000 เม็ด โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้นำเงินให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ติดต่อจำเลยที่ 1 และ 2 ให้ไปซื้อยาบ้าที่จังหวัดเชียงรายในราคา 4 ล้านบาท เพื่อนำมาให้จำเลยที่ 4 ที่จังหวัดนราธิวาส โดยจำเลยที่ 3มีวิทยุสื่อสารไว้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดชีวิต ขณะที่จำเลยที่ 2, 3 และ 4 ลงโทษประหารชีวิต และให้ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 4,000 บาท ฐานมีวิทยุสื่อสารไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ สำหรับการอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์นัดนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมฟังเนื่องจากถูกนำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำจังหวัดสงขลา

ศาลอุทธรณ์ประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมเบิกความเป็นพยานว่าหลังสายลับมีรายงานว่าจะมีการขนยาเสพติดจากทางภาคเหนือลงไปยังภาคใต้ จึงได้ตั้งด่านตรวจค้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อพบรถกระบะต้องสงสัยตามที่ได้รายงานมาจึงเข้าตรวจค้น พบจำเลยที่ 1 เป็นคนขับ และยาบ้าจำนวน 198,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในช่องลำโพง ระหว่างนั้นมีโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 โทรศัพท์เข้ามือถือจำเลยที่ 1 เพื่อแจ้งว่ามีด่านเจ้าหน้าที่สกัดอยู่ ซึ่งขณะนั้นทราบว่าจำเลยที่ 2 กำลังขับรถกลับไปยังเส้นทางจังหวัดลำปาง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงประสานกำลังกันเข้าจับกุมจำเลยที่ 2 ไว้ได้ ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่าได้รับการว่าจ้างจากจำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของโรงน้ำแข็งสุไหงปาดี เป็นนายทุนให้เงินไปซื้อยาเสพติดดังกล่าว เห็นว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์ว่าถูกซ้อมให้รับสารภาพ แต่เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภเป็นประโยชน์ เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยที่ 3 และ 4 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ให้การซัดทอดจำเลยที่ 3 และ 4 นั้นต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีหลักฐานโทรศัพท์มือถือการติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 2 และ 3 นั้น แต่หลักฐานดังกล่าวยังไม่พอจะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ประกอบกับจำเลยที่ 3 และ 4 ให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ต้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 และ 4 กระทำผิดตามฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อหน่าย ลงโทษประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต และให้ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 4,000 บาท ฐานมีวิทยุสื่อสารในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และในยกฟ้องจำเลยที่ 3 และ 4 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดประเภทที่ 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขณะที่คำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลไม่ได้อ่านถึงแต่อย่างใด เนื่องจากต้องให้จำเลยที่ 1 ที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำจังหวัดสงขลาฟังภายหลัง
นายกิตติศักดิ์ ดอรอเอ็ง(คนขวาสุด)ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเจ้าของเงินจำนวน 30 ล้านบาทที่ซุกซ่อนในท่อพีวีซี ที่เคยเป็นข่าวครึกโครมมาก่อน
เงิน 30 ล้านที่ซุกในท่อพีวีซี ที่เป็นข่าวดัง

กำลังโหลดความคิดเห็น