xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยึดคดียุบทิ้ง ทรท.! ยกฟ้อง “หมอมิ้ง” กล่าวหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” หมิ่นจ้างพรรคเล็ก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พิพากษายกฟ้อง “ อภิสิทธิ์–เทพเทือก–องอาจ ” ไม่ผิดคดีหมิ่น “หมอมิ้ง” แถลงข่าวแฉทุจริตเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 จ้างพรรคเล็ก ลงแข่ง ทรท. ศาลชี้ แสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อปกป้องการปกครองประชาธิปไตยของชาติ ได้รับความคุ้มครองตาม ป.อาญา หลังข้อเท็จจริง ชัด ทรท. ถูกยุบตามคำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญ “ หมอมิ้ง” รอตัดสินใจจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่



วันนี้ ( 11 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พรรคประชาธิปัตย์ , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ , นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะเลขาธิการพรรค และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตโฆษกกพรรค เป็นจำเลยที่ 1 – 4 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา


คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า ขณะฟ้องโจทก์เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยในตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ส่วนจำเลยที่เป็นพรรคการเมืองนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าพรรค จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในตำแหน่งเลขาธิการพรรค จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการบริหารพรรคและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 3 และ 4 จัดแถลงข่าว ณ ที่ทำการจำเลยที่ 1 ต่อสื่อมวลชน ทำนองว่า ตรวจพบการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 โดยระบอบทักษิณที่กำลังหยั่งรากลึกทำการแทรกซึมองค์กรอิสระ โดยตรวจพบว่ามีกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยอย่างน้อย 3 คน คือ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และโจทก์ เป็นตัวการบังคับข่มขู่จ่ายเงินตั้งแต่ราคา 100,000 – 5,000,000 ล้านบาท จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตการเลือกตั้งที่พรรคไทยรักไทยไม่ได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งบางคน เจาะระบบคอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานปลอม ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง

ศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงประทับรับฟ้อง จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ

ขณะที่โจทก์นำสืบว่า หลังประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาวันที่ 24 ก.พ.49 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 2 เม.ย.49 โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค.49 จำเลยแถลงข่าวที่ทำการพรรคจำเลยที่ 1 ซึ่งถือได้ว่ากิจกรรมใดที่เกิดขึ้นที่ทำการพรรคย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 -2 มีส่วนรู้เห็นและต้องร่วมรับผิดชอบด้วย การที่จำเลยที่ 3 แถลงข่าวตามฟ้องนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งความจริงแล้วโจทก์ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ที่จำเลยแถลงข่าวเป็นข้อกล่าวหาร้ายแรงว่าโจทก์มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย

จำเลยทั้งสี่ ให้การไปทางเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เม.ย.49 จึงมีแต่เพียงพรรคไทยรักไทยที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงพรรคเดียว ต่อมาจำเลยที่ 3 รับทราบข้อมูลจากนายชวการ โตสวัสดิ์ ที่พล.อ.ธรรมรักษ์ ให้ช่วยจัดหาพรรคการเมืองขนาดเล็กส่งผู้สมัครเลือกตั้ง โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมพรรคก่อนการแถลงข่าว ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ได้อยู่ที่ทำการขณะแถลงข่าว และจำเลยที่ 4 แม้จะนั่งอยู่ด้วยขณะแถลงข่าว แต่จำเลยที่ 4 ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการแถลงข่าวประเด็นนี้

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนการแถลงข่าวจำเลยได้ทราบข้อมูลจากนายชวการ คนสนิทของ พล.อ.ธรรมรักษ์ เกี่ยวกับการจัดหาพรรคเล็กลงสมัครและการแก้ไขรายชื่อประวัติในทะเบียน กกต. มี พล.อ.ธรรมรักษ์ รองหัวหน้าพรรค นายพงษ์ศักดิ์ และโจทก์ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการพรรค รวมทั้งนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ร่วมกันกระทำการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งในการให้ข้อมูล นายชวการ ก็ยินยอมให้จำเลยที่ 3 บันทึกภายและเสียงไว้ นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขรายชื่อสมาชิกในทะเบียนพรรค แต่นายบุญทวี ไม่ได้ให้หลักฐานไว้เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อผู้อื่น


นอกจากนี้หลังการแถลงข่าวแล้วจำเลยที่ 3 ยังได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อ กกต. กระทั่งอัยการสูงสุด เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลที่จำเลยที่ 3 แถลงข่าวและให้การกับ กกต. ซึ่งแม้ว่าคณะอนุสืบสวนสอบสวนของ กกต.จะไม่มีความเห็นเกี่ยวกับความผิดของโจทก์อย่างชัดเจน แต่รับฟังได้ว่าข้อมูลที่จำเลยที่ 3 นำมาแถลงข่าวเป็นเรื่องและจำเลยที่ 3 แถลงข่าวตามหลักฐานที่ได้รวบรวมมาโดยที่เชื่ออย่างสุจริตว่า น่าจะมีการกระทำทุจริตเลือกตั้ง การแถลงข่าวของโจทก์มีเจตนาเพื่อปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งรัฐธรรม 2540 ม. 65 (ฉบับขณะเกิดเหตุ ) และ ปี 2550 ฉบับปัจจุบัน ม.69 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญ จึงย่อมมีความชอบธรรมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนในฐานะนักการเมือง และแจ้งข้อมูลประชาชนช่วยกันจับตามอง ซึ่งในการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทย ประกาศว่าเป็นพรรคที่มีคนดี ความซื่อสัตย์สุจริต ไว้วางใจได้ น่าเชื่อถือ แต่พฤติการณ์ของโจทก์ กลับแสดงให้เห็นว่า พรรคไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต จากการที่ทุจริตเลือกตั้ง

เมื่อการแถลงข่าวของจำเลยที่ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริตและชอบธรรม ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 (ที่บัญญัติว่า ข้อเท็จจริงใดถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด...) และมาตรา 329 (1)(3) (ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรม (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ) ดังนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดแล้วดังนั้น จำเลยที่ 1, 2 และ 4 จึงไม่มีความผิด

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกพันกรณีนี้ ตาม รธน.ปี 2549 ฉบับชั่วคราว เพราะไม่มีบทบัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับองค์กรของรัฐนั้น แต่ใน รธน.ปี 2549 ม.38 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดมาบังคับก็ให้ตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ซึ่งตามรัฐธรรมปี 2550 ม.216 วรรคห้า บัญญัติให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันต่อรัฐสภา ครม. องค์กรของรัฐและศาล ดังนั้นจึงถือว่าคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย มีผลผูกพันกับคดีนี้ โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานมานำสืบให้ชัดเจนในชั้นพิจารณาคดี จึง พิพากษายกฟ้อง

ภายหลัง นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า คำพิพากษายกฟ้องถือว่าสิ้นสุดในชั้นนี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่ตามกฎหมายยังสามารถยื่นอุทธรณ์ โดยตนยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์ หรือไม่ จึงขอสงวนสิทธิ์การตัดสินใจเรื่องนี้ไว้ก่อน

นพ.พรหมินทร์ ยังฝากไปถึงรัฐบาลให้เร่งยุติปัญหาความขัดแย้งภายใน โดยเฉพาะเรื่องรถเมล์เอ็นจีวี และโครงการประกันราคาข้าว เพราะขณะนี้ปัญหาของประชาชนยังไม่ได้รับความสนใจ พร้อมระบุว่าปัญหาสำคัญประเทศไทยเวลานี้ มี 3 เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข 1.พืชผลเกษตรกร 2.การขาดความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ต่อการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และ 3.การก่อเหตุวุ่นวายในภาคใต้ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษา นายอภิสิทธิ์ , นายสุเทพ , นายองอาจ และ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้ลงลิฟท์มาที่ชั้น 2 เพื่อเดินทางกลับ โดยนายอภิสิทธิ์ , สุเทพ , องอาจ พูดคุยพร้อมเสียงหัวเราะอย่างครึกครื้น แต่ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ศาล แจ้งให้ทราบว่า มีกลุ่มเสื้อแดงที่รอให้กำลังใจ 3 แกนนำ นปช. ที่มารายงานตัว รออยู่บันไดด้านหน้าอาคารศาลจำนวนมาก จึงได้พากลุ่มนายอภิสิทธิ์ ออกประตูด้านข้างอาคาร เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ








กำลังโหลดความคิดเห็น