ศาลอนุญาต ขยายเวลาควบคุมตัว “วีระ-ณัฐวุฒิ-เหวง” คดีปลุกระดมมวลชน ให้ละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ป่วนเผาเมือง ไปอีก 7 วัน และยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้ไปก่อเหตุร้ายแรง ต้องกลับไปนอนที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต่อ ไร้เงาคนเสื้อแดงให้กำลังใจ
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ อายุ 61 ปี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 34 ปี และ นายแพทย์เหวง โตจิราการ อายุ 58 ปี แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต้องหาที่ 1-3 คดีปลุกระดมมวลชนโดยวิธีการใด เพื่อให้ละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายขึ้นในเมืองก่อความไม่สงบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ มาตรา 215 ซึ่งศาลอนุญาตให้ควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.นั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อป้องกันมิให้บุคคลผู้ถูกจับ และควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสาม กระทำการ หรือร่วมกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง และ/หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรงตามความในมาตรา 11(1) มาจนจะครบ 7 วัน ในวันที่ 22 เม.ย.แต่จากการสืบสวนหาข่าว พบว่า แกนนำ นปช.บางส่วน ยังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และนายจักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำ นปช.ซึ่งยังไม่ได้ถูกจับกุม ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนทำนองว่า ตอนนี้ผู้คนกำลังหงุดหงิดมาก และพร้อมต่อสู้ เราคิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกเยอะ และการต่อสู้ครั้งนี้ยังไม่จบอย่างแน่นอน เราวางแผนว่า จะเคลื่อนไหวใต้ดินนานตราบเท่าที่ทำได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำปราศรัยของนายวีระ ขณะสั่งกับผู้ชุมนุมว่า ให้สลายตัวไปก่อนแล้วจะกลับมาต่อสู้กันใหม่ ด้วยความจำเป็นดังกล่าว จึงขอศาลอนุญาตขยายเวลาควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสาม ต่อไปอีกมีกำหนด 7 วันตังแต่วันที่ 22-29 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ เวลา 13.30 น.ศาลได้เตรียมสอบถามแกนนำ นปช.ทั้งสาม ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก.ตชด.) คลอง 5 จ.ปทุมธานี ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่เนื่องจากระบบสัญญาณขัดข้อง จึงต้องนำตัวแกนนำ นปช.เดินทางโดยรถยนต์สายตรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (191) จำนวน 6 คัน เดินทางมาศาล พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยนายจาก สน.ใกล้เคียงมาควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวด โดยไม่ปรากฏกลุ่มบุคคลเสื้อแดงเดินทางมาศาล มีเพียงภรรยา และญาติของแกนนำ นปช.ทั้งสามเดินทางมาให้กำลังใจ
ต่อมาที่ห้องพิจารณาคดี 801 เวลา 15.00 น.ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์โดยอ่านและอธิบายคำร้องขอขยายเวลาควบคุมตัวของพนักงานสอบสวน พร้อมทั้งให้แกนนำ นปช.ทั้งสามอ่านคำร้องก่อนสอบถาม ซึ่งแกนนำ นปช.ทั้งสาม แถลงขอคัดค้านโดยอ้างทำนองเดียวกันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในวันที่ 12 เม.ย.แต่ไม่ดำเนินการผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน แต่อาศัยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งความเห็นดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพวกตนยืนยันให้การชุมนุมโดยสงบ สันติ อหิงสา ไม่ให้ใช้อาวุธ ต่อเจ้าหน้าที่ และยังมีบุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซงการชุมนุม โดยพวกตนสั่งให้ให้มีการสลายการชุมนุม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม โดยขอใช้อิสรภาพเพื่อปกป้องผู้ชุมนุม แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการปกป้องอิสรภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ฉุกเฉินได้ผ่านพ้นไปแล้วด้วย
ศาลพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว อ้างว่า ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวน และศาลยังมิได้มีคำสั่งว่า การควบคุมตัวทั้งสามไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยังฟังไม่ได้ว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ยังปรากฏด้วยว่า ทั้งสามเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดชุมนุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก และมีบุคคลภายนอกแทรกแซง แต่ขณะนี้ยังมิได้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ทั้งสามกระทำการใดๆ อันอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นอีก และเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง ตามความในมาตรา 11(1) แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีจึงมีความจำเป็นต้องควบคุมตัวทั้งสามไว้ เอาประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 7 วัน จนถึงวันที่ 29 เม.ย.ตามคำร้องขอ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำตัวแกนนำ นปช.ทั้งสามขึ้นรถยนต์กลับไปควบคุมไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่ห้องพิจารณาคดี 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลไต่สวนคำร้องที่ นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช.ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ ผู้ต้องหาที่ 1-3 คดีปลุกระดมมวลชนโดยวีธีการใด เพื่อให้ละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 215 ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เนื่องจากถูกคุมขังโดยมิชอบ เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 เม.ย ที่ผ่านมา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และไม่ได้ดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ภายใน 3 วันตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 5
โดย นายคารม เบิกความสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย.นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าประชุมที่กระทรวงมหาดไทย และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพฯและปริมณฑล ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่งตั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งการตามประกาศ แม้ตามกฎหมายให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังกล่าว แต่กฎหมายก็กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 3 วัน ตามที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.5 ซึ่งเมื่อ ครม.เห็นชอบการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว ต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม.รับทราบต่อไป
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.มีการประชุม ครม.วาระพิเศษ ก็ไม่ได้มีการนำเรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าสู่การประชุมเพื่อขอความเห็นชอบ ครม.โดยจะเห็นได้จากการที่โฆษกรัฐบาลไม่ได้แถลงข่าวให้ทราบและไม่มีบันทึกไว้ในรายงานการประชุม ครม.จึงเป็นผลให้ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.แล้ว การที่พนักงานสอบสวนควบคุมตัว ทั้งสามแกนนำ นปช. มาขออำนาจศาลฝากขังในวันที่ 16 เม.ย.ซึ่งศาลอาญาไม่รับคำร้องฝากขัง โดยระบุว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัว ผู้ต้องหาทั้งสาม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งละ 7 วันแล้ว ดังนั้น เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังกล่าว สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.จึงขอให้ศาลสั่งให้พนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสามทันที
ต่อมา นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าเบิกความยืนยันว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำได้ 2 วิธี คือ ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเพียงลำพัง และ ครม.ให้ความเห็นชอบ โดยส่วนตัวแม้จะไม่ได้ร่วมประชุม ครม.ที่กระทรวงมหาดไทย วันที่ 12 เม.ย. ที่นายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีเรียกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 6 คน เข้าประชุมก่อนออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือได้ว่านายกรัฐมนตรี ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยความเห็นชอบของ ครม.แล้ว อีกทั้งการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 เม.ย.นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าสู่ที่ประชุม ครม.รับทราบและให้ความเห็นชอบแล้ว
ภายหลังศาลไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้วจึงนัดฟังคำสั่งในวันที่ 23 เม.ย.เวลา 13.30 น.