xs
xsm
sm
md
lg

3 โจรแดงนอนคุกต่อ! ศาลไม่รับคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นพ.เหวง โตจิราการ ผู้ต้องหา
ตำรวจหิ้ว “ วีระ – ณัฐวุฒิ – หมอเหวง” ฝากขัง มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวาย – กระทำการใดเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย เสื้อแดงแต่งทนายยื่นคำร้องคัดค้าน อ้างการตำรวจจับกุมไม่ชอบ พร้อมยื่นหลักทรัพย์ 1.5 ล้านขอประกันตัว สุดท้าย ศาลยกคำร้อง ชี้ ตำรวจใช้อำนาจจับกุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ 7 วัน “นวยนิ่ม” ระบุ หลัง 7 วันต้องขอศาลคุมตัวต่อ ด้าน “ ก่อแก้ว ” พร้อมนำมวลชน บุก ตชด.ภาค 1 เยี่ยม 3 แกนนำ พรุ่งนี้(17 เม.ย.) ยันเสื้อแดงยังเคลื่อนไหว ขู่ รัฐบาลยัดเยียดข้อหาไม่เป็นธรรมพร้อมตอบโต้แน่นอน

วันนี้ ( 16 เม.ย.) เมื่อเวลา 07.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำโดย พล.ต.ต.เจตต์ มงคลหัตถี รอง ผบช.น. พล.ต.ต.สาโรจน์ พรหมเจริญ ผบก.น.2 พล.ต.ต.ฉัตรวิทย์ รามสูตร ผบก.ตปพ. พร้อม กำลัง ควบคุม ตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ. เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต้องหาที่ 1-3 คดีก่อความไม่สงบ เดินทางมายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 – 27 เม.ย.52 เนื่องจากต้องรอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากร และอื่นๆ หลังจากที่พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสาม ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสาม เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนหลังจากการสลายการชุมนุม ทั้งนี้ตามคำร้องพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวด้วย อย่างไรก็ตามทนายความของผู้ต้องหาทั้งสาม ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง อ้างว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไมมีอำนาจควบคุมตัว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนด้วย ซึ่งศาลอาญา ได้เปิดห้องพิจารณาคดี 906 ไต่สวนผู้ต้องหาทั้งสาม โดยห้ามมิให้บุคคลอื่น และสื่อมวลชน เข้าร่วมฟังการไต่สวนแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาล

สำหรับการรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลอาญา มีกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.น.1 , บก.น.2 และ บก.ตปพ..หรือ191 ประมาณ 3 กองร้อย และกองกำลังจากกองพลทหารราบที่11 รอ. กองพล ม.2 จำนวน 3 กองร้อย ประมาณ 450 นาย ในชุดพรางพร้อมรถหุ้มเกราะ รถยีเอ็มซี วางกำลังรอบบริเวณอาคารศาลอาญา และบริเวณใกล้เคียง ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันนี้ศาลอาญา ยังได้นำป้ายเตือน มาวางไว้ที่หน้าศาลด้วย ซึ่งเป็นข้อกำหนดศาลอาญา ห้ามมิให้บุคคลใดประพฤติตนไม่เรียบร้อยหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญหรือส่งเสริม ยั่วยุในบริเวณศาล หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีโทษจำคุกทันที 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 500 บาท ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 33 ขณะที่ภายในอาคารศาลอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้คุมเข้มทั่วบริเวณแทบทุกชั้นในอาคารศาลอาญา และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าบริเวณศาล ส่วนกลุ่มเสื้อแดงประมาณ 200 คน ได้ทยอยเดินทางมาให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้งสาม โดยกลุ่มผู้สนับสนุนดังกล่าวได้แต่งกายสวมเสื้อสีอื่น ไม่ใช่เสื้อสีแดง เดินทางมาศาล ขณะที่กลุ่มดังกล่าวได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกำลังทหารที่มาพร้อมอาวุธปืนประจำกาย มาเฝ้ารักษาความสงบในบริเวณศาล โดยเห็นว่าศาล น่าจะเป็นสถานที่ปลอดอาวุธ และการปิดสถานีโทรทัศน์ ดีสเตชั่น ทำให้ไม่ทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยระหว่างที่รอการฝากขัง นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย , นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย , นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาให้กำลังใจด้วย

คำร้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งสาม ระบุพฤติการณ์สรุปว่า สืบเนื่องจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ได้ชุมชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ , พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ลาออกจากตำแหน่ง อันมิใช่เป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ . หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยวันที่ 9 เม.ย. 52 เวลา12.30น. กลุ่มวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. นำรถแท็กซี่มาปิดสถานที่สำคัญอาทิถนนรอบ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนสุขุมวิท แยกสุขุมวิท 71 โดยกลุ่ม นปช.บางส่วน ไปชุมนุมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปิดเส้นทางจราจร โดยชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เมือมีการปิดเส้นทางจราจรดังกล่าวแล้ว ผู้ต้องหาทั้งสามมีส่วนร่วมในการชุมนุมสั่งการปิดเส้นทางจราจรดังกล่าว คือ

โดยนายวีระผู้ต้องหาที่1 มีพฤติการณ์กล่าวคือ โดยในวันที่ 9 เม.ย.52 เวลา21.00น. ในระหว่างที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ปราศรัยผ่านจอภาพระบบวิดีโอลิงก์ ผ่านภาพและเสียง ซึ่งติดตั้งอยู่ทำเนียบรัฐบาล นายวีระ อยู่บนเวทีปราศรัย บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ์ หน้าทำเนียบรัฐบาล ได้พูดปลุกระดม ให้ผู้ชุมนุมล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยขอให้ไปสมทบกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบริเวณเพื่อปิดเส้นทางให้มากขึ้น โดยมีผู้ต้องหาอื่น ๆ ร่วมกันกับนายวีระ นำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบบริเวณถนนหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร จนรัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุการณ์ กระทั่งวันที่ 14 เม.ย.เวลา 15.30น. พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้ทำตามคำสั่ง บช.น.ที่ 115/52 ลงวันที่ 26 มี.ค.52 และคำสั่งที่ 169/52 ลงวันที่10 เม.ย.52 ได้ร่วมกันแจ้งข้อหาและจับกุมตัวนายวีระ ผู้ต้องหาที่ 1 ตามหมายจับศาลอาญาที่ 986/52 ลงวันที่14 เม.ย.52 นายณัฐวุฒิ ผู้ต้องหาที่ 2 ตามหมายจับศาลอาญาที่ 988/52 ลงวันที่14 เม.ย.52 และ นพ.เหวง ผู้ต้องหาที่ 3 ตามหมายจับศาลอาญาที่ 991/52 ลงวันที่ 14 เม.ย.52 โดยกล่าวหาว่า กระทำให้ปรากฏด้วยวาจา หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ และกระทำเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามกฎหมายอาญามาตรา 215 ชั้นสอบสวนผู้ต้องทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ขณะที่ นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว พร้อมหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาซอยอารีย์สัมพันธ์ รวม 1.5 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนคนละ 5 แสนบาท รวมทั้งยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังโดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแกนนำ นปช.โดยมิชอบ

ต่อมา เมื่อเวลา 13.00 น.ศาลได้เปิดห้องพิจารณา 906 ทำการไต่สวนคำร้องของผู้ต้องหา และคำร้องฝากขัง ก่อนมีคำสั่งว่า การใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสาม เป็นการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 12 ซึ่งให้อำนาจ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัว ได้ไม่เกิน 7 วัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ซึ่งกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีกครั้งละ 7 วัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า 30 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว หากจะต้องควบคุมตัวต่อไป ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งหมด

พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบ.ชน. กล่าวว่า วันนี้ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนมายื่นคำร้องฝากขังในคดีอาญา แต่ปรากฏว่า ศาลพิจารณาคำร้องขอหมายจับ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 11 อนุ 1 และมาตรา 12 ระบุว่าสามารถนำตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้ 7 วันไว้เพื่อสอบสวน ซักถาม และระงับเหตุ เมื่อครบ 7 วัน หากมีความจำเป็นก็มาขอศาลฝากขังอีก ไม่เกิน 30 วัน ศาลจึงเห็นว่าหากให้ขังในคดีอาญาและให้ขัง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะซ้ำซ้อนกัน จึงให้ขัง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนเป็นเวลา 7 วัน อย่างไรก็ดีสำหรับสถานที่ควบคุมตัวนั้น ก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย ซึ่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ให้ควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจ เรือนจำ สถานที่คุมขัง แต่จะต้องมีสถานที่ต่างหาก ซึ่งเราเกรงว่าจะไปก่อเหตุร้ายตามสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคตดังนั้นจึงจะนำผู้ต้องหาไปควบคุมที่ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ภาค1 คลอง 5 ปทุมธานี

ด้านนายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. เปิดเผยว่า ศาลอาญาไม่รับพิจารณาคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน , คำร้องคัดค้านฝากขังของผู้ต้องหาทั้งสาม และคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากศาลเห็นว่า การใช้อำนาจหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมตัว 7 วัน

ขณะที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง หนึ่งในแกนนำ นปช. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการต่อสู้คดี ต้องต่อสู้ไปตามกฎหมาย ซึ่งมีทนายความดูแลอยู่ โดยคนเสื้อแดงจะยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆทั้งสิ้น เราจะรอดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการกับแกนนำเสื้อแดงด้วยความยุติธรรมหรือไม่ หากเป็นธรรม เสมอภาคกันเราก็จะไม่ดำเนินการใดๆต่อ แต่ถ้าไม่เป็นธรรม หรือพยายามยัดเยียดข้อกล่าวหาให้แกนนำก็คงต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

“ ตอนนี้ต้องดูว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อใด ซื่งผมเชื่อว่าหากไม่กลั่นแกล้งกันนะ 1-2 วันก็คงยกเลิกแล้ว เพราะมันไม่เป็นผลดีกับภาคเศรษฐกิจ ” นายก่อแก้วกล่าวและว่า ในวันพรุ่งนี้จะพากลุ่มคนเสื้อแดงไปยัง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ด้วยเพื่อขอเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาทั้งสาม

เมื่อถามว่า นายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช.ได้ติดต่อมาให้กำลังใจผู้ชุมนุมบ้างหรือไม่ นายก่อแก้ว ปฏิเสธว่า ไม่ได้ติดต่อมา เราไม่ได้คุยกันเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่นายก่อแก้วให้สัมภาษณ์เสร็จแล้ว ได้ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุม และนัดแนะกันไปที่คลอง 5 ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีผู้ชุมนุมปรบมือ มอบดอกกุหลาบ ให้กำลังใจตลอดเวลา เมื่อชี้แจงเสร็จเรียบร้อยแล้วนายก่อแก้วก็เดินไปที่ถนนหน้าบันไดศาลแล้วชู 2 นิ้วขึ้นพร้อมกับตะโกนว่า “พวกเราสู้ไม่สู้” กลุ่มผู้ชุมนุมก็ตะโกนกลับเป็นเสียงเดียวกันว่า “สู้ๆๆ” แล้วก็ปรบมือเสียงดังกึกก้องลั่นศาล

ขณะที่เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่า ตำรวจต้องพาแกนนำไปควบคุมตัวต่อที่คลอง 5 ก็ เกิดอาการโมโห โดย หญิงวัยกลางคนได้ตะโกนว่า “อย่างนี้มันไม่ยุติธรรม มันไม่มีความยุติธรรมเหลือแล้ว” ส่วนคนอื่นๆก็พูดกันว่า “ ถ้าทำกันอย่างนี้ มันก็ต้องเล่นใต้ดิน ตอนนี้ทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน แต่เล่นมันแน่” จากนั้นคนอื่นๆ ก็วิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นาๆ จนทหารที่มาดูแลความสงบเรียบร้อย ได้พยายามเข้าไปบอกว่าให้อยู่ในความสงบ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ ตะโกนโห่ไล่ ทหารเสียงดัง โดยฝั่งตรงข้ามศาล ยังได้มีกลุ่มแท็กซี่ประมาณ 10 คันมาจอดรอเฝ้าติดตามสถานการณ์ ขณะที่ภรรยานายณัฐวุฒิ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้นั่งรถตู้เดินทางกลับหลังจากที่นายณัฐวุฒิถูกนำตัวไปยัง ตชด. ซึ่งผู้ชุมนุมก็ปรบมือให้กำลังใจกันเกรียวกราว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้งสามนั้น หลังจากรับทราบคำสั่งศาลแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสามลงมายังห้องคุมขังใต้ถุนศาล ก่อนที่จะแยกตัวผู้ต้องหาทั้งสามขึ้นรถยนต์ตำรวจนครบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายนั่งประกบผู้ต้องหาเพื่อนำตัวไปควบคุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จ.ปทุมธานี

ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากศาลอาญา รัชดาภิเษก มีคำสั่งให้ผลัดฟ้องฝากขัง 3 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ทางด้าน พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.พร้อมกำลังตำรวจได้ควบคุมตัวทั้งหมดมาขึ้นเฮลิปคอปเตอร์ซึ่งจอดรออยู่ที่สนามฟุตบอลด้านหลังกองบังคับการปราบปราม เพื่อไปควบคุมตัวไว้ที่ ตชด.ภาค 1 คลอง 5 จ.ปทุมธานี โดยมีกำลังตำรวจคุ้มกันอย่างแน่นหนา

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการควบคุมตัวมาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ครั้งนี้ เนื่องจากตำรวจต้องการหลีกเลี่ยงกลุ่มผู้ติดตามที่อาจจะตามมากดดันการทำงานของตำรวจ โดยการควบคุมตัวทั้ง 3 เป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นเวลา 7 วัน และหากพนักงานสอบสวนจะพิจารณาดำเนินคดีในฐานความผิดอื่นเพิ่มเติมก็จะต้องมาขออำนาจศาลฝากขังอีกครั้ง
นายวีระ มุสิกพงศ์
นายณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ
















กำลังโหลดความคิดเห็น