xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจแต่งเครื่องแบบ รับแจกเสื้อแดง เหมาะไม่เหมาะ ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ภาพตำรวจที่เสร็จสิ้นจากภารกิจดูแลความเรียบร้อยการเข้าชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดง มายืนเข้าคิว ต่อแถวรับแจกเสื้อแดง ทั้งที่ยังคงสวมเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อันทรงเกียรติ คำถามที่อยากถามคือ เหมาะสมหรือไม่ ?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาพที่ปรากฏออกมา เพราะเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล จำนวนหนึ่งใส่เสื้อแดงและถือตีนตบ ในวันที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 176

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. สมัยนั้น ได้บอกว่าจะเรียกผู้ใต้บังคับบัญชามามอบนโยบาย และเน้นย้ำไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ รวมถึงจะตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น แต่จนถึงขณะนี้เรื่องการสอบสวนผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมเสื้อแดงก็ยังไม่มีความคืบหน้า แต่เรื่องกลับเงียบและนิ่งเฉย

ไม่แปลกที่ ตำรวจส่วนหนึ่งจะมีใจที่ยอมศิโรราบ ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ นช.ทักษิณ นักโทษ หนีคดี หรือ นายทักษิณ ราษฎรเต็มขั้น เพราะเมื่อครั้งที่เขายังอยู่ในอำนาจ มากบารมี เขาใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกง ชักจูงใจให้เกิดความน่าเชื่อถือ จนหลาย ๆ ต่อหลายคนยอมที่จะสยบ หรือแม้แต่ตำรวจบางนายยอม ศิโรราบถึงขนาด ก้มกราบลงมาต่ำกว่าใต้เข็มขัดเสียอีก

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือการที่ นายทักษิณ โฟนอินเข้ามาใส่ร้ายป้ายสี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ รัฐบุรุษ ว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และยังปลุกระดมให้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมขับไล่ให้ลาออกจากตำแหน่ง ซ้ำยังเรียกร้องให้มีการยกเลิกสถาบันองคมตรี

นี่หรือคือสิ่งที่นายทักษิณ ป่าวประกาศ ว่า จงรักภักดี แต่การกระทำของนายทักษิณ ช่างขัดแย้งในตัวของมันเองอย่างสิ้นเชิง เพราะสถาบันองคมนตรี คือสถาบันที่เปรียบเสมือนข้ารับใช้แทบเบื้องพระยุคลบาท ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ่งที่คนเสื้อแดงใช้เป็นข้ออ้างให้เลิกสถาบันองคมนตรี ก็เพียงมีความต้องการที่มีนัยแอบแฝงเท่านั้นเอง

แต่ ตำรวจที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่กลับแสดงออกในการเลือกข้างอย่างชัดเจน แม้จะยังอยู่ในเครื่องแบบอันทรงเกียรติ คงไม่ต้องบอกว่ามีความหมายว่าอย่างไร

คงไม่มีใครว่าหากการเข้าร่วมชุมนุมของคุณตำรวจทั้งหลาย จะอยู่นอกเหนือเวลาราชการ ทิ้งภาระหน้าที่ไว้ข้างหลัง เหลือเพียงสิทธิความเป็นประชาชนคนไทย เข้าร่วมชุมนุม แต่การที่ระหว่างอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ ซ้ำยังอยู่ในเครื่องแบบตำรวจ

แต่การที่พวกท่าน ๆ ทั้งหลายได้ชื่อว่าเป็นตำรวจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกท่าน ๆ ไม่อายบ้างหรือที่กลับไปเข้าข้าง ไปเชียร์ นักโทษชายทักษิณ ที่ไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม และอ้างเพียงว่าถูกใส่ร้าย กลั่นแกล้ง การที่พวกท่านทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง

อีกทั้งการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งนี้ของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นการชุมนุม เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจริง ๆ หรือเป็นเพียงการเรียกร้องเพื่ออ้างความชอบธรรมของใครคนหนึ่งเท่านั้น ลองคิดดู ว่าการกระทำแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่

เพราะนายทักษิณ นักโทษหนีคดี คนนั้นออกมาเรียกร้องเพื่อ ต้องการหย่าศึก ! ต้องการขออภัยโทษ ! ต้องการทวงบุญคุณ ! ต้องการเงินที่ถูกอายัดคืน ! และสุดท้ายต้องการกลับสู่อำนาจ ก็เท่านั้นเอง

เพราะทุกครั้งที่มีการพูด นายทักษิณ มักจะพูดเกี่ยวกับเรื่องเงินเท่านั้น ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นักธุรกิจ เมื่อกระทำการใด ๆ ที่ที่หวังคือกำไร ทุกอย่างที่ลงทุนไปเท่าไหร่ กำไรที่ได้กลับมาต้องได้มากว่าเป็นสิบเท่า ร้อยเท่า เม็ดเงินเพียงเล็ก ๆ ที่ถูกทุ่มลงมาเหมือนกับเป็นการโปรยเหยื่ออันโอชะให้กับเหล่า ฝูงแร้งฝูงกาไล่จิกกันแค่พออิ่มท้อง แต่สิ่งที่เจ้าตัวต้องการนั้นกลับมากมายกว่าที่ให้มายิ่งนัก

"จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัดเป่าความเดือดร้อนของประชาชน ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย" พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. ให้โอวาทไว้เมื่อครั้งที่ มารักษาการตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

หรือแม้แต่ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น. เคยมอบนโยบายไว้ เหมือนเป็นการทำสัญญาประชาคม ทำความเข้าใจในฐานะที่เป็นนักบริหาร เพื่อวางกลยุทธ์ในการบริหารงาน หัวใจการทำงานคือ การวิเคราะห์บุคคล รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง และอยากให้กู้ศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจกลับคืนมา

แต่สิ่งที่ตำรวจบางนายกำลังทำอยู่ในขณะนี้ เหมือนเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจลงอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่กำลังสนับสนุนอยู่ คงไม่ต่างอะไรกับการ "พายเรือให้โจรนั่ง" เท่านั้นเอง


ตร.ที่เข้าเวรรักษาการณ์เข้าคิวรับเสื้อแดงจากกลุ่มผู้ชุมนุม
ดู๋ดู่ดู...ตำรวจหางแดง

กำลังโหลดความคิดเห็น