xs
xsm
sm
md
lg

เกียรติประวัติ 5 นายตำรวจ อาจปิดฉากด้วยข้อหาเข่นฆ่าปชช.!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ายหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อหา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีรตรองนายกรัฐมนตรี ในความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังแจ้งข้อกล่าวหาความผิดทางวินัย กับพล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. และพล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผบ.ตร. ส่วนนายตำรวจอีก 3 นายได้แก่ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รองผบช.น. และพล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รองผบช.น.นั้น ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งทางวินัย และทางอาญา ฐานกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

ถือเป็น"แจ๊ตพอต"แก่นายตำรวจทั้ง 5 นาย ที่ถูกป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยนายตำรวจทั้ง 5 นายนั้น อีกไม่นานก็จะเกษียณอายุราชการกันแล้ว ซึ่งยังไม่รู้ว่า ข้อกล่าวหาของป.ป.ช. จะกลายเป็น"ม่าน" ปิดฉากชีวิตข้าราชการ ที่ต่างได้พากันวิริยะอุสาหะมาเมื่อครั้งยังรุ่นกระทงหรือไม่ เราขอย้อนกลับไปดูเกียรติประวัติของนายตำรวจทั้ง 5 นายดังกล่าวกันก่อน

พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ เป็นน้องชายสายโลหิตเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผบ.ทบ. เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2492 เป็นชาวบางกะปิ กรุงเทพฯ เข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 9 (ตท.9) นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 25 (นรต.25) เริ่มต้นชีวิตราชการด้วยการลงบรรจุที่กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (กก.สอ.ตชด.) โยกเป็นรองสารวัตรที่กองทะเบียน แล้วย้ายมาดูงานกำลังพลที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ก่อนขึ้นเป็นผู้กำกับการและรองผู้บังคับการที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง เป็นผู้บังคับการกองพลาธิการ เป็นผู้ช่วย ผบช.ก. เป็นรอง ผบช.ภ.3 แล้วเลื่อนยศเป็น พล.ต.ท.ในตำแหน่ง ผบช.ประจำ ตร.ก่อนเป็น ผบช.สันติบาล เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.ทำหน้าที่ที่ปรึกษา บก.สส. ต่อมาในปี 2548 ขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านบริหาร ก่อนสลับมาคุมงานด้านป้องกันปราบปรามเมื่อตุลาคม 2549 ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 ก.พ.2551 แทน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และ พล.ต.อ.พัชรวาท ถือเป็น ผบ.ตร.คนแรกที่ถูกโยกออกนอกหน่วยและได้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมอย่างรวดเร็ว

พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 25 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เริ่มรับราชการ "ร.ต.ต." สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ก่อนโยกมาทำงานด้านกำลังพล เป็นรองสารวัตรแผนกประวัติและจัดกำลังพล กองบังคับการอำนวยการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจนขึ้นเป็นสารวัตร เคยขึ้นเป็น รอง ผบก. ไปคุมงานอำนวยการใน บช.ภ.9 ก่อนติดยศ พล.ต.ต. เป็น ผู้บังคับการที่กองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง จากนั้นขยับเป็น ผู้ช่วย ผบช. ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แล้วโยกเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการ กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ก่อนกลับไปที่เดิม ขยับอีกทีเป็น รอง ผบช. สำนักงานแผนงานและงบประมาณ แล้วสไลด์มาเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ติดยศ พล.ต.ท. เป็น จเรตำรวจ ปี 2546 แล้วขึ้นเป็นเทียบเท่าผู้ช่วย ผบ.ตร.ในตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ9) ในปี 2548 สุดท้ายขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร. ฝ่ายกฎหมายและสอบสวน รับผิดชอบเรื่อยมากระทั่งในยุคเพื่อนร่วมรุ่นนั่งเป็น ผบ.ตร. จึงได้รับมอบหมายรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 อดีตผบช.น. เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2494 จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ "นรต.26" รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และจบปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต จาก ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2538 และนิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2543 ผ่านอบรมหลักสูตร ร.ร.ผบก.รุ่น 18 และ วปอ.รุ่น 48 เติบโตในเส้นทางสีกากีเริ่มตั้งแต่ปี 2516 เป็น ผบ.มว.ประจำ กก.สอ.ตชด.จากนั้น เติบโตผ่านตำแหน่งสำคัญในกองปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) อาทิ รอง สว.ผ.5 กก.5 ป. รอง สว.ผ.4 กก.2 ป. ผู้ช่วย นว.ผบก.ป. นว.ผบก.ป. สว.ผ.ธุรการ กก.นผ.บก.อก.บช.ก. สว.ผ.7 กก.8 ป. สว.ผ.8 กก.8 ป. รอง ผกก.1 ป. ผกก.1 ป. รอง ผบก.ป. รอง ผบก.อก.บช.ก. เป็นนายพล ติดยศ พล.ต.ต.ครั้งแรกเมื่อปี 2544 เป็น ผบก.อก.บช.ก.โยกเป็น ผบก.ทล.ปี 2546 จากนั้นขยับขึ้นเป็นรองผบช.ก.ในปี 2547 และโยกมาเป็นรอง ผบช.น.เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2551 ต่อมาได้รับการคาดหมายว่าจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบช.ก.ทว่าโค้งสุดท้าย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และทำเนียบรัฐบาล ซึ่งครั้งนั้นก็เกิดเหตุการณ์ทุบตีประชาชนจากฝีมือตำรวจ หลังจากที่เจ้าหน้าที่บังคับคดีเข้าไปปิดหมายศาล

ผลงานชิ้นโบแดงในครั้งนั้น ส่งผลให้ พล.ต.ท.สุชาติ ที่มีชื่อไปเป็น ผบช.ก.กลับมาดัน พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ขึ้นไปเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.และตัวเองขึ้นเถลิงเก้าอี้ ผบช.น.เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2549 หลังจากนั้นเพียง 6 วัน ก็เกิดเหตุการณ์ "7 ตุลาเลือด" ปัจจุบัน ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4

พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2492 สำเร็จโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.รุ่น 25) รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เริ่มรับราชการเมื่อ 1 เมษายน 2515 ประจำ กก.สอ.ฝน.ตชด. แล้วเป็น ผบ.มว.ประจำ กก.ตชด.เขต 3 ปี 2519 เข้ามานครบาล เป็น รอง สว.ผ.แผนและปฏิบัติ กก.นผ.บก.อก.บช.น. จากนั้นเติบโตผ่านทั้งงานบู๊และบุ๋น อาทิ สวป.สน.ชนะสงคราม สวส.สน.บางซื่อ สวญ.สน.ชนะสงคราม รอง ผกก.สส.บก.น.ใต้ รอง ผกก.น.2 และ ผกก.สน.ชนะสงคราม ผ่านเก้าอี้ รองผบก.จร. รองผบก.น.เหนือ รอง ผบก.น.1 และขึ้นนายพลครั้งแรก เป็น "ผบก.น.2" ปี 2545 แต่ปี 2546 ถูกโยกออกจากนครบาลไปเป็น ผบก.พน. ผบก.อธ. ผบก.ภ.จว.พิจิตร และ ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์ ในปี 2549 กระทั่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2551 กลับมานครบาลอีกครั้งในตำแหน่งรอง ผบช.น.

พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา เป็นบิดาของนายวศิน มีปรีชา หรือตูมตาม อดีตดาราเด็กชื่อดัง เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 27 (นรต.27 ) รุ่นน้องพ.ต.ท.ทักษิณ 1 ปี มีเพื่อนร่วมรุ่นที่เติบโตในชีวิตราชการตำรวจมากมาย อาทิ พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู พล.ต.ต.วิมล เปาอินทร์ ฯลฯ ชีวิตราชการ ส่วนใหญ่เติมโตในกองบัญชาการสอบสวนกลาง เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (ปัจจุบันบก.ปศท.) ขึ้นเป็นผู้ช่วยผบช.ก. รองผบช.ก. และรองผบช.น.

สุดท้าย แม้พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.อ.วิโรจน์ จะถูกข้อกล่าวหาเล่นงานแค่ทางวินัย และนายตำรวจอีก 3 นาย จะโดนเล่นงานทั้งทางวินัยและอาญา ซึ่งป.ป.ช.จะเปิดโอกาสให้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่สิ่งสำคัญ ที่จะกลายเป็นเครื่องลบเกียรติประวัติในความเป็นสุภาพบุรุษตำรวจนั้น คือ"ตราบาป" ที่ต้องเซ่นด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชน ที่ติดตัวพวกเขาไปตลอดชั่วนิจนิรันดร์
พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ
พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว
พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล
พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา
กำลังโหลดความคิดเห็น