ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” อีกคดี 20 ปี ปรับกว่า 3 พันล้าน แถมสั่งใช้หนี้แบงก์บีบีซีอีก 1.5 พันล้าน ฐานยักยอกทรัพย์ อนุมัติสินเชื่อลูกหนี้โดยฝ่าฝืนคำสั่ง ธปท. รวมโทษเก่า 6 สำนวนจำคุกทั้งสิ้น 90 ปี ปรับ 6.9 พันล้านบาท 472 ล้านดอลลาร์
วันนี้ (11 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ หรือคุณตั้ว อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพานิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ,นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี , นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารเงิน และวานิชกิจธนกิจ บีบีซี , บริษัทอเมริกัน สแตนดาร์ด แอ๊พเพรซิลวา จำกัด และนายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อเมริกันฯ เป็นจำเลยที่ 1- 5 ในความผิด ฐานยักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพพาฯชยการหรือบีบีซี. และความผิดตาม พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีอนุมัติสินเชื่ออันมีเจตนาทุจริต
คำพิพากษาใจความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2537 ถึง 4 มี.ค.2539 จำเลยร่วมกับนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาของจำเลยที่1ด้านการให้สินเชื่อ ร่วมกับพวกทุจริตกล่าวคือ จำเลยที่ 1 ร่วมกับ นายราเกซ อนุมัติสินเชื่อจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท ฟอร์ ฟิฟ ออเรจน์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาท โดยเอาโฉนดที่ดินจังหวัดสระแก้ว ที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ จำนวน 19 แปลง หรือ 462 ไร่ โดยจำเลยที่ 4 และ 5 ประเมินราคาสูงถึง 832 ล้าน ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินทั่วไปถึง 10 เท่า มีเจตนาที่จะให้บริษัทดังกล่าวใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ ทำให้ บีบีซี ได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยที่1 ได้อนุมัติปล่อยสินเชื่อดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีคำสั่งให้รายการปล่อยสินเชื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ และไม่ให้อนุมัติสินให้ให้แก่บริษัทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่มีผลประกอบรายได้ติดต่อกันเกิน 3 ปี ซึ่งกรณีที่อนุมัติสินเชื่อเกิน 30 ล้านบาท ต้องให้มีการผ่านมติกรรมการของ บีบีซี ก่อน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนทั้งที่ทราบคำสั่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติสินเชื่อโดยใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อหมายเลข 0109เจ ปล่อยเงินกู้ไป ทำให้ธนาคารเสียหายรวม 1,567,274,175 บาท
ศาลพิเคราะห์ว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นนายธนาคารซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ถือได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถในการประเมินทรัพย์สิน แต่กลับอนุมัติเงินกู้โดยใช้บัตรรายการดังกล่าวที่รับมาจากนายราเกซ ร่วมกันอนุมัติเงินไป1พันล้านบาท ไปโดยไม่ตรวจสอบความสามารถในการใช้เงิน ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.มีหนังสือแจ้งเตือนมาแล้ว โดยมีเจตนาทุจริต ทำให้เสียหายถึง 1,567,274,175 บาท จำเลยที่ 1จึงมีความผิด และจำเลยที่ 4 และ 5 ซึ่งเป็นผู้ประเมินราคาที่ดินเท็จจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่1
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 , 354 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลอดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307 , 311 , 313 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ลงโทษจำคุกตามมาตรา 313 อันเป็นบทหนักสุด ลงโทษจำคุกกระทงละ 10 ปี รวมจำคุก 130 ปี ปรับ 3,134,548,351.74 บาท แต่กฎหมายให้ลงโทษตามมาตรา 91 คงจำเลยที่ 1 ไว้ 20 ปี ปรับ 3,134,548,351.74 บาท และใช้เงินแก่ธนาคารบีบีซี 1,567,274,175 บาท ให้รวมโทษกับคดีที่ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาไปก่อนหน้านี้ ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 4 จำนวน 2,000 ล้านบาท จำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 10 ปี ปรับ 2,000 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ3 ศาลเห็นว่า บัตรรายการอนุมัติไม่ได้อยู่ในครอบครองในขณะเกิดเหตุ จึงไม่เป็นความผิด และโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และ 3 ได้รับประโยชน์ใดจากการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิพากษา คดียักยอกทรัพย์บีบีซีนี้เป็นสำนวนที่ 8 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาให้จำคุกนายเกริกเกียรติ รวม 3 สำนวนเป็นเวลา 30 ปี โดยให้ปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 3,208,331,600 บาท โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องนายเกริกเกียรติและนายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วย กก.ผู้จัดการใหญ่ 1คดีในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายเดิมที่บีบีซีเคยอนุมัติวงเงินไปแล้ว ที่ส่งผล ธ.บีบีซีได้รับความเสียหายเป็นกว่า 9,000 ล้านบาท และคดีที่ศาลอาญา มีคำพิพากษาให้จำคุกนายเกริกเกียรติอีก 4 สำนวน เป็นเวลา 80 ปี ปรับเป็นเงินจำนวน 472,122,946.02 เหรียญสหรัฐ และปรับ 4,291,792,538.02 บาท และให้คืนเงิน ธ.บีบีซี อีก จำนวน 767,378,376.04 บาท ซึ่งเมื่อรวมโทษจำคุกนายเกริกเกียรติทั้ง 7 สำนวน 2 ศาล รวมจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 130 ปี รวมปรับทั้งสิ้น 7,500,124,138.02 บาท ปรับเป็นเงินสกุลดอลล่าห์สหรัฐอีกจำนวน 472,122,946.02 เหรียญ และรวมให้ชดใช้เงินแก่ บีบีซีจำนวนทั้งสิ้น 2,334,652,551.04 บาท
ต่อมาญาติของนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินที่อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ราคาประเมิน 4 ล้านบาทเศษ ส่วนนายไพโรจน์ จำเลยที่ 5 ญาตินำโฉนดที่ดินใน กทม. ราคาประเมิน 2 ล้านบาทขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้จำเลยทั้งสองมีประกันตัวไปโดยตีราคาประกัน 4 ล้านบาท และ 2 ล้านบาทตามลำดับ