xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นกองปราบอาสาฯสร้างตำรวจชุมชนร่วมป้องกันอาชญากรรม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บังคับการกองปราบปราม
“ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” หากตำรวจไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแสอาชญากรรมต่างๆ เชื่อว่าตำรวจคงไม่ต่างกับคนตาบอดที่ควานหาเข็มในที่มืด ด้วยเหตุนี้ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บังคับการกองปราบปรามเตรียมฟื้นโครงการกองปราบอาสากลับมาร่วมเป็นตำรวจชุมชนสามยอด เพื่อนำไปสู่ความร่วมมืออันดีระหว่างตำรวจกับประชาชน หลังโครงการกองปราบอาสาที่มีสมาชิกนับแสนคนถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน

“เราต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ ตำรวจเราห่างกับประชาชนมาก เมื่อห่างกันแล้ว ประชาชนก็ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อไม่ไว้ใจแล้วก็ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันก็ติดๆขัดๆ มันมีเหตุผลต่างๆมากมายโดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ทางตำรวจเราเองก็จะต้องหาวิธีการใหม่ ๆ เข้ามา ซึ่งเราต้องยอมรับว่าการบังคับใช้หฎหมายก็ดี การสั่งการก็ดี ประชาชนเขาไม่ยอมรับ ซึ่งทางตำรวจเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงทำให้เขายอมรับให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก” พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ กล่าวถึงเหตุผลที่มาของโครงการดังกล่าว

กองปราบปรามได้มีแนวทางที่จะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างตำรวจกับประชาชนโดยเฉพาะตามแหล่งชุมชนต่างๆทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงได้เตรียมจัดโครงการ “ตำรวจชุมชนสามยอด” สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้เนื่องจากทางกองปราบปรามเองเรามีสถานีวิทยุเสียงสามยอดอยู่ในหลายจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยประสานและทำความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนและตำรวจ ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมาใหม่และเป็นโครงการที่พยายามจะใช้หลักการและทฤษฎีที่ได้ผลเข้ามาดำเนินการอีกด้วย

“จากการที่ทางเราได้รวบรวมข้อมูลจากศูนย์วิทยุ1195 ที่สอบถามประชาชนว่าทำไมจึงมาแจ้งกองปราบปรามให้ช่วยคลี่คลายคดี ซึ่งเขาก็ตอบกลับมาว่าไม่ไว้ใจตำรวจท้องที่และกลัวจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และตำรวจอาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีเอี่ยวในคดี แต่เมื่อเราไปสืบสวนจริงๆแล้วปรากฏว่าตำรวจท้องที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น หรือมีเอี่ยวอะไรทั้งสิ้น ทีนี้เรามาคิดวิเคราะห์พบว่าที่เขาไม่ไว้ใจตำรวจท้องที่นั้นเกิดมาจากความหวาดระแวง ความไม่เข้าใจกันระหว่างตำรวจกับประชาชน” ผู้การกองปราบ กล่าวถึงเหตุผลที่ทำไมประชาชนถึงมาร้องทุกข์กองปราบ

การทำหน้าที่ ของกองปราบปรามนั้น เมื่อประชาชนมาร้องทุกข์แล้ว เราจะก็ต้องทำการสืบสวน บางทีคดียาเสพติดถ้าเขาแจ้งกับโรงพักท้องที่ ถ้าเขาทำจริงๆก็สามารถจับกุมได้แน่ แต่พอแจ้งมากองปราบฯ กว่าเราจะเดินทางไปหา หรือ ไปสืบสวนบางครั้งทำให้คนร้ายหนีรอดไปได้ เนื่องจากการทำงานของตำรวจกองปราบปรามมันมีขั้นตอนอีกมากมาย ซึ่งคดีบางคดีคนร้ายรอดไปได้นั้นก็บางส่วนมากจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชนและตำรวจ

พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ กล่าวถึงลักษณะงานของกองปราบฯว่าเป็นการยืนดูแล้วค่อยๆเข้าไป จึงต้องหาแนวทางความคิดและทฤษฏีใหม่ๆมาให้กับตำรวจเรา เพื่อผลักดันให้เดินไปข้างหน้าตามหลักการของตำรวจในยุคประชาธิปไตย เช่นกลุ่มผู้ชุมนุม หรือ ม็อบ ต่าง ๆ นั้น มีกันเป็นร้อยเป็นพันกลุ่ม ตำรวจเราก็มีเป็นร้อยเป็นพันเหมือนกันแต่ตำรวจเองก็ทำอะไรไม่ได้เนื่องจากเขาไม่เชื่อถือหรือยอมรับ หากทำอะไรไปมันก็กลายเป็นประเด็น เราจะไปใช้วิธีการแบบเดิม ๆ คือเดินตะลุยไปอย่างนั้นคงทำไม่ได้แล้ว

เราจะต้องใช้วิธีการทางสังคมศาสตร์เข้าไปช่วย เพราะฉะนั้นเราจึงอยากจะให้ “ตำรวจชุมชนสามยอด” เป็นสื่อกลางระหว่างตำรวจและประชาชนโดยเฉพาะกับทางตำรวจท้องที่ซึ่งกองปราบฯก็จะต้องเข้าไปเชื่อมก่อนโดยจะมีวิธีการว่าจะต้องให้ตำรวจกองปราบฯเราเข้าไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านตามชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่นั้นๆที่เรากำหนดระยะเวลาไว้ 2 ปีโดยจะมีกลุ่มสมาชิกกองปราบอาสาเก่าที่เดิมเคยมีสมาชิกอยู่ก่อนแล้วเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสมาชิกกองปราบอาสาที่ยุบไป แล้วเดิมนั้นมีอยู่แสนกว่าคนเราจึงมีแนวความคิดว่าน่าจะนำสมาชิกเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับแนวทางการทำงานของเรา โดยจะใช้ชื่อใหม่ว่า “ตำรวจชุมชนสามยอด” โดยจะนำสมาชิกมาอบรมมาปรับเปลี่ยนรูปแบบและหลักการทำงานเสียใหม่ให้เข้ากับสังคมปัจจุบันนี้ ผู้การกองปราบ กล่าว

นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้นำกองปราบปราม ที่ชื่อ “พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์” นายตำรวจรุ่นใหม่ที่กล้าเปลี่ยนวิธีคิดเก่าๆ ดึงมวลชนมาช่วยงานปราบปรามอาชญากรรม หวังว่าโครงการนี้คงจุดประกายให้หน่วยงานสีกากีบางหน่วยที่ล้าหลังเป็นไดโนเสาเต่าล้านปีในสายตาของประชาชน ได้ฉุกคิดจะพัฒนาององค์กรของตัวเองให้ดีขึ้นบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น