xs
xsm
sm
md
lg

พลิกแฟ้ม 4 คดีดัง "อภิสิทธิ์"สั่ง 2 บิ๊กตำรวจเดินหน้าลุย!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ลายเป็นข่าวฮือฮาไม่น้อย เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียก พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาพบที่ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาหารือร่วมชั่วโมง แต่ทั้งนี้ พล.ต.อ.ธานี ปฏิเสธที่จะบอกรายละเอียดของการหารือโดยให้ไปถามนายกรัฐมนตรีเอง

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวออกมาว่า สาเหตุที่นายกรัฐมนตรี เรียก 2 บิ๊กตำรวจไปพบนั้น นัยว่า ต้องการให้สะสาง 4 คดีสำคัญ อันประกอบด้วย คดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม คดีการสังหารนักการทูตซาอุดิอาารเบีย คดีสังหารชาวอังกฤษที่สอนหนังสืออยู่ที่สแตมป์ฟอร์ด และคดีชิปปิ้งหมู

"ทนายสมชาย"ถูกอุ้มหายตัวลึกลับ
ทีมข่าวอาชญากรรม ขอนำแฟ้มคดีดังกล่าว มาย้อนรำลึกว่า มีที่มาที่ไปอย่างไรพอสังเขป เริ่มจากคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เวลา 20.30 น. นายสมชาย นีละไพจิตร ได้ถูกอุ้มหายไปกลางเมืองหลวง ต่อมามีผู้ไปพบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลข ภง 6786 กรุงเทพมหานคร ของนายสมชาย ที่บริเวณลานจอดรถ สถานีขนส่งหมอชิต

เดือนเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นระบุว่า "นายสมชาย ไม่ได้หายตัวไปไหน เพียงแต่มีปัญหาทะเลาะกับภรรยาจึงหลบมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และตัดขาดการติดต่อจากคนอื่น"

เมษายน 2547 มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ประกอบด้วย พ.ต.ต.เงิน ทองสุก, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์, จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ตำรวจกองปราบปราม ตกเป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ และข่มขืนใจผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้าย แ

20 มิถุนายน 2548 นางอังคณา นีละไพจิตรได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและได้พูดคุยร้องขอในเรื่องการหาตัวนายสมชาย นีละไพจิตรและร้องขอความยุติธรรมโดยไม่ขอรับความช่วยเหลือใดๆ ที่ทางนายกรัฐมนตรีเสนอให้

23 สิงหาคม 2548 นางอังคณา นีละไพจิตร ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินการติดตามหานายสมชาย นีละไพจิตร ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 5 เดือนจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับชั้นและทุกหน่วยงาน

1 ธันวาคม 2548 นางอังคณา ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พล. ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ เรียกร้องให้เร่งดำเนินคดีการหายตัวไปของนายสมชาย การสืบสวนขยายผลและตั้งข้อหาเพิ่มเติม เนื่องจากคดีในศาลเป็นเพียงคดีปล้นทรัพย์และขืนใจที่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ต่อการหายตัวของบุคคลโดยเฉพาะการอุ้มหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

8 ธันวาคม 2548 นางอังคณา ได้ยื่นหนังสือถึงจเรตำรวจแห่งชาติ ร้องทุกข์เรื่องการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นจำเลยในคดีปล้นทรัพย์และขืนใจนายสมชายยังคงรับราชการและปฎิบัติหน้าที่ขณะที่กำลังดำเนินคดี และบางส่วนกำลังจะขอกลับเข้ารับราชการหลังศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้น

12 มกราคม 2549 ศาลตัดสินจำคุก พ. ต. ต. เงิน ทองสุก ในข้อหาขืนใจ ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ส่วนผู้ต้องหาซึ่งเป็นตำรวจอีก 4 นายยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ

มกราคม 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจขณะนั้นระบุว่า "ทราบว่าเสียชีวิตแล้ว มีพยานแวดล้อมยืนยันได้ว่ามีการตาย ... ต้องยอมรับเลยว่ามันไม่ง่าย คดีที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่รัฐ การหาพยานหลักฐานไม่ง่าย ขอให้ดีเอสไอสรุปสำนวนการสอบสวนก่อน ตอนนี้เราจะสรุปตรงจุดที่ว่าทนายสมชายเสียชีวิตแล้ว และจะนำไปสู่การดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนตาย แต่ต้องรู้ให้ชัดเจนก่อนว่าเสียชีวิตแล้ว จึงจะดำเนินการได้ ดีเอสไอ จะสรุปการสอบสวนได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ( 2549)"

16 กุมภาพันธ์ 2549 นางอังคณา นีละไพจิตรได้ทำหนังสือถึงอัยการการคดีพิเศษและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลและข้อสังเกตในพยานหลักฐานในการดำเนินคดีการหายตัวไปของนายสมชาย เพื่อให้ทางอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาพยานหลักฐานอย่างรอบครอบและขยายผลการสืบสวนอย่างจริงจัง

22 มีนาคม 2549 นางอังคณา นีละไพจิตรได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอความเป็นธรรมและขอให้ดำเนินการคดีปกครองแทนผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย กรณีที่นางอังคณา นีละไพจิตร เป็นผู้เสียหายจากการหายไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังที่ศาลตัดสินลงโทษพ.ต.ต.เงิน ทองสุก ว่าได้ข่มขืนใจนายสมชายในวันที่หายตัวไป

28 มีนาคม 2549 ได้มีความพยายามของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการค้นหาหลักฐานในแม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีการงมค้นหาวัตถุพยานที่เป็นถังน้ำมันที่เชื่อว่ามีการนำมาทิ้งหลังจากการเผาทำลายศพ ซึ่งเป็นการขยายผลการสืบสวนและพบข้อมูลเพียงว่ามีกลุ่มบุคคลได้นำทนายสมชายไปในเขตจังหวัดราชบุรี

9 พฤษภาคม 2549 นางอังคณาได้ยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมเรื่องขอเปลี่ยนตัวหัวหน้าพล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ พนักงานสอบสวนในคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วยนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่ามีลักษณะการทำงานที่ปกปิดและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหาและจำเลยคดีปล้นทรัพย์นายสมชาย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นธรรม

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยว่า มีรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดปากว่านายสมชาย หายตัวไปโดยฝีมือของคนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล

ล่าสุด พ.ต.ต.เงิน ทองสุก หนึ่งในผุต้องหาที่ถูกศาลพิพากษา หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยที่จ.พิษณุโลก โดยมีการระบุว่า หายตัวไป พร้อมสถานการร์น้ำท่วม

ฆาตกรรมนักการทูต 3 ศพ อุ้มนักธุรกิจซาอุฯหายไร้ร่องรอย
ส่วนคดีฆ่านักการทูตซาอุฯ 4 ราย และคดีการหายตัวของนายอัลลู ไวรี่ เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2531-2533 ซึ่งทาง ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ สมัยนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม จากนั้นมีความพยายามจะรื้อฟื้นคดีอีกหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จซึ่งคดีฆ่านักการทูต ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ส่วนคดีการหายตัวของนายอัลลู ไวรี่ ซึ่งเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทย ทางอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้การรื้อฟื้นคดีจะทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานใหม่เท่านั้น ต่อมา เมื่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรมว.ยุติธรรม ได้เดินทางปเยี่ยมและขอข้อมูลคดีฆาตกรรมอันเนื่องจาก"เพชรซาอุ" จากพล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผู้ต้องหาในคดีเพชรซาอุฯ ถึงในเรือนจำ

เรื่องดังกล่าว เกิดขึ้น ภายหลังจากมีการดำเนินคดีกับนายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนไทยที่ไปทำงานในวังเจ้าชายไฟซาล ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ไปขโมยเพชร แล้วหนีกลับประเทศไทย ซึ่งพล.ต.ท.ชลอ เป็นผู้คลี่คลายคดี และสามารถตามยึดเพชรกลับมาได้ ทว่า เมื่อมีการตรวจสอบจากทางซาอุดิอารเบียแล้วพบว่า มีเพชรจำนวนหนึ่งหายไป โดยเฉพาะโคตรเพชร"บลูไดมอนด์" ประเมินมูลค่ามิได้ ขณะเดียวกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดคดีฆาตกรรมซับซ้อนซ่อนเงื่อน เมื่ออุปทูตซาอุดิอารเบียถูกยิงเสียชีวิตกลางกรุง โดยตำรวจนครบาลตั้งประเด็นการขัดแย้งเรื่องส่งคนงานไทยไปซาอุฯ ซึ่งต่อมา สามารถตามจับมือปืนได้ แต่สุดท้าย ศาลยกฟ้อง และระหว่างการสืบสวนคดีดังกล่าว มีนักธุรกิจชาวซาอุดิอารเบียถูกอุ้มหายตัวไปอีกคน ยังไม่พบร่องรอยจนกระทั่งบัดนี้ โดยมีข่าวลือในทำนองว่า ตำรวจเป็นคนอุ้มไปรีดหาข้อมูลเชิงลึกภายในสถานทูต แต่เหยื่อหัวใจวายตายไปก่อน เลยถูกนำไปนั่งยางเผาไม่ให้เหลือซาก ถัดมาไม่นาน เกิดคดีคนร้ายใช้อาวุธปืนขนาดเล็ก 6.35 ม.ม. ยิงเจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯพร้อมกัน 2 จุด เสียชีวิตไปอีก 3 ศพ จนบัดนี้ ตำรวจยังไม่สามารถจับคนร้ายได้ จนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดิอารเบียสั่นคลอนมาจนถึงปัจจุบัน

ฆาตกรรม"ชิปปิ้งหมู"ตัดตอนพยานสำคัญ
คดีนายกรเทพ หรือ พิเชษฐ์ เจ้าของฉายา “ชิปปิ้งหมู” พยานปากสำคัญ ที่นายศิริโชค โสภา อดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ใช้เป็นหลักฐานเด็ดในการเปิดประเด็นเรื่องบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) นำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมที่หลบเลี่ยงภาษีศุลกากรในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เมื่อปี 2545 โดยต่อมา "ชิปปิ้งหมู" ถูกฆาตกรรม เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2546 ที่บริเวณถนนเข้าดอยหมู่บ้านแสนใจ รอยต่อ ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน และต.แม่สลอง ในอ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สภาพศพถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 9 ม.ม. เข้าท้ายทอย กกหูซ้ายและลำตัว รวม 3 นัด ซึ่งต่อมาทางตำรวจตั้งประเด็นการสอบสวนว่า เป็นเพราะ "ชิปปิ้งหมู" พัวพันกับเรื่องยาเสพติด

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระบุถึงข่าวการเสียชีวิตของ "ชิปปิ้งหมู" ทันทีที่ทราบเรื่องว่า "หากถามว่า รู้จักประวัติของชิปปิ้งหมูมากน้อยแค่ไหน เข้าใจว่าจะรู้จักนายสุภาพ สีแดง ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่ถูกจับไปเมื่อคืนนี้มากกว่า….ผมทราบเรื่องเมื่อคืน ดูข่าวแล้วก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับบริษัท ชินฯเลย บริษัท ชินฯ เขาเสียภาษีหรือเสียค่าตอบแทนให้กับรัฐปีหนึ่งสองหมื่นกว่าล้านบาท ไอ้ที่พูดกันนี่มันนิดเดียว ทุกฝ่ายก็ออกมาระบุแล้วว่า มันถูกต้อง มันไม่มีอะไร ทำไมต้องไปวิตก ไม่เห็นมีอะไรน่าวิตก คนที่วิตกไปเองคือ คนที่หาเรื่องมากกว่า"

แต่ถัดมาอีก 1 วัน พ.ต.ท.ทักษิณยังระบุอีกว่า “นายกรเทพไปอยู่ที่เชียงราย ก่อนเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2543 และไปมีภรรยาเป็นชาวอีก้อ นายกรเทพยังไปอยู่ในหมู่บ้านที่มีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผมก็จำไม่ได้ แต่ทราบว่า ถูกยึดทรัพย์ในคดียาเสพติด และบริเวณนั้นเป็นย่านที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดมากมาย"

ขณะที่นางภัทราภรณ์ วิริยะ ภรรยาของ"ชิปปิ้งหมู" ได้กล่าวกับพ.ต.ต.พิเชษฐ์ ฟองฟู สารวัตรเวรเจ้าของคดี สภ.อ.แม่จัน จ.เชียงราย ว่า "สามี ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกับใครในพื้นที่มาก่อน แต่ไม่ทราบเรื่องราวลึกๆ เกี่ยวกับสามีมาก่อน เพราะไม่ต้องการเข้าไปก้าวก่ายเรื่องใดๆ ทั้งนั้น"

หากนับเวลาจาก 26 มี.ค. 2546 จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 5 ปี "ความมืดมน" ของคดี"ชิปปิ้งหมู" ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า เกิดจากคดีพัวพันยาเสพติด หรือถูกฆ่าปิดปาก เพราะออกมาเปิดโปงเงื่อนงำบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ที่จงใจหลีกเลี่ยงภาษีกันแน่

คดีคนร้ายยิง 2 สามีภรรยาชาวอังกฤษ
คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 23.00 น.วันที่ 24 ตุลาคม 2551 ร.ต.ท. ชัยพัฒน์ ชูแก้ว ร้อยเวรสอบสวน สภ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รับแจ้งมีเหตุชาวต่างชาติถูกคนร้ายยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายในบ้านพักเลขที่ 38/162 ถนนเขาพิทักษ์ เขตเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยในที่เกิดเหตุพบเพียงกองเลือด และรองเท้าแตะผู้บาดเจ็บตกอยู่หน้าประตูรั้วด้านในบ้านส่วนผู้บาดเจ็บเจ้าหน้าที่มูลนิธิหัวหิน นำส่งโรงพยาบาลซานเปาโลหัวหินไปก่อนหน้านี้ ทราบต่อมาชื่อ MR.DONALD WHITING อายุ 65 ปี เจ้าของบ้านหลังดังกล่าวถูกยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบขนาดเข้าที่ชายโครงจำนวน 2 นัด อาการสาหัสหมดสติ แพทย์ผ่าตัดช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน

จากการสอบสวน MRS.DONALDINE ERNESTA SAMSON อายุ 61 ปี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ภรรยาผู้บาดเจ็บ ให้การว่า ช่วงค่ำทั้ง 2 ได้พักผ่อนอยู่ในบ้านพักและได้ยินสุนัขที่เลี้ยงไว้เห่าอยู่บริเวณหน้าประตูรั้ว สามีจึงออกไปดูปรากฏว่ามีรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ สีบรอน์ทอง ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน มาจอดอยู่หน้าประตูรั้วด้านนอก และสามีได้ถามชายคนที่ลงมาจากรถว่าต้องการให้ช่วยอะไรหรือไม่ แต่ก็ถูกชายคนดังกล่าวชักอาวุธปืนยิงเข้าใส่ 2 นัดจนล้มลง หลังจากนั้นรถยนต์คันดังกล่าวได้ขับหลบหนีไป ตนจึงวิ่งมาดูเห็นสามีนอนจมกองเลือดแต่ยังมีสติอยู่จึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจ

จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าสองสามีภรรยาเข้ามาพักอาศัยที่บ้านหลังดังกล่าวมาเกือบ 2 ปี ภรรยาผู้บาดเจ็บยืนยันว่าไม่เคยมีปัญหากับเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามจากการสอบสวนทราบว่า ผู้ที่ถูกยิงเคยมีปัญหากับชาวต่างชาติด้วยกันถึงปัญหาการก่อสร้างบ้านภายในโครงการ และยังเคยร้องเรียนสื่อมวลชน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง อีกทั้งเคยถูกคนร้ายลอบเข้ามาราดน้ำมันจุดไฟเผารถยนต์ยี่ห้อฮฮนด้า แจ๊ส สีบรอนด์ หมายเลขทะเบียน กค.820 ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจอดอยู่ภายในบ้านพักเมื่อคืนวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 มาแล้ว

นอกจากนั้นในวันที่ 27 ตุลาคม นี้ ผู้บาดเจ็บต้องไปให้การเรื่องรถยนต์โดนเผาที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เบื้องต้นสาเหตุอาจเกิดจากเรื่องส่วนตัวก็อาจเป็นได้ หรือปัญหาในกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอ.หัวหิน ที่เกิดความไม่พอใจและผู้บาดเจ็บเคยร้องเรียน ซึ่งต่อมา ภรรยาผู้บาดเจ็บ ได้ขอกำลังตำรวจไปคุ้มครอง เพราะถูกคนร้ายขู่จะเผาบ้าน โดยสุดท้ายทราบว่า MR.DONALD WHITING ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บจนกลายเป็นอัมพาต ซึ่งทางการอังกฤาทำหนังสือร้องเรียนมายังนายกรัฐมนตรี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผบ.ตร.
พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผบ.ตร.
นายกรเทพ หรือ พิเชษฐ์ เจ้าของฉายา “ชิปปิ้งหมู”
กำลังโหลดความคิดเห็น