xs
xsm
sm
md
lg

“นิติศาสตร์” ฮิต นักโทษอุกฉกรรจ์มุเรียนในคุก!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
กรมราชทัณฑ์พบนักโทษใช้เวลาว่างระหว่างติดคุกเรียนจบปริญญาตรีกว่า 1,000 คน พบ “นิติศาสตร์” เป็นสาขายอดนิยมของกลุ่มนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ใช้ความรู้ที่เรียนมาเขียนคำร้องขอลดหย่อนโทษ


วันนี้ (16 ม.ค.) นายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดให้ผู้พ้นโทษที่เรียนจบนิติศาสตร์ ขณะถูกคุมขัง มาเป็นทนายประชาชนให้คำปรึกษากฎหมายต่อประชาชนในกระทรวงยุติธรรมเพื่อเป็นอีกโครงการสร้างอาชีพหลังพ้นโทษของผู้ต้องขังว่า กรมราชทัณฑ์ได้สำรวจพบว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่ใช้เวลาในเรือนจำ ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และกรมราชทัณฑ์ จำนวน 7,495 คน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว จำนวน 1,188 คน โดยสาขาวิชาที่ผู้ต้องขังเลือกเรียนมากที่สุดคือนิติศาสตร์ ซึ่งมีผู้ต้องขังเรียนจบนิติศาสตร์จำนวน 425 คน รองลงมาเป็นสาขาบริหารการจัดการ 207 คน สาขาส่งเสริมการเกษตร 186 คน นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องขังที่เรียนจบนิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และคหกรรมศาสตร์

นายนัทธี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ไม่ได้สำรวจว่าผู้ต้องที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากในเรือนจำได้รับการปล่อยตัวจำนวนเท่าไร และได้นำวิชาความรู้ไปใช้สมัครงานหรือไม่ แต่เข้าใจว่าในสาขานิติศาสตร์คงไม่สามารถนำไปสมัครงานหรือสมัครเข้ารับราชการได้ เพราะผู้ต้องขังที่ศึกษาจนจบปริญญาตรีส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องโทษคดีอุกฉกรรจ์ จึงสามารถใช้เวลาเรียนได้อย่างต่อเนื่องนานกว่า 4 ปี ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ผู้ต้องขังจะใช้วิชากฎหมายที่เรียนมาในการเขียนคำร้องหรือขอลดหย่อนโทษในกรณีต่างๆ โดยผู้ต้องขังบางรายยังรับจ้างเขียนคำร้องให้กับเพื่อนผู้ต้องขังร่วมเรือนจำด้วย อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์จะนำข้อมูลการใช้เวลาในเรือนจำศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจนจบปริญญาตรีมอบให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่กลับตัวเป็นคนดีให้มีงานทำหลังได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ
กำลังโหลดความคิดเห็น