การดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อื้อฉาว กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างครึกโครมตั้งแต่เริ่มศักราชใหม่ เมื่อกองวินัยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นเรื่องได้รวบรวมข้อมูล เสนอไปยังกองกำลังพลเมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมชี้ชัดว่ากรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเงื่อนไของค์ประกอบตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ.2547 ถือเป็นการเริ่มกระบวนการถอดยศอย่างเป็นทางการ
สำหรับปฐมบทของเรื่องนี้เริ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และ 122 ขณะเดียวกันยังเป็นนักโทษหลบหนีคดีอาญา
กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) หรือเทียบเท่าชั้น"เจ้าพระยา"ที่ได้รับพระราชทานคืนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548
นอกจากนี้ยังเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ถูกถอดยศ "พ.ต.ท."ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547และ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 โดยระเบียบดังกล่าวระบุเหตุผลว่า "เนื่องจากผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป”
จากระเบียบดังกล่าวจะเห็นว่า พฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเงื่อนไขในการ "ถอดยศ"ถึง 2 ข้อด้วยกัน คือ
หนึ่ง ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
สอง ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
เมื่อกฎหมายระบุชัดไว้เช่นนี้แล้ว การไม่ดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายอันได้แก่ กองวินัย และกองกำลังพล จะเรียกว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ คงไม่ต้องตอบ ขณะเดียวกันยังเป็นการคลายข้อกังขาที่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกลั่นแกล้ง มีสองมาตรฐาน หรือเลือกปฏิบัติ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งอยู่แล้วชนิดที่ไม่ต้องตีความอะไรกันอีก
อย่างไรก็ตามก่อนหน้ากรณี พ.ต.ท.ทักษิณ มีข้าราชการตำรวจนอกแถวจำนวนไม่น้อยที่ถูกถอดยศ จากการสืบค้นจากประกาศราชกิจจานุเบกษาพบว่านายตำรวจชั้นสัญญาบัตรนายแรกที่ถูกถอดยศ คือ พ.ต.ต.หลวงพิศนุแสน(สุด ประทีปจิต)ซึ่งถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 11 ปี 4 เดือน ในความผิดฐานยักยอกเงินของกรมตำรวจนครบาลถูกถอดยศ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2472 หลังจากนั้นก็มีตำรวจถูกถอดยศกว่า 100 นาย ในจำนวนนี้มีตำรวจยศพล.ต.จ.(พลตำรวจจัตวา เทียบเท่าพ.ต.อ.พิเศษ ปัจจุบันไม่มีแล้ว) 2 นาย คือ พล.ต.จ. ทม จิตรวิมล และ"พล.ต.จ. ผาด ตุงคะสมิต ประจำกรมตำรวจ ก่อเหตุฆ่า 4 รัฐมนตรี ศัตรูทางการเมืองของจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชทานให้ถอดยศ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2505
หลังมีการประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศพ.ศ.2547 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2547 ซึ่งระเบียบดังกล่าวลงนามโดยพล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร.ในสมัยนั้น ตรงกับสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 มีข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรถูกถอดยศไปแล้วทั้งสิ้น 62 นาย เฉลี่ยปีละ กว่า 10 นาย แยกเป็นนายตำรวจระดับพ.ต.ท. 16 นาย พ.ต.ต. 12 นาย ร.ต.อ. 24 นาย ร.ต.ท.9 นาย และร.ต.ต. 1 นาย
เหตุที่ทำให้นายตำรวจเหล่านี้ถูกถอดยศ มีด้วยกัน 2 ประการ คือ ประการแรก ทำผิดคดีอาญาซึ่งศาลพิพากษาจำคุกถึงที่สุด เช่น มียาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฆ่าผู้อื่น เป็นต้น ประการที่สอง คือ ทำผิดวินัยร้ายแรงถูกปลดหรือไล่ออกจากราชการ ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน ยักยอกทรัพย์สินทางราชการ เป็นต้น
กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ แม้จะเคยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อทำผิดกฎหมาย และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก การถูกถอดยศจึงเป็นชะตากรรมที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนข้าราชการตำรวจนอกแถวที่ถูกถอดยศไปก่อนหน้านี้