xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ค้าตลองเตยฟ้องศาลแพ่ง ยกเลิกสัมปทานประมูลตลาด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าประมาณ 300 คน สวมใส่เสื้อสีเหลือง เดินทางมาให้กำลังใจที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ
“ผู้ค้าคลองเตย 300 คน” แห่ให้กำลังใจ ตัวแทนผู้ค้า ฟ้องศาลแพ่ง เพิกถอนการประมูลการท่าเรือฯ-บ.ลีเกิ้ล ขณะที่ “ผู้ค้า-สมชาย ส.ว.สรรหา-รสนา ส.ว.กทม.” ร่วมไต่สวนร้องศาลระงับการเข้าบริหารตลาด ศาลพร้อมนัดฟังคำสั่ง 22 ธ.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (19 ธ.ค.) น.ส.จันทร์จิรา ณ นคร กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดคลองเตย รวม 19 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง การท่าเรือแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการการท่าเรือฯ, ผู้อำนวยการท่าเรือฯ และ บริษัท ลีเกิ้ล โปรเพรสชั่นแนล จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องเพิกถอนนิติสัญญา กรณีที่การท่าเรือฯ เปิดให้มีประมูลเพื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารและใช้ประโยชน์พื้นที่ตลาดสดคลองเตยโดยไม่ถูกต้อง โปร่งใส จึงขอให้ศาลมีคำสั่ง 1.เพิกถอนการประมูลตลาดสดคลองเตย เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2551 ระหว่างการท่าเรือฯ กับบริษัท ลีเกิ้ลฯ ผู้ชนะการประมูล 2.เพิกถอนสัญญาเช่า ระหว่าง การท่าเรือฯ กับ บ.ลีเกิ้ลฯ ที่ทำขึ้นวันที่ 29 ต.ค.2551 3.เพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าระหว่าง การท่าเรือฯ กับ บ.ลีเกิ้ลฯ พร้อมยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการเข้าบริหารพื้นที่ตลาดคลองเตย

โดยศาลรับคำฟ้องไว้และมีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉินทันที ในวันนี้ เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 601 ซึ่งฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าไต่สวนรวมทั้งสิ้น 4 ปาก ประกอบด้วย น.ส.จันทร์จิรา และตัวแทนกลุ่มแม่ค้า, นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบเรื่องการทุจริต และธรรมาภิบาล วุฒิสภา

ในการไต่สวน น.ส.จันทร์จิรา และตัวแทนแม่ค้า เบิกความทำนองเดียวกันสรุปว่า เดิมพวกโจทก์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดคลองเตย ได้ทำสัญญาเช่าแผงค้ากับ บริษัท โซวเคี่ยมเส็ง จำกัด, บริษัท วัฒนาคาร จำกัด และบริษัท สหกรณ์ยูเนี่ยน 79 จำกัด โดยจ่ายค่าเช่าเดือนละ 13,500 บาท รายวันๆ ละ 105 บาท ซึ่งตลาดสดดังกล่าวเป็นที่ดินของการท่าเรือฯ พื้นที่ 22.8 ไร่ ราคาไร่ละ 60 ล้านบาท ต่อมาเมื่อบริษัททั้งสามหมดสัญญากับการท่าเรือฯ การท่าเรือฯ ได้นำพื้นที่ดังกล่าวไปเปิดประมูล กระทั่งจำเลยที่ 4 ชนะการประกวดราคา น่าจะเป็นการกระทำที่หลบเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างเอกชนกับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2535 เนื่องจากเห็นว่า มูลค่าโครงการสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องให้คณะรัฐมนตรีทำความเห็นชอบ แต่ไม่ได้ดำเนินการ และการเปิดให้ประมูลได้แจ้งข้อมูลเฉพาะในอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ติดประกาศแจ้งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าทราบโดยทั่วกัน รวมทั้งไม่มีการทำประพิจารณ์ด้วย เมื่อมีการประท้วง ต่อมากลุ่มผู้ค้าจึงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, คณะกรรมาธิการหลายชุด และผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา แต่เมื่อคณะกรรมาธิการมีหนังสือถึง จำเลยที่ จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2551 ให้ชะลอการประมูลออกไปก่อน 60 วัน เพื่อศึกษาผลกระทบพร้อมแจ้งว่าคณะกรรมาธิการได้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบ แต่จำเลยที่ 1-3 ก็ไม่ได้ยับยั้ง หรือชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าว กลับยังดำเนินการต่อไปจนกระทั่ง จำเลยที่ 2 มีมติให้จำเลยที่ 4 ชนะประมูลและทำสัญญาเช่ากับการท่าเรือเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2551 กำหนดระยะเวลาเช่า 10 ปี สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 28 ต.ค.2561 ส่วนหลังการทำสัญญาแล้วจะมีการจดทะเบียนการเช่าต่อเจ้าพนักงานกรมที่ดินตามกฎหมายหรือไม่ พยานไม่ทราบเพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยชี้แจงใดๆ ต่อประชาชน นอกจากนี้ หลังจากที่กลุ่มผู้ค้าได้ทำการประท้วงการประมูลและการเข้าบริหารพื้นที่ตลาด ก็ปรากฏว่า ได้มีตัวแทนของบริษัทจำเลยที่ 4 นำชายฉกรรจ์ 200 คน มาข่มขู่ไล่ลื้อและทำร้ายกลุ่มผู้ค้ารวมทั้งยังได้มีการปาระเบิดขวดและระเบิดลูกเกลี้ยงเจตนาทำร้ายกลุ่มผู้ค้าที่ประท้วงถึง 4 ครั้งตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.- วันที่ 10 ธ.ค.จนมีผู้บาดเจ็บหลายสิบราย ขณะที่กลุ่มผู้ค้าได้ทำการแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้ง

ส่วน นายสมชาย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ เบิกความสรุปว่า ในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯได้รับร้องเรียนจากผู้ค้าตลาดสดคลองเตย ว่า การท่าเรือฯ ได้เปิดให้มีการประมูลตลาดสดโดยมิชอบ ทำให้จำเลยที่ 4 ชนะประมูล และต่อมาผู้แทนของจำเลยที่ 4 มีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายกลุ่มผู้ค้าที่ประท้วงต่อต้านการประมูลและการเข้าบริหารตลาดหลายครั้ง

ขณะที่ นางสาวรสนา ส.ว.กทม.ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบเรื่องการทุจริตฯ เบิกความยืนยันว่า ก่อนมีการประมูล เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2551 มีกลุ่มผู้ค้าตลาดคลองเตยได้มายื่นหนังสือร้องเรียน ว่า การให้สัมปทานของการท่าเรืออาจไม่สุจริต น่าจะมีการฮั้วกัน ซึ่งกรรมาธิการก็กำลังดำเนินการตรวจสอบแต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผ่านมา ของวุฒิสภา พยานซึ่งมีส่วนร่วมด้วยได้สอบถาม เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม ซึ่งดูแลการท่าเรือที่มาชี้แจงเรื่องงบประมาณ เพื่อขอข้อมูลโครงการประมูลตลาดคลองเตยแต่ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ และพยานยังเคยได้สอบถาม รอง ผอ.การท่าเรือฯ ด้วยว่าเหตุใดการท่าเรือจึงไม่บริหารตลาดคลองเตยด้วยตนเอง ทั้งที่มีรายงานจากการท่าเรือเองว่าการทำตลาดมีผลประโยชน์ที่จะได้รับถึง 245 ล้านบาทต่อปี ขณะที่การประมูลของการท่าเรือกับเอกชนมีมูลค่าสัมปทานเพียง 60 ล้านบาทต่อปี ซึ่งได้รับคำตอบว่าการท่าเรือไม่พร้อมที่จะเข้ามาบริหารดูแลด้วยตนเอง

ภายหลังศาลไต่สวนพยานทั้ง 4 ปาก เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 17.00 น.จึงได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

ขณะที่ น.ส.จันทร์จิรา กล่าวถึงกรณีที่สภาทนายความจะจัดเจรจาระหว่าง การท่าเรือฯ บริษัท ลีเกิ้ลฯ และกลุ่มผู้ค้า โดยการลงพื้นที่ตลาดคลองเตยในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ ว่า กลุ่มของตนที่ยื่นฟ้องคดีนี้ ไม่เคยได้รับการประสานใดๆ ซึ่งพวกตนจะรอฟังคำสั่งศาลแพ่งและจะดำเนินการตามกฎหมายเท่าที่จะดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการการเดินทางมายื่นฟ้องครั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าประมาณ 300 คน ซึ่งล้วนสวมใส่เสื้อสีเหลือง เดินทางมาศาลด้วยรถบัสขนาดใหญ่ ซึ่งหลังจากที่นำรถมาจอดบริเวณริมถนนรัชดาภิเษก แล้ว กลุ่มผู้ค้าได้นำแผ่นป้าย เขียนข้อความโจมตี บ.ลีเกิ้ลฯ และข้อความร้องขอความเป็นธรรม รวมทั้งภาพถ่ายเหตุการณ์กลุ่มชายฉกรรจ์ใช้อาวุธทำร้ายผู้ค้าในช่วงเดือน พ.ย.และ ธ.ค.ที่ผ่านมา มาถือยืนรวมตัวกันอยู่ที่หน้าอาคารศาลแพ่ง กระทั่งเจ้าหน้าที่ศาลและตำรวจศาลได้เข้ามาห้ามปรามไม่ให้ขบวนพ่อค้าแม่ค้าเดินเข้าไปในอาคารศาล พร้อมขอให้เก็บป้ายออกไป เนื่องจากมีลักษณะเป็นการกดดันศาล และสร้างความไม่สงบ ซึ่งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าได้ปฏิบัติตามโดยดี

กำลังโหลดความคิดเห็น