xs
xsm
sm
md
lg

“นักธุรกิจเคเบิลทีวี” ร้องศาลตั้งไต่สวนอิสระ “แม้ว-เครือญาติ” ผิด กม.ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ครอบครัว ทักษิณ เสวยสุขที่อังกฤษ
“วิลเลี่ยม ไลล์ มอนซัน นักธุรกิจเคเบิลชาวมะกัน” มอบอำนาจทนายความ ยื่นคำร้องที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ชี้มูลความผิด “ทักษิณ-หญิงอ้อ-เครือญาติ-ร.ต.อ.เฉลิม-อดีตผู้บริหาร อ.ส.ม.ท.” ทำสัญญาสัมปทานเคเบิลทีวีปี 32-34 ไม่ชอบ ขณะที่ศาลอาญา นัดฟังคำสั่งคดี “วิลเลี่ยม” ฟ้อง “ ทักษิณ” เบิกความเท็จคดีแพ่ง พรุ่งนี้ 31 ต.ค.เก้าโมงเช้า


วันนี้ (30 ต.ค.) ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซัน อายุ 65 ปี ผู้บริหารบริษัท ซีทีวีซี ออฟฮาวาย จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจเคเบิลทีวีประเทศสหรัฐฯ ซึ่งฟ้องคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานเบิกความเท็จในคดีพิพาททางแพ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเป็นประธานบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคลาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้ประกอบกิจการ IBC เคเบิลทีวี ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย นายวิลเลี่ยม กับพวก ที่ผิดสัญญาการส่งคืนอุปกรณ์ประกอบธุรกิจเคเบิล ได้มอบอำนาจให้ นายประเมศวร์ สูตะบุตร และนายณฐพร โตประยูร ทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 275 และ 276 ชี้มูลความผิด กรณีที่กล่าวหา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล อ.ส.ม.ท.ในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงปี 2532-2534, นายราชัน ฮูเซ็น อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.), พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตประธาน บริษัท IBC เคเบิลทีวี และผู้ถือหุ้นในบริษัท, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ในฐานะผู้ถือหุ้น, บริษัท IBC เคเบิลทีวี, นางดวงฤทัย กสิโสภา อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท IBC, นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัท, นางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัท, บริษัท อ.ส.ม.ท.จำกัด, บริษัท วีดีโอลิ้งค์ จำกัด และคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท อ.ส.ม.ท.กระทำผิด พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเจ้าพนักงานต่อองค์กรรัฐ พ.ศ.2502, พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สืบเนื่องจากกรณีระหว่างปี 2532- 2534 ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้บริษัท IBC เคเบิลทีวี ที่ขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือญาติ เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท ได้ร่วมทำสัญญาสัมปทานประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือ เคเบิลทีวี กับ อ.ส.ม.ท.โดยไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และมีการเอื้อประโยชน์ซึ่งได้มีการโอนหุ้นบริษัทให้นักการเมือง

ทั้งนี้ ศาลฎีการับคำร้องไว้ เพื่อจะนัดประชุมใหญ่พิจารณาคำร้องและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาและแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระตามร้องหรือไม่ต่อไป

โดย นายณฐพร โตประยูร ทนายความ กล่าวว่า ความผิดที่มีการกล่าวหาตามกฎหมายในคำร้องมีอายุความสูงสุด 20 ปี ซึ่งหากนับอายุความตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุประมาณ ปี 2532 คดีก็ยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น จึงได้มีการยื่นคำร้องตามช่องทางรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 275-276 ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวิลเลี่ยม และ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยมีคดีพิพาทกันโดย นายวิลเลี่ยม ถูกฟ้องคดีแพ่ง-อาญา เรื่องผิดสัญญา และยักยอกทรัพย์ ธุรกิจเคเบิล จน นายวิลเลี่ยม ถูกแบล็กลิสต์ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายวิลเลี่ยมแล้วทั้งคดีแพ่ง-อาญา และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทย ก็ได้มอบอำนาจให้ทนายความดำเนินการตามช่องทางต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีแพ่ง-อาญา นายวิลเลี่ยม แล้ว ที่ผ่านมา นายวิลเลี่ยม ได้ฟ้องกลับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในความผิดฐาน เบิกความเท็จ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2539 และวันที่ 13 ม.ค.2540 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในคดีที่บริษัท IBC เคเบิลทีวี และ บจก.วีดีโอลิ้งค์ ร่วมกัน ยื่นฟ้องโจทก์เรียกค่าเสียหาย กล่าวหา บริษัท ซีทีวีซี ฯ , นายวิลเลี่ยม , นายสถาพร ศรีธรรมโรจน์ และนายบงการ ถนัดพจนามาตย์ เรื่องผิดสัญญาซื้อขาย ขอยืม กรณีที่ไม่ส่งคืนอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารที่นำเข้าจากสหรัฐฯ อเมริกา โดยศาลอาญา ได้ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว และนัดฟังคำสั่งในวันพรุ่งนี้ (31 ต.ค.) เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับ นายวิลเลี่ยม กับ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เคยเป็นผู้ร่วมลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเคเบิลทีวี แต่ภายหลังทั้งสองเกิดข้อพิพาทกันโดย บริษัท IBC เคเบิล ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประธาน และ บจก.วีดีโอลิ้งค์ ร่วมกันยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย บริษัท ซีทีวีซี, นายวิลเลี่ยม, นายสถาพร ศรีธรรมโรจน์ และ นายบงการ ถนัดพจนามาตย์ เรื่องผิดสัญญาซื้อขาย ขอยืม กรณีที่ไม่ส่งคืนอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา แต่คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2547 พิพากษายืนตามศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้ยกฟ้อง นายวิลเลี่ยม กับพวก เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาร่วมประกอบกิจการระหว่าง ไอบีซี และ นายวิลเลี่ยม ไม่มีข้อตกลงว่า จะคืนทรัพย์สินเมื่อได้ใช้สอยเสร็จ แต่มีข้อตกลงว่า หาก นายวิลเลี่ยม ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการส่งสัญญาณภาพ ให้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ มีสิทธิซื้ออุปกรณ์คืนในราคาที่เหมาะสม ดังนั้น นายวิลเลี่ยม กับพวก จึงไม่ได้ยืมอุปกรณ์เครื่องส่งสัญญาณตามที่ถูกฟ้อง โดยคดีดังกล่าวฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยื่นฎีกา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวก ยังได้เคยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ว่า นายวิลเลี่ยม ยักยอกทรัพย์ และอัยการได้ยื่นฟ้อง นายวิลเลี่ยม เป็นจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ต่อศาลแขวงพระนครใต้ เมื่อปี 2532 แต่ภายหลังศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องนายวิลเลี่ยมในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2537 โดยนายวิลเลี่ยม ได้เคยฟ้องกลับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ฐานเบิกความเท็จเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2539 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ที่บริษัท IBC เคเบิล ฟ้องเรียกค่าเสียหาย นายวิลเลี่ยม กับพวก เรื่องผิดสัญญา ซื้อ ขาย ขอยืม กรณีที่ไม่ส่งคืนอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ, คุณหญิงพจมาน, บริษัท IBC เคเบิล และ นางดวงฤทัย เศรษฐบุตร เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันแจ้งความเท็จ เบิกความเท็จ และฟ้องเท็จ กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวก แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ว่า นายวิลเลี่ยม ยักยอกทรัพย์ แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2549 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากคดีขาดอายุความ
กำลังโหลดความคิดเห็น