xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายฯ ประณามรัฐบาลทำร้ายประชาชนขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สภาทนายความ ออกแถลงการณ์ประณาม “รัฐบาล” ขาดความสง่างามในการบริหารประเทศ จี้ตำรวจไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้กำลังสลายม็อบที่ขัดหลัก รธน.-ปฏิญญาสากล และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองที่ไทยเป็นสมาชิก วอน สตช.สั่งระงับการใช้กำลังปะทะประชาชน ขู่หากรัฐบาล-ตำรวจยังเดินหน้าต้องร่วมรับผิดชอบ

วันนี้ (7 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน สภาทนายความ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประณามการกระทำเกินกว่าเหตุของรัฐบาลต่อการชุมนุมต่อต้านอย่างสงบของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยแถลงการณ์ระบุว่า จากที่ได้มีการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนเช้าตรู่วันที่ 7 ต.ค. ยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมของพันธมิตรฯ บริเวณ ถ.อู่ทองใน ด้านประตูข้างรัฐสภาเพื่อจะสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสและมีอันตรายเกิดแก่กายและจิตใจหลายราย สภาทนายความเห็นว่า การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การชี้นำของรัฐบาลซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ เป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ จึงขอแถลงการณ์เพื่อให้ทราบเพื่องด หรือปฏิบัติโดยพลัน ดังนี้

1. รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการสืบทอดอำนาจจากบริหารจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะถูกยุบพรรคพลังประชาชนเพราะเหตุที่กรรมการบริหารพรรค ได้ถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาว่าใช้สิทธิเลือกตั้งโดยทุจริตและเป็นเหตุให้พรรคต้องถูกยุบไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นประเด็นที่ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของศาล

2.สำหรับกรณีที่มีความเห็นทางกฎหมาย ภาครัฐหรือฝ่ายการเมืองที่เห็นว่า ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ยังจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น จริงๆ แล้วที่ถูกต้องแนวความเห็นดังกล่าวใช้กับคดีอาญาเท่านั้น ซึ่งต่างกับความสง่างามของพรรคการเมือง โดยความสง่างามของสมาชิกนิติบัญญัติขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือที่ต้องใช้หลักกฎหมายในทางทฤษฎีความน่าจะเป็น ไม่ใช่ทฤษฎีให้ปราศจากข้อสงสัยเช่นในทางคดีอาญา เมื่อไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะเหตุที่พรรคการเมืองโดยที่มีกรรมการบริหารพรรคทำการทุจริตตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกา ก็เท่ากับว่าการได้มาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในสภานั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ดังนั้นเมื่อเป็นการได้มาโดยไม่สุจริตย่อมที่จะไม่ได้รับการรับรองและไม่ควรจะรับรอง

3.แนวความคิดของการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ได้ต่อสู้กับการทุจริตทุกรูปแบบและเป็นเรื่องที่นานาอารยประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะมีกติกาขององค์การสหประชาชาติที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นเพียงภาคีสมาชิก เห็นได้ว่าระดับการทุจริตของประเทศไทยนั้นเป็นระดับที่สูงขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว และมีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้การทุจริตรับสินบนนั้นเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลที่ผ่านมา สภาทนายความจึงเห็นว่าการชุมนุมต่อต้านการกระทำของพรรคการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่หากได้มาอย่างไม่สุจริตแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะมีอำนาจสั่งการอย่างใด แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนที่ดำเนินไปจึงชอบด้วยกฎหมาย

4.สภาทนายความ เสียใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจลุแก่อำนาจ ใช้อาวุธยิงเข้าใส่ฝูงชนโดยเล็งเห็นได้ชัดว่าจะเกิดการบาดเจ็บล้มตายขึ้นได้ แต่ก็ยังฝ่าฝืนกระทำ ทั้งๆ ที่รู้ว่ารัฐบาลที่ได้พยายามจัดตั้งขึ้นมาในคราวนี้ยังมีปัญหาค้างคาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีโอกาสถูกเพิกถอน ดังนั้นการกระทำที่เกินไปของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องมีผู้รับผิดชอบ สภาทนายความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเพราะคำสั่งดังกล่าวของผู้บังคับบัญชาเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อแนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกต้อง รวมทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก

5.สภาทนายความขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สั่งระงับการดำเนินการอย่างใดที่ใช้กำลังเพื่อปะทะกับประชาชนที่ไม่มีอาวุธซึ่งชุมนุมคัดค้านและส่วนใหญ่เป็นสตรีที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการของรัฐบาลที่มีที่มาโดยไม่ชอบอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของการชุมนุม ดังนั้น การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กระทำโดยอำนาจที่ไม่ชอบหรือตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ผู้ออกคำสั่งก็ดี ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งก็ดี ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด




กำลังโหลดความคิดเห็น