xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 25 ปี “รังสรรค์และพวก” จ้างวานฆ่า “ประมาณ ชันซื่อ”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ลอบสังหารประธานศาลฎีกา “ประมาณ ชันซื่อ” ศาลชี้จำเลยร่วมกันกระทำความผิดจริง จำคุก “รังสรรค์-เล็ก สตูล” คนละ 25 ปี ขณะที่ “สมพร-เณร” จำคุก 16 ปี 8 เดือน

วันนี้ (29 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 503 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลอ่านคำพิพากษาคดีลอบสังหาร นายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมพร หรือหมา เดชานุภาพ ชาว จ.นครสวรรค์ นายเณร มหาวิไล อาชีพค้าไม้ นายอภิชิต อังศุธรางกูร หรือเล็ก สตูล นักธุรกิจและผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐภาคใต้ (ขณะนั้น) และนายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ นักธุรกิจ และสถาปนิกชื่อดัง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 – 4 ตามลำดับในความผิดฐานใช้ จ้าง วาน และก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าคนตาย

ตามโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2535 – 25 พฤษภาคม 2536 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 4ได้บังอาจเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อนโดยใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมให้นายอภิชิต จำเลยที่ 3 จัดหาบุคคลไปฆ่านายประมาณ ชันซื่อ ให้ถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยที่ 3 รับปากว่าจะให้เงินมือปืนที่รับลงมือฆ่านายประมาณ จำนวน 1 ล้านบาท และจะให้นายบรรเจิด จันทนะเปลิน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำจังหวัดนครสวรรค์ (ขณะนั้น) จำนวน 5 แสนบาท ให้ไปจัดหาบุคคลไปฆ่านายประมาณ ซึ่งนายบรรเจิด ตอบตกลงและติดต่อให้นายสมพร จำเลยที่ 1 และนายเณร จำเลยที่ 2 จัดหาบุคคลซึ่งได้นายประทุม สุดมณี และนายบำรุง ชัยเมือง เป็นมือปืนและได้ให้เงินกับทั้งสองเป็นเงินจำนวน 80,000 บาทไปและจำเลยที่ 1-2 ได้พานายประทุมกับนายบำรุง ไปดูบ้านพักของนายประมาณ ที่ในซอยศรีนคร ถนนนางลิ้นจี่ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. แต่ภายหลังทั้งสองทราบข่าวว่านายประมาณ เป็นประธานศาลฎีกา (ขณะนั้น) จึงกลับใจไม่ยอมกระทำความผิด นายประมาณ จึงไม่ถูกฆ่าตายสมดังเจตนาของจำเลย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1- 3 ได้ และจำเลยที่ 4 เข้ามอบตัว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289,83 ,84 ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง ชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1และ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ แต่กลับให้การปฏิเสธในชั้นศาล ส่วนจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาอ้างว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดฉากสร้างเรื่องเท็จจับกุม

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์-จำเลยนำสืบหักล้างกันแล้ว มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องบรรยายพฤติการณ์กระทำผิด วันเวลา สถานที่มีข้อเท็จจริงพอสมควร ให้จำเลยทั้ง 4 เข้าใจ และได้ให้การปฏิเสธ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม และโจทก์มีอำนาจฟ้อง คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสี่ ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพยานปาก นายบรรเจิด นายประทุม และนายบำรุง ประจักษ์พยานเบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า เมื่อปี 2536 ได้รับการติดต่อให้ไปยิงนายประมาณ โดยจะให้เงินจำนวน 1 ล้านบาท โดยนายบรรเจิด ได้ติดต่อให้จำเลยที่ 1-2 จัดหามือปืน เมื่อได้มือปืนแล้ว นายบรรเจิด ได้แจ้งกลับไปยังจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้กำชับให้ทำงานให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์ และได้มีการมอบเงินค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้จำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท และจำเลยที่ 2 ได้นำเงินไปมอบให้กับนายประทุม จำนวน 80,000 บาท ภายหลังนายประทุม เปลี่ยนใจเพราะทราบว่านายประมาณ เป็นประธานศาลฎีกา จึงนำเรื่องที่จำเลยที่ 1-2 จ้างฆ่านายประมาณ ไปปรึกษากับ พ.ต.ท.ประพันธ์ เนียรภาค สารวัตรสอบสวน สภ.อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา พาไปพบ พ.ต.อ.รังสรรค์ ชำนาญหมอ รอง ผบก.ภูธรภาค 9 เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เหตุเกิดหลายท้องที่ โดยเมื่อเดือนพ.ค. 36 พ.ต.ท.ประพันธ์ ได้เล่าเรื่องให้ พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ผบก.ป.ว่าเมื่อปลายเดือน ก.พ.36 จำเลยที่ 1 และ 2 ที่อยู่ จ.นครสวรรค์ มาติดต่อนายประทุม ให้ช่วยหามือปืนรับจ้างสังหารนายประมาณ เมื่อไปสอบถามนายประมาณได้ความว่า น่าจะมีเหตุการณ์จ้างวาน ดังกล่าวจริง มีเหตุรวม 6 ประเด็น 1. คดีพิพาทก่อสร้างคอนโดมิเนียม ที่ พัทยา 2.ข้อพิพาทการทวงเงินค่าออกแบบห้างสรรพสินค้า เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ จำนวน 200 ล้านบาท 3 .คดีฟ้องหมิ่นประมาทระหว่างจำเลยที่ 4 กับตระกูลเตชะไพบูลย์ เจ้าของห้างเวิลด์ เทรด ฯ 4. การสั่งย้ายนางยินดี ต่อสุวรรณ ภรรยาจำเลยที่ 4 จากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 5.ความขัดแย้งในวิกฤติตุลาการ และ 6. ความขัดแย้งการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งนายประมาณยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 และ 2 มาก่อน คำให้การของบรรเจิด นายประทุม และนายบำรุง สอดคล้องจำเลยที่1 ,2 ที่ให้การรับสารภาพไว้ภายหลังถูกจับกุม ทันที เชื่อว่าให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ ไม่มีโอกาสปรุงแต่ง เมื่อแจ้งข้อหาพยายามฆ่าเพิ่ม จำเลยทั้งสองก็ยืนยันให้การรับสารภาพ พร้อมทำหนังลงลายมือชื่อ ให้เร่งส่งฟ้อง เพราะถูกคุมขังมานาน และอาจเสียสิทธิ์การขออภัยโทษ ซึ่งบันทึกการจับกุมกระทำต่อหน้าตำรวจ ผลตรวจร่างกายไม่พบบาดแผล แสดงให้เห็นว่า การจับกุม สอบสวน จำเลยทั้งสองไม่ถูกบังคับขู่เข็ญ ทั้งยังพาไปชี้จุดเกิดเหตุต่าง ๆ ทั้งบ้านพักนายประมาณ จุดรับเงินได้อย่างละเอียดถูกต้อง เจือสมพยานโจทก์ให้มีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของจำเลยที่1 ซึ่งรู้จักกับจำเลยที่ 2 และเป็นหลานเขย ส่วนจำเลยที่ 3 รู้จักกับนายบรรเจิด 5 – 6 ปี

ขณะที่ชุดพนักงานสอบสวนก็เบิกความสอดคล้องกันว่า หลังทราบเรื่อง การจ้าง งานฆ่า จึงให้ ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ ปลอมเป็นมือปืนโดยมีจำเลยที่ 1 และ 2 ขับรถพาไปชี้บ้านนายประมาณ โดยมี พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย กับพวกขับรถติดตาม เมื่อถึงหน้าบ้านนายประมาณ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวจับกุม พยานโจทก์ทุกปากล้วนเบิกความสอดคล้องต้องกัน ซึ่งไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ทั้งชุดคณะสอบสวนมีมาก 12 คน จึงยากที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะปรักปรำใส่ร้าย ข้ออ้างจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1-2 ใช้จ้างวานฆ่านายประมาณโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจริง

ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์มีนายบรรเจิด พยานเบิกความว่า เมื่อเดือน ต.ค.35 จำเลยที่ 3 นัดให้ไปพบที่บ้านพักหลัง บริษัท การบินไทย ให้ช่วยหามือปืน และต่อมาจำเลยที่ 3 ได้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้ โดยพยานพาจำเลยที่ 1 ไปพบจำเลยที่ 3 และไปรับประทานอาหารที่ร้านเพลิน ถนนวิภาวดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1-2 ว่านายบรรเจิด ไม่เคยรู้จักกับนายประมาณมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลที่ทั้ง สาม จะว่าจ้างมือปืนไปฆ่านายประมาณ ตามลำพัง เชื่อว่ามีผู้บงการอีกทอดหนึ่ง และเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 3 กับนายบรรเจิด ซึ่งรู้จักกันมานาน 5-6 ปี โดยเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ด้วยกัน เคยไปมาหาสู่กันเป็นประจำ และขณะที่จำเลยที่ 3 ตั้งสำนักพิมพ์ที่จังหวัดสตูล จำเลยที่ 3 ได้ให้นายบรรเจิดไปช่วยงาน และนายบรรเจิด เคยยืมเงิน 1 แสนบาท และจำเลยที่ 3 ไม่ทวงคืน แสดงว่า จำเลยที่ 3 กับนายบรรเจิด มีความสนิทสนม และไว้วางใจกัน การที่จำเลยที่ 3 ติดต่อให้นายบรรเจิด ช่วยหามือปืน จึงไม่มีข้อควรสงสัย พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 จ้างวานให้นายบรรเจิด จัดหามือปืนฆ่านายประมาณ

ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าสนิทสนมกับนายบรรเจิด เฉพาะเรื่องงานแต่ไม่เคยไว้วางใจ หรือเชื่อมั่น ถึงกับจะว่าจ้างให้นายบรรเจิดไปหามือปืน โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ติดต่อกับนายบรรเจิด ตั้งแต่ปี 2535 เพราะจับได้ว่า นายบรรเจิดมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับภรรยาของจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.36 ภรรยาของจำเลยที่ 3 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าไม่มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกัน ได้รู้จักกับนายบรรเจิด มานาน 3 ปีเศษ ขณะที่นายบรรเจิด ไปช่วยงาน จำเลยที่ 3 ทำหนังสือพิมพ์ที่จังหวัดสตูล โดยพยานแยกทางกับจำเลยที่ 3 มานานแล้ว 6 เดือน ขณะที่ภรรยาของนายบรรเจิด ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกัน ยืนยันว่า สาเหตุที่ภรรยาของจำเลยที่ 3 แยกทางนั้น เป็นเพรามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 กับนายบรรเจิดมีเรื่องบาดหมางใจ เพราะเรื่องความสัมพันธ์ชู้สาว ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างด้วยว่า นายบรรเจิดไม่พอใจที่จำเลยที่ 3 ดำเนินคดีกับคนงานที่นายบรรเจิดพามาทำนากุ้ง ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะจำเลยที่ 3 เบิกความว่า ขณะที่ถูกจับกุมที่กองปราบปรามเมื่อวันที่ 28 พ.ค.36 นายบรรเจิด มาพบและพยายามพูดให้จำเลยที่ 3 รับสารภาพ ซึ่งจะได้ถูกกันไว้เป็นพยาน ศาลเห็นว่าหากทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันจริง ตำรวจคงไม่พานายบรรเจิด มาพบ จึงแสดงให้เห็นว่าทั้งสองมีความสนิทสนมคุ้นเคย และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองถึงขั้นต้องเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 3 ให้ได้รับโทษ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้

สำหรับจำเลยที่ 4 นายบรรเจิดเบิกความว่า หลังจากพบจำเลยที่ 3 เมื่อเดือน ต.ค.35 แล้ว ต่อมาไปพบที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือน ธ.ค.35 อีกครั้ง แจ้งให้ทราบว่าหามือปืนได้แล้ว และจำเลยที่ 3 บอกว่าจะให้ไปฆ่านายประมาณ โดยพยานไม่ได้ถามว่าเหตุใดจึงจ้างให้ฆ่าแต่เข้าใจว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับนายประมาณ แต่มีผู้ใช้มาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งขณะขับรถไปดูบ้านนายประมาณ พยานถามจำเลยที่ 3 ว่า งานนี้จำเลยที่ 4 สามีของนางยินดี ซึ่งมีความสนิทสนมกับจำเลยที่ 3 สั่งให้ไปฆ่าใช่หรือไม่ จำเลยที่ 3 บอกว่าใช่ เห็นว่าแม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยัน ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 หามือปืนเพื่อฆ่านายประมาณ โดยโจทก์มีเพียงนายบรรเจิด และคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งถือเป็นพยานบอกเล่าที่น้ำหนักน้อยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายประมาณ ประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนจะเห็นได้ว่า นายประมาณ ไม่เคยรู้จัก หรือมีเหตุโกรธเคืองกับ จำเลยที่ 1-3 และนายบรรเจิด มาก่อน จึงไม่มีมูลเหตุจูงใจที่ทั้งสามจะฆ่านายประมาณ พยานหลักฐานโจทก์ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1-3 และนายบรรเจิด ใช้ จ้างวานฆ่า นายประมาณ จริงโดยมีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเรื่องนี้ นายประมาณ ได้เบิกความว่า การปฏิบัติราชการของพยานในบางเรื่อง อาจทำให้จำเลยที่ 4 สูญเสียผลประโยชน์ โดยเมื่อพยานเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ดูแลเรื่องการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ โดยจำเลยที่ 4 มีบทบาทสูงในการออกแบบ ซึ่งคาดว่าจะได้เป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งมีงบประมาณสูง 3,000 ล้านบาท แต่ในเรื่องการก่อสร้างไม่ได้ดำเนินการ เพราะเห็นว่างบประมาณที่ได้รับมาดังกล่าว ควรนำไปให้ต่างจังหวัดที่ขาดแคลน ส่วนศาลฎีกาเดิมให้ปรับปรุงซ่อมแซม

ขณะที่นางสุกัญญา สุรภักดี พยานโจทก์อีกปากเบิกความว่าได้ทำธุรกิจกับจำเลยที่ 4 และระหว่างปี 2530-2531 เห็นจำเลยที่ 4 เขียนแบบสร้างอาคารศาลฎีกา แต่เมื่อ ครม.ไม่อนุมัติแบบแปลนจำเลยที่ 4 มีความโกรธมาก โดยขณะที่นางยินดี ภรรยาจำเลยที่ 4 อยู่ที่สำนักงานได้พูดเสียงดัง ด่าผู้ที่คัดค้านการออกแบบ นอกจากนี้นายประมาณยังเบิกความด้วยว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าตระกูลของพยานสนิทกับตระกูลเตชะไพบูลย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อพยานสั่งเร่งรัดคดีจำเลยที่ 4 จึงกลัวว่าจะได้รับความเสียหายและได้มีการวางแผนขัดขวางพยานกับพวกไม่ให้มีความเจริญในหน้าที่การงานในยุควิกฤติตุลาการ โดยที่คำให้การของผู้พิพากษาฝ่ายาพยานโจทก์หลายคนเบิกความว่าขณะที่นายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานศาลฎีกาได้มีการผลักดันให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดให้ประธานศาลฎีกาอยู่ในตำแหน่งได้อีกต่อไปเพื่อขัดขวางไม่ให้นายประมาณได้เป็นประธานศาลฎีกา แต่พระราชกำหนดไม่ผ่านสภา ขณะที่ผู้พิพากษาก็คัดค้านการออกพระราชกำหนด โดยจำเลยที่ 4ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าเห็นด้วยกับพระราชกำหนดและได้มีการกล่าวโจมตีนายประมาณอย่างรุนแรงว่าหากได้รับเลือกเป็นประธานศาลฎีกาก็เป็นการทวนกระแส ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ทุกปากเบิกความสนับสนุนคำเบิกความนายประมาณและพยานโจทก์ส่วนใหญ่เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในคดี ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน คำเบิกความพยานโจทก์ที่กล่าวถึงความเชื่อมโยงผลประโยชน์ด้านธุรกิจและการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างนายประมาณกับจำเลยที่ 4 น่าเชื่อถือและความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 3และ 4 พบว่าจำเลยที่ 3 ให้ความเคารพจำเลยที่ 4 มากเรียกว่าอาจารย์หรือบางครั้งเรียกเฮียและเมื่อจำเลยที่ 3 ทำรังนกขาดทุน จำเลยที่ 4 ช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้รังนกขายได้ รวมทั้งช่วยวิ่งเต้นหาเงินให้จำเลยที่ 3 ทำนากุ้งโดยช่วยคำประกันเงินกู้ให้วงเงินถึง 24 ล้านบาท หากไม่มีความไว้ใจกันแล้วจำเลยที่ 4 คงไม่รับภาระค้ำประกัน และจากการตรวจค้นห้องจำเลยที่ 3 ที่จ.สตูลยังพบใบปลิวโจมตีนายประมาณเกี่ยวกับวิกฤติตุลาการด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีความสนิมสนมกัน ซึ่งปกติการใช้จ้างวานฆ่ามักกระทำด้วยการบอกกล่าวกันทางวาจาและในที่ลับปราศจากการรู้เห็นของบุคคลภายนอก ดังนั้นพยานแวดล้อมที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 มีสาเหตุโกรธเคืองและกระทำการมุ่งทำลายนายประมาณอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจำเลยที่ 1-4และนายบรรเจิดยังมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมีการใช้ จ้างวานกันเป็นทอดๆ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 บงการฆ่านายประมาณ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 4 ที่ว่าไม่มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 3 ที่จะจ้างวานใช้ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่1-4 ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยไตร่ตรองไว้ก่อนมีความผิดตามมาตรา 289 (4) ซึ่งความผิดนั้นมีโทษประหารชีวิต แต่เมื่อความผิดไม่ได้ทำลงเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำผู้ใช้จึงต้องระวางโทษเพียง 1ใน 3 ของโทษประหารชีวิตคือกึ่งหนึ่งของโทษจำคุก 50 ปี จึงให้จำคุกจำเลยทั้ง 4 คนละ 25 ปี แต่จำเลยที่ 1-2ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี เห็นควรลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ2 ไว้คนละ 16 ปี 8 เดือน

ภายหลังนางยินดี ต่อสุวรรณ ภรรยานายรังสรรค์ จำเลยที่ 4 ใช้ตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลภาษีอากรกลางมูลค่า 1.22 ล้านบาทยื่นคำร้องขอประกันตัวขณะที่นายสมพร จำเลยที่ 1 ญาติได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินจ.นครสวรรค์ ราคาประมาณ 1.5 ล้านบาทขอประกันตัว ส่วนจำเลยที่ 3 นายอภิชิตจำเลยที่ 3 ญาติยื่นเงินสด 4 ล้านบาทขอประกันศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้วอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1,3 และ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 เนื่องจากวันนี้นายประกันไม่ได้เดินทางมาศาลจึงไม่ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวแต่อย่างใด จึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครต่อไป

ด้านนายสนธยา โพธิ์แดง ทนายความจำเลยกล่าวว่า จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีภายใน 30 วันโดยยืนยันว่าจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้กระทำความผิด โดยจะขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายว่าวันนี้ภรรยา บุตรสาวและกลุ่มเพื่อนมาให้กำลังใจ นายรังสรรค์เต็มห้องพิจารณาคดี

สำหรับคดีนี้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2536 ระบุความผิดสรุปว่า ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2535 - 25 พ.ค.2536 ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 4 ได้บังอาจเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อนโดยใช้ จ้างวาน ยุยงส่งเสริมให้นายอภิชิต จำเลยที่ 3 จัดหาบุคคลไปฆ่านายประมาณ ชันซื่อ ให้ถึงแก่ความตาย จากนั้นนายอภิชิต เป็นผู้ใช้ให้ นายบรรเจิด จันทนะเปลิน ให้จัดหาบุคคลไปฆ่านายประมาณ ซึ่งนายบรรเจิด ตอบตกลงตามที่ นายอภิชิตจ้างวาน จึงติดต่อให้นายสมพร จำเลยที่ 1 และนายเณร จำเลยที่ 2 จัดหาบุคคล ซึ่งได้ นายประทุม สุดมณี และนายบำรุง ชัยเมือง ไปฆ่านายประมาณ แต่ภายหลังทั้งสองกลับใจไม่ยอมกระทำความผิด นายประมาณ ชันซื่อ จึงไม่ถูกฆ่าตายสมดังเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 83, 84 ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง

โดยในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ แต่กลับให้การปฏิเสธในชั้นศาล ส่วนจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เมื่อปี 2536 นับเป็นข่าวครึกโครมมากเนื่องจากขณะเกิดเหตุนายประมาณ ชันชื่อ ขณะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ส่วน นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ก็เป็นบุคคลมีชื่อเสียง และเป็นสถาปนิกชื่อดัง โดยทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบฝ่ายละหลายสิบปากโดยฝ่ายโจทก์มีนายตำรวจหลายนาย อาทิ พล.ต.ท.โสภณ สวิคามิน, พล.ต.ท.ธนู หอมหวน, พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย (ขณะนั้น) พ.ต.ต.ทวี สอดส่อง (ขณะนั้น) ฯลฯ โดยใช้เวลาพิจารณาคดี และสืบพยานนานกว่า 15 ปี ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษา ส่วน นายประมาณ ชันซื่อ ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

ส่วน นายอภิชิต อังศุธรางกูร หรือเล็ก สตูล เคยลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสตูล และทำธุรกิจเกี่ยวกับการสัมปทานรังนกในเขต จ.กระบี่ โดยเคยถูกลอบยิงจนได้รับบาดเจ็บสาหัสมาแล้ว
นายประมาณ ซันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา
นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ อดีตสถาปนิกชื่อดัง และนางยินดี ต่อสุวรรณ ภรรยา
กำลังโหลดความคิดเห็น