xs
xsm
sm
md
lg

ทนายยัน “หมัก” ขึ้นศาลฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสมัคร สุนทรเวช จำเลย
“ทนาย” ยัน “สมัคร” ไปฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีหมิ่น “สามารถ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.” พรุ่งนี้ (25 ก.ย.) แน่นอน ส่วน “สามารถ” เตรียมร่วมฟังคำพิพากษาเช่นกัน เชื่อศาลจะให้เป็นความธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ว่า ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.) เวลา 09.00 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และนายดุสิต ศิริวรรณ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ทั้งสองเป็นผู้ดำเนินรายการ “สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน” ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี และรายการ “เช้าวันนี้ที่ช่อง 5” สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อปี 2549 เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีระหว่างวันที่ 12-19 มกราคม 2549 ได้มีการกล่าวพาดพิงนายสามารถ ในการล็อกสเปกผู้รับเหมาโครงการประมูลของกรุงเทพมหานคร 10 โครงการ

โดย นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้จะเดินทางไปฟังคำพิพากษาด้วยอย่างแน่นอน ส่วนคำพิพากษาจะออกมาในแนวทางใดอยู่ที่ดุลพินิจของศาล ตนไม่ได้คาดหวังอะไรแต่ก็มีความเชื่อมั่นในศาลสถิตยุติธรรมว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมอย่างแน่นอน ซึ่งขอให้รอฟังคำพิพากษาศาลพรุ่งนี้

ด้าน นายประชุม ทองมี ทนายความนายสมัคร กล่าวยืนยันว่า พรุ่งนี้นายสมัครจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาอย่างแน่นอน คำพิพากษาจะออกมาในแนวทางใดขอให้รอฟังในวันพรุ่งนี้ ส่วนเรื่องประกันตัวนั้นได้เตรียมการไว้แล้วที่ยังจะคงใช้หลักเดิมที่เคยยื่นไว้ในศาลชั้นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 เม.ย.50 เห็นว่า การกระทำของนายสมัคร และนายดุสิต เป็นการเสนอข่าวให้ประชาชนเชื่อว่าการก่อสร้างของกรุงเทพมหานครมีเงื่อนงำ ทุจริต ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งนายสมัครจำเลยที่ 1 ได้เคยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทมาแล้วหลายครั้งโดยศาลปรานีให้รอการลงโทษไว้เพื่อให้ปรับตัวเป็นคนดี แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำผิดซ้ำในความผิดเดิมอีก จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งสอง 4 กระทงๆ ละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หากปรากฏว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยยังมีสิทธิ์ยื่นฎีกาได้ในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ประเด็นข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยต้องขออนุญาตฎีกาโดยให้ผู้พิพากษาหรืออัยการสูงสุดลงนามรับรอง
กำลังโหลดความคิดเห็น