ศาลอาญาไต่สวนพยานหาทรัพย์สิน บ.ทีพีไอ-บ.สเติร์นฯ หลังไม่ยอมจ่ายค่าปรับรายละเกือบ 7 พันล้าน ตามคำสั่งศาลฐานกระทำผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์ เมียเสี่ยประชัยอ้อน หากบังคับคดีตอนนี้พนักงาน 5 พันคน ต้องเดือดร้อน ศาลนัดไต่สวนอีกครั้ง 13 ต.ค.นี้
วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนสืบหาทรัพย์สินบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ทีพีไอโพลีน บริษัท สเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร ในฐานนะกรรมการบริหาร บมจ.สเติร์นฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ที่กระทำ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 ในการเผยแพร่ข้อมูลนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้ต่อตลาดหลักทรัพย์ หรือการปั่นหุ้น ซึ่งศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2550 ให้จำคุกนายประชัย และ นายเชียรช่วง คนละ 3 ปี ปรับบริษัท ทีพีไอ และบริษัท สเติร์นฯ รายละ 6.9 พันล้านบาทเศษ แต่บริษัททั้งสองยังไม่ชำระค่าปรับ โดยอ้างว่าไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ
โดยในวันนี้ ศาลได้ไต่สวนพยานรวม 3 ปาก ประกอบด้วย นางปราลี สุคนธมานย์ ผอ.ฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขึ้นเบิกความระบุข้อมูลงบการเงินและแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีที่บริษัทใช้ยื่นต่อ ก.ล.ต.เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งบริษัทมีสินทรัพย์รวม 73,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 มิ.ย.2551
ด้านทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการบริหารบริษัท ทีพีไอโพลีน เบิกความยืนยันว่าบริษัทยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้ขอขยายระยะเวลาการฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลางไปอีก 1 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ทั้งนี้ การดำเนินการใดๆ ต้องอยู่ในแผนฟื้นฟู และไม่สามารถนำสินทรัพย์ของบริษัทไปค้ำประกันบุคคลอื่นได้
ขณะที่ นางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ ภริยานายประชัย ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ทีพีไอโพลีน และกรรมการแผนฟื้นฟูกิจการ เบิกความว่า ตนมีหน้าที่ดูแลงานบุคคล ธุรการ เท่านั้น ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสินทรัพย์ของบริษัท แต่จะมีรายละเอียดทั้งหมดอยู่ในสารบบ ทรัพย์สินเพื่อส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในการฟื้นฟูกิจการ นอกจากนี้ นางอรพิน ยังได้แถลงต่อศาลด้วยน้ำตา ขอให้ศาลรอให้คดีถึงที่สุดก่อนจึงนำเข้าสู่การบังคับคดี เพราะหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทชำระเงินค่าปรับกว่า 6,900 ล้านบาท บริษัทต้องประสบปัญหาด้านการเงินไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ อีกทั้งต้องแบกรับภาระพนักงานกว่า 5,000 คน หากบังคับคดีตอนนี้ บริษัทจะได้รับความเสียหายอย่างมาก ศาลชี้แจงว่า ศาลเชื่อว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา หากจำเลยไม่ได้กระทำผิด ศาลอุทธรณ์ก็จะพิพากษาเปลี่ยนแปลงให้เอง แต่หากจำเลยกระทำผิดจริง ศาลจะพิจารณาความเสียหายตามจริง โดยศาลไม่ได้เลือกปฏิบัติ ความจริงหากเป็นบุคคลทั่วไป อาจถูกขังระหว่างอุทธรณ์ไปแล้ว นอกจากนี้ หากผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริหารกิจการได้ไม่ดี ศาลอาจส่งหนังสือถึงศาลล้มละลายกลางพิจารณาเปลี่ยนตัวผู้บริหารฟื้นฟูกิจการได้
อย่างไรก็ตาม ศาลได้นัดไต่สวนพยานอีกครั้งในวันที่ 13 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น.พร้อมออกหมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ทีพีไอโพลีน มาเบิกความในวันดังกล่าว และกำชับอัยการโจทก์ให้ดำเนินการบังคับคดีบริษัท สเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 ให้ร่วมชำระค่าปรับด้วย ซึ่งหากอัยการไม่เร่งดำเนินการ ศาลจะส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.