“นิติธร ล้ำเหลือ” ฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ร้องศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ขณะที่ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนหรือไม่ 3 ก.ย.นี้
วันนี้ (2 ก.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เวลา 15.00 น.นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ด้านสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เดินทางไปยื่นฟ้อง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้อง ต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นผู้ถูกฟ้อง กรณีที่ นายสมัคร นายกรัฐมนตรี ลงนามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 2 ก.ย.2551 เพื่อขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว โดยที่ผู้ฟ้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินโดยเร่งด่วน เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวด้วยที่จะให้ศาลมีคำสั่งให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวสิ้นผลบังคับเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา
ตามคำฟ้องสรุปว่า รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่เป็นเหตุผลไม่เข้าองค์ประกอบตามที่กำหนดไว้ตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งเนื้อหาและข้อกำหนดตามประกาศฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากสภาพข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าใน กทม.จะมีความวุ่นวาย หรือสถานการณ์ใดๆ อันจะเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ก.แม้กลุ่มพันธมิตรฯจะได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ ในการสื่อสาร แสดงความคิดเห็น ตรวจสอบการดำเนินการกระทำของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมตลอดถึงการแสดงออกซึ่งหน้าที่ของประชาชน การกระทำเหล่านี้ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมที่ได้ชุมนุมมาเป็นระยะเวลา 101 วัน ก็ไม่ปรากฏว่า จะมีเหตุรุนแรงหรือความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น แม้ผู้นำรัฐบาลและบุคคลบางกลุ่มจะไม่เห็นด้วยก็ไม่ปรากฏว่าจะได้มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น อีกทั้งขณะนี้ความเห็นต่างของทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว
โดยเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 28 ส.ค.นั้น ก็เป็นกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยไม่มีเหตุผล เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และผลจากการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากแสดงออก ซึ่งการต่อต้านอย่างกว้างขวางและเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น เพราะเป็นการกระทำของตำรวจฝ่ายเดียว ส่วนกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 01.00 น.วันที่ 2 กันยายน ก็เป็นการกระทำของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ฝ่ายเดียว โดยกลุ่ม นปช.เคลื่อนตัวจากสนามหลวง เข้ามาเพื่อก่อความรุนแรงแก่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุม 2 กลุ่มเข้าทำร้ายกันแต่อย่างใด ทั้งสองเหตุการณ์ล้วนเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นของบุคคลฝ่ายเดียว และหากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบย่อมที่จะป้องกันเหตุดังกล่าวได้ตามปกติอยู่แล้ว แต่รัฐบาลหาได้กระทำไม่ เพิกเฉยเสมือนพยายามยุยงส่งเสริมเพื่อให้เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่ม นปช.นั้น มีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยว่ามีบุคคลในรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวก่อเหตุดังกล่าว
ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและหรือบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสร้างสถานการณ์โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือในการสลายการชุมนุมหรือขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กรณีดังกล่าวจึงยังไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเมื่อพิจารณาตามประกาศยังพบว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสาระสำคัญเกินความจำเป็น ซึ่งผู้ชุมนุมกำลังชุมนุมเพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐ ประกาศดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ทำลายหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจและประกาศอาจจะกลับกลายเป็นการเร่งเร้าให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านจำนวนมาก
โดยผู้ฟ้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากพักอาศัยและทำงานในเขต กทม.ซึ่งเป็นเขตที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใช้บังคับทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง อาศัยเหตุดังกล่าวจึงนำคดีมาฟ้อง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และหากคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุดขอได้โปรดส่งคำฟ้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ผู้ฟ้องยังขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินโดยเร่งด่วนด้วยเพื่อกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ ฟ.47/2551 เพื่อจะพิจารณาคำฟ้องว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลที่จะมีคำสั่งประทับรับฟ้องหรือไม่ และจะไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ โดย นายนิติธร ทนายความ ผู้ฟ้องคดี เปิดเผยว่า หลังจากยื่นฟ้องแล้ว เจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งให้ตนทราบว่าศาลจะมีคำสั่งในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ย.) แต่ทั้งนี้ศาลไม่ได้ระบุเวลาที่แน่นอน