คุก"วัฒนา" 10 ปี ใช้อำนาจข่มขู่จนท.ที่ดินออกโฉนดคลองด่าน 1,900 ไร่ ทับที่คลอง-ถนน สาธารณะเอื้อประโยชน์บริษัทตัวเอง นำที่ดินไปขายสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ศาลออกหมายจับซ้ำมารับโทษอายุความ 15 ปี
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนคดีพร้อองค์คณะ 9 คนคดีทุจริตคลองด่านออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีเลขที่ อม.2/2550 ระหว่างอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่ ตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใด มอบให้หรือหามาซึ่งทรัยพ์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผผู้อื่นและเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 84, 148, และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542
ก่อนอ่านคำพิพากษา พล.ต.อ.จงรักษ์ จุทานนท์ รองผบ.ตร. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามจับกุมตัวนายวัฒนา ตามหมายจับของศาลฎีกาฯ แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า ในการติดตามตัวได้ทราบข้อมูลจากพล.ต.ต.อิทธิพล พิริยภิญโญ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สระแก้ว ซึ่งพรหมติดกับประเทศกัมพูชา เชื่อว่าจำเลยได้หลบหนีไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งจำเลยมีความรู้จักกับนักการเมืองและนักธุรกิจประเทศกัมพูชา รวมทั้งมีบ่อนคาสิโนในกัมพูชาด้วย ซึ่งมีผู้พบเห็นจำเลยอยู่ที่ฝั่งปอยเปตและกรุงพนมเปญ อีกทั้งได้มีผู้พบเห็นบุคคลในครอบครัวเดินทางข้ามไปในประเทศกัมพูชา จึงเชื่อว่าจำเลยได้หลบหนีไปอยู่ประเทศกัมพูชาก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษา และวันนี้ยังไม่สามารถนำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาได้
ต่อมาศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาจำเลยลับหลัง โดยมีอัยการโจทก์และทนายความมาร่วมฟังคำพิพากษา ซึ่งเนื้อหาคำพิพากษามีจำนวน 88 หน้าระบุว่า ขณะจำเลยเป็น รมช.มหาดไทยและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจบังคับซื้อที่ดินจากราษฎรหมู่ที่ 11 และ 12 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ หลายรายหลายแปลง รวมเนื้อที่ 1,900 ไร่ อันเป็นที่ดินของรัฐที่มีประกาศหวงห้ามให้เป็นที่เทขยะมูลฝอย บางแปลงจดคลองและถนนสาธารณะในนามบริษัทปาล์มบีช ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่มีบริษัท นอร์ทเทอร์นรีซอส จำกัด ที่จำเลยถือหุ้นอยู่ด้วย ต่อมาจำเลยใช้อำนาจข่มขืนหรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการ สาขาบางพลี และเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ออกโฉนดที่ดินรวม 5 แปลงดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย และจำเลยเป็นผู้ใช้ด้วยการก่อ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองกระทำผิดโดยปฎิบัติ หรืองดเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต โดยจำเลยได้มอบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจ.สุมทรปราการ 3 คน ๆ ละ 1 องค์ ต่อมานายพรชัย ดิสกุล ช่างรังวัด ได้นำพระเครื่องดังกล่าว 1 องค์ มามอบให้พนักงานสอบสวนเป็นของกลาง โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายและริบพระเครื่องดังกล่าว รวมทั้งขอให้นับโทษจำเลยในคดีที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 11 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4502/2549 ของศาลอาญา บุกรุกป่ากระปง จ.พังงา
จำเลยให้การปฎิเสธ โดยก่อนไต่สวนจำเลยยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย 4 ประเด็น 1 ศาลฎีกาฯมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ 2.ฟ้องโจทก์บรรยายองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.148 และ ม.157 ประกอบ ม.84 หรือไม่ 3.ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และ 4.ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.84 หรือไม่
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคำฟ้องโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ตาม ม.9 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับแก่จำเลยคนเดียว แต่ใช้กับบุคคลใดก็ตามที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งถูกฟ้องที่มีมูลแห่งการกระทำผิดตาม ม.9 และฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบ ตาม ป.อาญา ม.148 และ ม.157 ประกอบ ม.84 โดยฟ้องโจทก์ได้ชี้ช่องให้ศาลเรียกพยานมาไต่สวนเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลยแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้ว่าฟ้องโจทก์จะไม่ระบุวันเวลาแน่นอนว่าจำเลยกระทำผิดวันใด แต่ก็ได้ระบุเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดไว้ซึ่งเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี ประกอบกับการบังคับซื้อที่ดินและออกโฉนดตามฟ้องเนื้อที่ 1,900 ไร่ ย่อมเห็นได้อยู่ในตัวว่าการบังคับขู่เข็ญหรือจูงใจต้องใช้เวลาหลายครั้งติดต่อกันไป ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยและบริวารบังคับซื้อที่ดินจากราษฎรหลายรายตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะฯมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า หากที่ดินที่จำเลยซื้ออยู่ในลักษณะปิดล้อมที่ดินแปลงอื่น ก็เป็นไปตามสภาพที่ตั้งของที่ดินแปลงนั้นๆไม่ใช่เป็นการซื้อเพื่อเจตนาปิดล้อมที่ดินแปลงอื่นจนกระทั่งเจ้าของที่ดินนั้นยอมขายให้แก่จำเลย และที่จำเลยกล่าวในทำนองว่าจะเอาที่ดินถมที่ทำให้ราษฎรที่ไม่ยอมขายนั้นเข้าออกไม่ได้ ก็เป็นการกล่าวตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ได้เป็นการบังคับว่าผู้นั้นต้องขายที่ดินให้กับจำเลยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยและบริวารได้บังคับซื้อที่ดินจากราษฎรหลายรายตามฟ้อง และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้ใช้อำนาจในการนี้โดยมิชอบหรือไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า การออกโฉนดที่ดินตามฟ้องทั้ง 5 แปลง ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายหรือไม่ จากการร้องเรียนของราษฎร ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ไปยังส่วนราชการหลายแห่งปรากฏใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน สำนักนายกรัฐมนตรีคำสั่งที่ 95/2546 ลงวันที่ 3 เมษายน 2546 ตั้งกรรมการตรวจสอบและสอบสวนเรื่องการทุจริตการก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ โดยมี พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษขณะนั้นเป็นประธาน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายชุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีราษฎรให้พื้นที่นำชี้ตรวจสอบพิกัดคลองต่างๆในโฉนดที่ดินนั้น ด้วยเครื่องมือหาค่าพิกัดด้วยการวัดสัญญาณดาวเทียม ( จีพีเอส) ตรวจสอบความเป็นมาที่เทขยะมูลฝอยของทางราชการ โดยคณะกรรมการต่างเห็นว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษมีหนังสือแจ้งกรมที่ดินตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบและสรุปความเห็นว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยฝ่าฝืนระเบียบและกฎหมาย โดยรุกล้ำคลองสาธารณะ ปรากฏข้อพิรุจในการยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดิน นำหลักฐานของที่ดินแปลงอื่นมาอ้างออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองไม่ได้ไประวังแนวเขตที่สาธารณะขณะรังวัด และจากการตรวจสอบระวางเดินสำรวจปี 2548 พบว่ามีลวดลายถนนในที่ดินดังกล่าวด้วย คณะกรรมการที่กรมที่ดินตั้งขึ้นเห็นว่าเป็นการออกโฉนดทับคลองสาธารณะ จึงมีความเห็นให้แก้ไขรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ โดยกันเขตที่ดินที่ทับคลองสาธารณะและแก้ไขเรื่องราวการออกโฉนดที่ดินให้ถูกต้อง พร้อมทั้งหมายเหตุในเอกสารให้ตรงความเป็นจริง แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมากจนไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าออกโฉนดทับคลองสาธารณะเนื้อที่จำนวนเท่าใดและไม่สามารถชี้แนวเขตได้ ประกอบกับกระทรวงการคลังผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ได้ส่งมอบที่ดินคืนโดยไม่คัดค้าน กรมที่ดินจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดิน 4 แปลง ด้วยเหตุผลที่คณะกรรมกาต่างๆ เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการพิจารณาออกโฉนดที่ดินตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเห็นของ ป.ป.ช.ที่ปรากฏตามสำนวนการไต่สวนมีน้ำหนักเชื่อว่ายังคงมีสภาพเป็นที่เทขยะอยู่ รวมทั้งมีราษฎรให้การยืนยันและปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ปกครองไม่ออกไประวังแนวเขตที่ดินสาธารณะขณะรังวัดออกโฉนด องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ 8 ต่อ 1 ว่า การออกโฉนดทั้ง 5 แปลง ไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย
จำเลยข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สำหนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการสาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเคยเป็น ส.ส.สมุทรปราการ ระหว่างวัน – เวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้รับมอบหมายให้กำกัลป์ดูแลกรมที่ดิน เมื่อจำเลยกลับมาเป็น รมช.มหาดไทยอีกครั้ง ก็ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมที่ดิน ซึ่งจำเลยได้คว้านซื้อที่ดินจากราษฎร 1,900 ไร่ ในบริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด ที่จำเลยถือหุ้นอยู่ ต่อมา บจก.ปาล์มบีช ฯ ได้ซื้อที่ดินจาก บจก.เหมืองแร่ ฯ ประมาณ 900 ไร่ ราคา 88 ล้านบาท โดยไม่ได้ชำระราคาที่ดินให้ บจก.ปาล์มบีช แต่ตีราคาที่ดินเป็นหุ้นในบริษัทแทน โดยจำเลยให้ บจก.นอร์ทเทิร์น ฯ ที่เป็นบริษัทจำเลย ถือหุ้นแทน องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า จำเลยย่อมมีส่วนได้เสียใน บจก.ปาล์มบีช น่าเชื่อว่าเป็นมูลเหตุที่จำเลยกับพวกกว้านซือที่ดินจากราษฎรในนาม บจก.เหมืองลานทอง และขอออกโฉนดในนาม บจก.ปาล์มบีช เพราะจำเลยมีส่วนได้เสีย เพราะจำเลยได้ว่าจ้างนายกิติชัย พิมพาภรณ์ อดีตข้าราชการกรมที่ดินมาทำงานให้ ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายสุรพงษ์ ไชยนิตย์ ข้าราชการฝ่ายทะเบียน สนง.ที่ดินสาขาหนองแขม กรุงเทพมหานคร ต่อมานายทวี ชูทรัพย์ อธิบดีกรมที่ดินขณะนั้น มีคำสั่งให้นายสุรพงษ์ ไปช่วยราชการที่ สนง.รมช.มหาดไทย เพื่อช่วยเหลือจำเลยทำงานในหน้าที่และงานส่วนตัว โดยนายสุรพงษ์ ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการจดทะเบียนรับโอนที่ดิน บจก.เหมืองแร่ลานทอง รวมทั้งประสานเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินให้แก่ บจก.ปาล์มบีชฯ นอกจากนี้ยังมีนายสุทัศน์ ธรรมระคิด อดีตช่างรังวัด เป็นผู้ช่วยเหลือนายกิติชัย ในการนำชี้ปักหลักเขตที่ดิน อันเป็นการก้าวก่ายการทำงานและครอบงำดุลพินิจการรังวัดออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงาน กรมที่ดินจึงมีคำสั่งให้นายพรชัย ดิสกุล ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่กรมประมง และมีความสามารถในการรังวัดที่ดินที่น้ำท่วมถึงไปช่วยราชการที่ สนง.ที่ดินสาขาบางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งจำเลยได้ตกลงซื้อกล้องสำรวจและประมวลผล 2 เครื่องราคา 800,000 บาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการรังวัดที่ดินดังกล่าว ทั้งนายสุรพงษ์ เคยนำเอกสารเกี่ยวกับการขอออกโฉนดที่ดินให้นายสมชัย แตงน้อย หัวหน้าฝ่ายทะเบียนดูและบอกว่าจำเลยฝากให้ช่วยดูแลการออกโฉนดที่ดินล่าช้า ซึ่งนายสมชัย เคยถูกจำเลยเรียกไปต่อว่าและถูกย้ายไปอยู่กองสำรวจและควบคุมที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครอยากอยู่เป็นการถูกกลั่นแกล้งและลดชั้น ส่วนนายเกรียงศักดิ์ ตันฑนัย ปลัด อ.บางบ่อขณะนั้นทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวน้ำท่วมถึง บางแปลงติดคลองสาธารณะ การรังวัดออกโฉนดอาจรุกล้ำที่สาธารณะหรือที่ดินของผู้อื่น จึงไม่ยอมลงชื่อรับรองการรังวัดออกโฉนดที่ดินตามที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอบางบ่อ ต่อมานายสมพร อัศวเหม น้องชายจำเลย มาพูดกับนายเกรียงศักดิ์ ให้ลงชื่อรับรอง และหากเกิดอะไรขึ้นจำเลยที่เป็นรัฐมนตรีจะช่วยดูแลให้ นายเกรียงศักดิ์ จึงลงรายมือชื่อรับรอง ส่วนนายวงษ์ ชาญสมร ผู้ใหญ่บ้าน ม.11 ต.คลองด่าน ให้การว่า ที่ยอมลงชื่อในเอกสารรับรอง เนื่องจากเกรงใจจำเลย และจำเลยยังเคยเรียกนายไพศาล กาญจนประพันธ์ เจ้าพนักงานที่ดินสมุทรปราการสาขาบางพลีให้ไปพบจำเลยที่บ้านเพื่อขอให้รีบออกโฉนดที่ดินให้ นอกจากนี้จำเลยยังเคยผลักประตูห้องทำงานของนายไพศาล และพูดกับนายไพศาลว่า “คุณไพศาล คุณพูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง ผมเป็นรัฐมนตรีจะให้คุณดังก็ได้ จะให้คุณดับก็ได้” และจำเลยเคยเรียกประชุมเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินสาขาบางพลี ให้เร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้กับจำเลย แม้สภาพความจริงจะเป็นทะเลก็ตาม อย่างไรก็ตามนายไพศาล ยอมลงนามให้ บจก.ปาล์มบีชฯ เพียง 2 แปลง ส่วนอีก 3 แปลง น้ำทะเลท่วมถึงจึงไม่กล้าลงนามออกโฉนดที่ดินให้ นายไพศาลจึงส่งเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินทั้ง 3 แปลงให้กรมที่ดินพิจารณาตามที่ผู้ตรวจราชการที่ดินสั่ง ต่อมานายไพศาล ได้ถูกย้ายไปเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้ครอบครัวต้องเดือดร้อนเพราะมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ต่อมานายไพศาล ได้พบกับนายผัน จันทรปาน อธิบดีกรมที่ดินขณะนั้นเพื่อชี้แจงเหตุที่ไม่ยอมออกโฉนดที่ดินทั้ง 3 แปลง ซึ่งนายผัน ตอบว่า “ย้ายไปก็ดีแล้ว เพราะหากอยู่ที่เดิมเกรงจะได้รับอันตราย” ภายหลังจำเลยได้ทวงกล้องสำรวจ 2 ตัวคืนจากสำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการ นายสมมาตร ดลมินทร์ เจ้าพนักงานที่ดินสาขาบางพลี จ.สมุทรปราการขณะนั้น ได้เล่าเรื่องที่จำเลยไม่พอใจให้นายเสนาะ เทียนทอง รมช.มหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ขณะนั้นทราบ
ช่วงกลางปี 2536 หลังจากจำเลยพ้นจากตำแหน่ง จำเลยได้เป็นประธานกรรมมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกนายอนันต์ อนันตกูล ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายผัน จันทรปาน อธิบดีกรมที่ดินไปพบที่โรงแรมปริ้นเซส ส่วนนายอนันต์ ได้เรียกนายสมมาตรไปพบและสอบถามกรณีไม่ยอมลงนามในโฉนดที่ดินทั้ง 3 แปลง ซึ่งนายสมมาตร ชี้แจงให้จำเลยทราบต่อหน้านายอนันต์ และนายผัน ว่าที่ดินดังกล่าวมีบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในทะเล หากตัดส่วนดังกล่าวออกก็จะออกโฉนดที่ดินให้ จำเลยจึงยอมรับ ต่อมามีการรังวัดที่ดินใหม่และออกโฉนดที่ดินได้ นายสมมาตร นายคมชิต ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียน และนายพรชัย ได้รับการประสานจากนายกิติชัย ให้นำโฉนดที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวไปมอบให้จำเลยที่บ้าน จำเลยได้มอบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองคำแก่บุคคลดังกล่าวคนละ 1 องค์ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น องค์คณะผู้พิพากษา จึงมีมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่าจำเลยได้ใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในนาม บจก.ปาล์มบีชโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยอีกว่า การใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจดังกล่าวนั้นเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งอันเป็นความผิดตาม ป.อาญา ม. 148 หรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า อำนาจในตำแหน่ง รมช.มหาดไทย มิได้จำกัดเฉพาะงานที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น จำเลยยังมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น และยังมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2535 รวมถึงจำเลยมีสิทธิเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีข้อเสนอแนะให้ความเห็น ตลอดจนมีมติในกิจการของกระทรวง กรม อื่นใดทั้งในและนอกกำกับดูแลของจำเลย สอดคล้องกับคำเบิกความของนายบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการมีอำนาจแสดงความคิดเห็นและลงมติในการแต่งตั้งปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 11 อธิบดีซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 10 ทุกกระทรวง กรม และมีอำนาจแสดงความคิดเห็นต่อการแต่งตั้งข้าราชการดังกล่าว มิใช่เฉพาะกระทรวง ทบวง กรม ที่ต้นสังกัดเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีนายบัญญัติ จันทร์เสนะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมที่ดินเบิกความทำนองเดียวกันทั้งยังมีนายศิริ เลิศธรรมเทวี ผู้อำนวยการสำนักงานนิติธรรม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายธีระศักดิ์ ลิ้มประสิทธิ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เบิกความถึงอำนาจบังคับบัญชาให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการกรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ระวังแนวเขตสาธารณะในการออกโฉนดที่ดินตามฟ้อง ดังนั้นที่จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมที่ดินจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อาญา ม.148 นั้นฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้และนำสืบทำนองว่า จำเลยถูกดำเนินคดีเพราะถูกกลั่นแกล้งจากระบอบทักษิณ โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น กลั่นแกล้งจำเลย เพราะพรรคการเมืองของจำเลยไม่ยอมยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย แม้อาจมีมูลความจริงอยู่บ้าง แต่เหตุดังกล่าวก็เกิดจากที่จำเลยมีจุดอ่อนให้การเมืองเข้ามาสอดแทรกได้
ที่จำเลยต่อสู้ว่าพนักงานสอบสวนและคณะอนุกรรมการไต่สวนปปช.ได้สอบสวนพยานหลักฐานก่อนแจ้งข้อหาแก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าในการรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องทำภายหลังแจ้งข้อหาแก่จำเลย ทั้งเมื่อมีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยก็ให้โอกาสจำเลยแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ ปรากฏตามคำให้การของจำเลย รวม 887 แผ่น ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงมีมติ 8ต่อ 1 ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 148 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ 5ต่อ 4 ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ดังนั้นที่จำเลยให้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 จึงไม่ต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
ส่วนพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองของกลาง องค์คณะผู้พิพากษามีมติ 5ต่อ4ว่า เป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้กระทำผิด
องค์คณะผู้พิพากษาได้ประชุมปรึกษาอัตราโทษ ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลย เห็นสมควรให้ลงโทษจำคุก 10 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ริบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทอง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 11 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4502/2549 ของศาลอาญานั้น ยังไม่ปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว คำขอส่วนนี้จึงให้ยกเสีย
เนื่องจากจำเลยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาฯได้ออกหมายจับจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษา และปรับจำเลยตามสัญญาประกัน แต่ก็ไม่ได้ตัวมาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาฯจึงได้ออกหมายจับจำเลยรับโทษตามคำพิพากษาต่อไป การที่จำเลยหลบหนีคดีนี้มีอายุความ 15 ปี นับแต่วันที่จำเลยหลบหนี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98
ภายหลังนายไพบูลย์ โพธิ์น้อย ทนายความของนายวัฒนา กล่าวว่า ถึงขณะนี้ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากลูกความ การมาศาลในวันนี้ถือเป็นการทำหน้าที่ทนายความครั้งสุดท้าย เมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยก็ต้องยอมรับผลคำพิพากษา ยืนยันว่าตนได้ทำหน้าที่ทนายความต่อสู้แก้ต่างให้จำเลยอย่างดีที่สุดแล้ว หลังจากนี้คงไม่แจ้งผลให้นายวัฒนาทราบ เพราะนายวัฒนาคงจะทราบผลจากสื่อมวลชนเอง
ด้านสุรศักดิ์ ตรีรัตน์กูล รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เปิดเผยว่า เรื่องการดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ต้องรอให้สตช.ประสานมาที่อัยการ เพื่อทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายวัฒนา 10 ปี ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปหานายพูนผล อัศวเหม บุตรชายนายวัฒนา และรองเลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน โดยนายพูนผลได้บอกสั้นๆว่า “ทราบข่าวแล้วว่าพ่อโดนตัดสินอย่างไร แต่ตอนนี้ตนอยู่ต่างประเทศ ไม่สะดวกพูดคุยด้วย” ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแล้วตัวนายวัฒนาทราบผลการตัดสินคดีหรือยัง นายพูนผล กล่าวว่า “ทราบแล้ว” จากนั้นนายพูนผลก็รีบวางโทรศัพท์ทันที