xs
xsm
sm
md
lg

DSI คุมเข้มเกมอันตราย ป้องพฤติกรรมเลียนแบบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ดีเอสไอ จัดประชุมสุดยอดแก้ปัญหาเกมรุนแรง ไฟเขียวดึงเอกชนมีส่วนร่วมจัดเรตติ้งเกมแทนภาครัฐที่จัดทำต้วมเตี้ยม พร้อมเดินหน้ากวาดล้างแผ่นเกมเถื่อนจริงจัง

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมสุดยอดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกมในประเทศไทย ว่า ดีเอสไอรับเป็นเจ้าภาพในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาเยาวชนเล่นเกมแล้วเกิดพฤติกรรมเลียนแบบก่อเหตุฆ่าคนขับรถแท็กซี่ จึงจำเป็นต้องเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความเห็นว่า อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากเกมออนไลน์หรือสาเหตุอื่นๆ โดยมีการเชิญผู้ที่เล่นเกมจีทีเอมาร่วมพูดคุย ว่า จากประสบการณ์ที่เล่นเกมนี้มาเป็นเวลานาน เหตุใดจึงไม่คิดก่ออาชญากรรม นอกจากนี้ ยังต้องเรียกร้องไปยังผู้ประกอบการร้านจำหน่ายเกมให้ช่วยกันสอดส่องดูแลเยาวชนที่เล่นเกมรุนแรง ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องเร่งกวาดล้างปราบปรามแผ่นเกมละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ซึ่งจำหน่ายให้กับเยาวชนทุกระดับอายุ สำหรับการแก้ปัญหาระดับนโยบายได้มีการประสานใกล้ชิดกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเกมในอินเทอร์เน็ต โดยมั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาเกมออนไลน์กับเยาวชนในจุดที่สมดุล

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ กล่าวว่า ขณะนี้มีเกมที่เป็นอันตรายมากกว่าจีทีเอหลายเกม เช่น เกมฆ่าตำรวจ เกมข่มขืน เกมปลูกฝิ่น แต่ละฝ่ายจึงไม่ควรโทษกันไปมา แต่ควรจะหันมาช่วยกันหาทางแก้ไข เพราะเกมออนไลน์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหา เกมอยู่คู่กับเด็ก ถ้าจะป้องกันไม่ให้มีเกมก็ต้องไม่ให้มีเด็กเกิดขึ้นมา จึงมองว่าต้องควรคุมการเล่นเกมให้เหมาะสมมากกว่า ทั้งนี้ เกมไม่ต่างจากละครโทรทัศน์ ซึ่งมีฉากการใช้ความรุนแรงและข่มขืนเหมือนกัน แต่ไม่มีใครหยิบยกมาพูด ดังนั้นการแก้ปัญหาเกมจึงต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจว่าเกมคืออะไร เพื่อที่จะหาแนวทางแก้ไขได้อย่างถูกต้อง

พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการเกม ผู้ปกครอง และเยาวชนที่เล่นเกม ทุกคนเห็นด้วยกับการจัดเรตติ้ง แต่ไม่ต้องการให้คณะกรรมการจัดเรตติ้งมาจากภาครัฐฝ่ายเดียว จึงอยากเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดตั้งคณะกรรมการจัดเรตติ้งในรูปแบบของภาคเอกชน เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์จะตรวจสอบกันเองว่า เกมใดมีเนื้อหาไม่เหมาะสมก็จะส่งให้ภาครัฐเข้ามาดำเนินการ ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐมีอำนาจแต่ไม่รู้จักและตามไม่ทันเกมใหม่ๆ ซึ่งคนในวงการเกมจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็วกว่า

“การจัดเรตติ้งที่กระทรวงวัฒนธรรมกำลังดำเนินการอยู่ล่าช้ามาก หากต้องการทำจริงจังควรไปศึกษาและนำรูปแบบระดับเรตติ้งของต่างประเทศมาเป็นกรอบ และจัดเรตติ้งตามวัฒนธรรมและค่านิยมของไทย ในส่วนของดีเอสไอที่ผ่านมายังไม่เคยจับกุมแผ่นเกมเถื่อน เพราะมูลค่าของกลางต่ำ จึงไม่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ แต่หลังจากนี้จะร่วมกันปราบปรามจับกุมเกมละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจังขึ้น” พ.ต.อ.ญาณพล กล่าว

นายเลิศชาย กันภัย กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้มีเกมออนไลน์ในประเทศไทย รวม 57 เกม ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมเกมออนไลน์พยายามทำให้เกมออนไลน์เติบโต แต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ หากมีการดูแลอุตสาหกรรมเกมออนไลน์อย่างจริงจัง เชื่อว่าจะเติบโตเหมือนกับเกมออนไลน์ทั่วโลก ส่วนปัญหาความรุนแรงของเกมยอมรับว่าบางเกมมีความรุนแรง แต่ที่รุนแรงกว่า คือ ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ไม่มีการจัดเรตติ้งความรุนแรง ขณะที่ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องมีการคัดกรอง และจัดเรตติ้งก่อนนำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น