รวบ 2 หนุ่มจีนแฮกข้อมูลบัตรเครดิตและเอทีเอ็ม ใช้วิธีการสุดแยบยลเอากล้องจิ๋วไปส่องดูรหัสบัตรก่อนก๊อปปี้ไปกดเงิน สารภาพเรียนรู้วิธีการราว 7 เดือน ก่อนลงมือเอาเงินไปเสี่ยงโชคที่มาเก๊า และเลือกประเทศไทยเพราะมักมีตู้เอทีเอ็มในที่โปร่งสะดวกต่อการลงมือ และยังใช้รถติดตราสำนักนายกตบตาตำรวจ เผยทำมาราว 1 ปี เสียหายกว่า 100 ล้าน เชื่อน่าจะมีแก๊งร่วมขบวนการอีกเตรียมขยายผล
วันนี้(7 ส.ค.) เมื่อเวลา 19.00น. ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธ์ ม่วง ผบช.ก. พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รองผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว (ผบก.ทท.) แถลงผล พ.ต.ท.ธนิต ไทยวัชรมาศ พ.ต.ท.พันธนะ นุชนารถ รองผกก.ฝ่ายปฏิบัติการ 10 บก.ทท. ร่วมกันจับกุมนายชานไก เชียง อายุ 47 ปี สัญชาติอังกฤษ เชื้อชาติมาเก๊า และนายชาน กว๊อก เหลียง อายุ 43 ปี สัญชาติฮ่องกง ข้อหา ร่วมกันทำหรือมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือสำหรับให้ได้ข้อมูลในการปลอมแปลง พร้อมของกลางเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็มและดัดแปลงเครื่องสกิมเมอร์ให้เหมาะกับตู้แต่ละธนาคร
พล.ต.ท.สมยศ กล่าวว่า ได้รับ ข้อมูลกับสมาคมธนาคารไทยพบว่ามีถูกปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็มจำนวนมาก ล่าสุด วันที่ 5 สิงหาคมได้รับแจ้งว่า ตู้เอทีเอ็มภายในปั้มน้ำมันเชลล์ ถนนจันทน์ มีคนร้ายลักลอบนำอุปกรณ์ขโมยข้อมูลบัตรเอทีเอ็มมาติดตั้งไว้ จนวันที่ 7 สิงหาคม ชุดสืบสวน บก.ทท. เฝ้าติดตามพบรถยนต์ยี่ห้อนิสสันเซฟิโร่สีดำ ทะเบียน วก-9384 กทม. เข้ามาจอดและเข้าติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างที่ตู้เอทีเอ็ม จึงเข้าจับกุม และตรวจสอบรถดังกล่าวสวมทะเบียนปลอม จึง จับกุม คนร้ายทั้ง 2โดยนำมาสอบสวนรบสารภาพว่าร่วมกับเพื่อนชาวฮ่องกงที่ยังหลบหนี ตั้งแก๊งโจรกรรมข้อมูลและปลอมแปลงบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม โดยใช้วิธีจะนำเครื่องสกิมเมอร์ บันทึกข้อมูลบัตร ติดตั้งที่ตู้เอทีเอ็มในช่องเสียบบัตร และติดตั้งอำพรางซ่อนกล้องรูเข็มไว้ที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อดูรหัสบัตร โดยศึกษาวิธีการทำ 6-7 เดือน ก่อนเลือกทำเลประเทศไทยเนื่อจากที่ตู้เอทีเอ็มในที่โล่งเยอะต่างจากฮ่องกง หรือมาเก๊าที่ตู้เอทีเอ็มจะอยู่ในตัวธนาคาร
“คนร้ายจะใช้วิธีเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ตามตู้อทีเอ็มที่อยู่ในที่โล่ง อาทิปั๊มน้ำมัน หรือหน้าร้านสะดวกซื้อ เช่น ตู้เอทีเอ็มตามปั้มน้ำมัน ปตท. ถนนพระราม 2 ถนนบางนาตราด ถนนพระราม 3 และบริเวณย่านรังสิต โดยอาศัยเวลาเช้าตรู่เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ จากนั้นคนร้ายจะจอดรถรอซึ่งในรถจะมีอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์เป็นเครื่องรับสัญญาณข้อมูลบัตรและมอนิเตอร์รับภาพสำหรับดูรหัสบัตร เมื่อได้ข้อมูลตามต้องการคนร้ายจะถอดอุปกรณ์ออก แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปปลอมบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็มเพื่อใช้กดเงินต่อไป จากการสอบสวนทั้ง2รับว่าก่อเหตุในเมืองไทยมากว่า 1 ปีแล้ว คาดว่ามูลค่าความเสียหายกว่า 100ล้านบาท” ผบช.ก. กล่าว
ด้านพล.ต.ต.ปัญญา เป็นครั้งแรกที่จับกุมเครือข่ายปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็ม ที่ทำเองทุกกระบวนการ ตั้งแต่ขโมยข้อมูล ขโมยรหัส และปลอมแปลงบัตรเองและนำไปกดเงินเอง ซึ่งจาการการสอบสวนคนร้ายอ้างว่านำเงินที่ได้ไปเล่นพนันที่มาเก๊า แต่ตำรวจยังไม่ปักใจ เชื่อว่าแก๊งนี้เชื่อมโยงเครือข่ายที่นครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงราย และภาคใต้ โดยเชื่อว่ามีคนไทยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนที่ใช้ตู้เอทีเอ็ม หากพบว่าช่องสอดสอดบัตรมีความฝืด เวลาคืนบัตรโผล่บัตรโผล่ออกมาน้อยกว่าปกติ ให้สงสัยได้เลยว่าถูกขโมยข้อมูลให้แจ้งธนาคารทันที วีป้องกันที่ดีที่สุดคือเวลากดรหัสเอทีเอ็มให้เอามือบังไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถของกลางที่คนร้ายใช้ก่อเหตุใช้ทะเบียนปลอม และมีการติดตราสำนักนายกรัฐมนตรีไว้ด้านหน้าเพื่อป้องกันการตรวจของตำรวจ โดยภายในดัดแปลงติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโจรกรรมข้อมูลโดยเฉพาะ