xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษา “ยงยุทธ” ซื้อเสียงเอื้อประโยชน์พลังประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เปิดคำพิพากษา “ยงยุทธ” ใบแดง “ละออง” ใบเหลือง ศาลชี้ชัดข้อต่อสู้ฟังไม่ขึ้น พบพฤติการณ์จ่ายเงินให้กำนัน 2 หมื่นบาท เพื่อหวังกลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้นำหมู่บ้าน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกบ้าน สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชาชน และสมาชิกพรรคที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปชักจูงให้ลูกบ้านช่วยเหลือสนับสนุนพรรคพลังประชาชน จึงเชื่อได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์ เพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ 1 และพรรรคพลังประชาชน ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างไม่

วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เวลา 16.00 น.ศาลฎีกาแผนคดีเลือกตั้ง ได้อ่านคำพิพากษาคดีเลือกตั้ง คดีหมายเลขดำที่ ลต.38/2551 คดีหมายเลขที่ 5019/2551 ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง นายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 1 นางสาวละออง ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 2 เรื่อง ขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและเลือกตั้งใหม่

คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 จำนวน 1 คนใหม่แทนผู้คัดค้านที่ 2

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2550 กำนันในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย 10 คน รวมทั้งนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ เดินทางไปที่พรรคพลังประชาชน แล้วไปพักที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค แล้วได้มีการพบและพูดคุยกับผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชาชนที่โรงแรมดังกล่าว ต่อมา นายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อผู้ร้องโดยกล่าวหาว่าการที่กำนันในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย 10 คน เดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2550 ก่อนการเลือกตั้ง น่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องมีการให้ เสนอให้ สัญญว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่กำนันทั้ง 10 คน เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ผู้สมัครพรรคพลังประชาชน อันเป็นการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งอันน่าจะเป็นผลให้การเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านทั้งสองมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ได้ความจากเอกสารหมายเลข ร.1 แผ่นที่ 19 และ 24 ซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของนายวิจิตรผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2550 นายวิจิตร ได้ลงพื้นที่ตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายเพื่อสำรวจความนิยมของประชาชนที่มีต่อตนก่อนตัดสินใจสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง นายวิจิตร ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า จะมีการนำกำนันตำบลต่างๆ ในอำเภอแม่จัน 10 ตำบล เข้าพบผู้บริหารพรรคพลังประชาชนที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 นายวิจิตร จึงรายงานให้ นายมณฑล สุทธาธนโชติ หัวหน้าทีมผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย พรรคชาติไทย ทราบ และตกลงให้ผู้สังเกตการณ์เฝ้าติดตามพฤติกรรมของกลุ่มกำนันดังกล่าวในทางลับว่าจะมีเหตุการณ์ที่ได้รับแจ้งหรือไม่ ผลการตรวจสอบของผู้สังเกตการณ์ ปรากฏว่า ในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จัน 10 คน ได้โดยสารเครื่องบินจากจังหวัดเชียงรายไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานครจริง และผู้สังเกตการณ์ได้บันทึกภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอ) เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันไว้เป็นหลักฐานด้วย

จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมา นายวิจิตร เชื่อว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชาชนได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งโดยมีส่งมอบแผ่นซีดีที่บันทึกภาพเหตุการณ์ไปพร้อมกับคำร้องด้วย ซึ่งในเรื่องนี้นางกัญชรส ชาภู่พวง อาสาสมัครผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550 ได้ให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามเอกสารหมายเลข ร.1 แผ่นที่ 115 ถึง 118 สอดคล้องต้องกัน จากคำให้การของนายวิจิตรและนางกัญชรส แสดงให้เห็นว่า ในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งดังกล่าว นายวิจิตร มิได้กระทำไปโดยลำพังและกระทำไปเพียง เพราะเหตุได้รับคำบอกเล่ามาจากแหล่งข่าวเท่านั้น แต่ได้มีการปรึกษาหารือกันและมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวที่ได้รับ การที่ นายวิจิตร ขอถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งโดยอ้างว่าเอกสารและแผ่นซีดีที่ยื่นประกอบคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งตนเองได้รับมาจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครและ เกรงว่าจะเป็นพยานหลักฐานเท็จย่อมเป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง

นอกจากนี้ ภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันที่มีการบันทึกลงในแผ่นซีดีดังกล่าว กลุ่มกำนันและผู้คัดค้านทั้งสองก็มิได้ปฏิเสธว่ามิใช่ภาพของกลุ่มกำนันในอำเภอแม่จัน คงโต้แย้งเกี่ยวกับวันเวลาที่มีการบันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีว่า มีพิรุธ โดยอ้างว่า ในแผ่นซีดีหมาย ร.6 มีการบันทึกข้อมูลลงแผ่นซีดีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่กลุ่มกำนันจะเดินทางไปกรุงเทพฯ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 แสดงว่ามีการจัดฉากถ่ายภาพขึ้นมาอันเป็นการสร้างพยานหลักฐานเพื่อกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 นั้น จากภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันตามแผ่นซีดีหมาย ร.5 เป็นภาพถ่ายกลุ่มกำนันขณะอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปรอรถยนต์โดยสาร เมื่อพิจารณารูปร่างและลักษณะการแต่งกายของกำนันบางคนที่ปรากฏในแผ่นซีดีทั้งสองแผ่นดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าเป็นภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันจากจังหวัดเชียงรายมากรุงเทพมหานครในคราวเดียวกัน เมื่อแผ่นซีดีหมาย ร.5 ระบุว่ามีการบันทึกข้อมูลหรือภาพถ่ายเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีดังกล่าวในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการบันทึกข้อมูลหรือภาพถ่ายลงแผ่นซีดีหมาย ร.6 ในวันที่ 25 ตุลาคม 2550
ส่วนการที่แผ่นซีดีหมาย ร.6 ระบุวันเวลาบันทึกข้อมูลเป็นวันที่ดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการตั้งวันเวลาของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้บันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีโดยมีการตั้งวันเวลาผิดไปจากวันที่ถูกต้องแท้จริง พยานหลักฐานของผู้ร้องที่ปรากฏตามแผ่นซีดีจึงหาเป็นพิรุธไม่ และเชื่อได้ว่า ภาพกลุ่มกำนันที่เดินทางจากจังหวัดเชียงรายไปกรุงเทพมหานครในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 สำหรับสาเหตุที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ได้ความจากคำเบิก

ความของ นายชัยวัฒน์ ว่า ดาบตำรวจเทพรัตน์ เขื่อนคุณา เป็นผู้ติดต่อประสานงานให้กลุ่มกำนันเดินทางไปกรุงเทพฯ โดยเครื่องบินและให้ นายชัยวัฒน์ ทดรองจ่ายเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปก่อนและจะคืนให้เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯโดยมีนายบรรจง ยางยืน ร่วมเดินทางไปด้วยและเป็นผู้จัดหารถยนต์ตู้พากลุ่มกำนันจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังที่ทำการพรรคพลังประชาชน แต่ไม่พบผู้คัดค้านที่ 1 ได้ไปพบกลุ่มกำนันที่ห้องรับรองของโรงแรมดังกล่าว ในการพบกันดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้กลุ่มกำนันให้ช่วยผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับการเลือกตั้ง จากนั้นนายชัยวัฒน์ และกลุ่มกำนันขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ช่วยติดตามทวงหนี้จากนายชูชาติ จันทะวาลย์ อดีตที่ปรึกษาของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่ง นายชูชาติ ค้างชำระหนี้ค่าก่อสร้างแก่ กลุ่มกำนัน หลังจากนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 เดินทางกลับโดยมีนายบรรจงตามไปด้วย ต่อมานายบรรจงได้มอบซองปิดผนึกส่งให้นายชัยวัฒน์ 10 ซอง พร้อมกับพูดว่า “นาย” ซึ่งหมายถึงผู้คัดค้านที่ 1 ฝากมาให้ นายชัยวัฒน์ แจกซองให้กลุ่มกำนัน ปรากฏว่า ในแต่ละซองมีเงินอยู่ 20,000 บาท หลังจากนั้น นายบรรยง ได้ชำระค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินให้ นายชัยวัฒน์ อีก 40,000 บาท ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 นายอดิศร นายประสิทธ นายดวงแสง นายชด นายจรินทร์ นายสมบูรณ์ นายพรชาติ และ นายบรรจง อ้างว่า สาเหตุที่กลุ่มกำนันเดินทางไปกรุงเทพฯ เนื่องจาก นายชัยวัฒน์ เป็นผู้ชักชวนโดยอ้างว่าเพื่อไปติดตามทวงหนี้คำขุดลอกคลองจากนายชูชาติ นายชัยวัฒน์บอกว่าจะออกค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปก่อนและเมื่อติดตามทวงหนี้ได้แล้วให้กลุ่มกำนันชดใช้คืนในภายหลัง เมื่อพบกับผู้คัดค้านที่ 1 นายชัยวัฒน์ ขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ทวงถามเงินจากนายชูชาติที่ค้างชำระแกกลุ่มกำนัน แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิเสธโดยบอกว่ามีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 ออกมาแล้ว ในการพบกันดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้เงินแก่กลุ่มกำนัน และมิได้ช่วยเรื่องค่าที่พักกับค่าอาหาร นายชัยวัฒน์เป็นผู้ดำเนินการเรื่องที่พักและอาหาร เห็นว่า แม้ตามเอกสารหมาย ค.9 จะปรากฏว่า นายชัยวัฒน์ เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองคู่แข่งกับพรรคพลังประชาชนก็ตาม แต่นายชัยวัฒน์ ก็ยืนยันว่าตนเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนด้วย และคำเบิกความของ นายชัยวัฒน์ เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะแตกต่างจากกำนันคนอื่น ๆ ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับความมีเหตุมีผลของคำเบิกความซึ่งศาลต้องพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์อื่นทั้งปวงในคดี การรับฟังพยานหลักฐานหาใช่ขึ้นอยู่กับจำนวนพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีมากน้อยกว่ากันไม่

สำหรับเรื่องที่กลุ่มกำนันคนอื่นๆ อ้างว่า เดินทางไปพบกับผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำชักชวนของนายชัยวัฒน์โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 1 ช่วยติดตามทวงหนี้จากนายชูชาติ มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่กลุ่มกำนันอ้างก็น่าจะมีการชักชวน นายอุดม กัปปะหะ กำนันตำบลท่าข้าวเปลือก ซึ่งอยู่ในอำเภอแม่จันให้ร่วมเดินทางไปติดตามทวงหนี้ในครั้งนี้ด้วย เพราะนายชูชาติ ก็ค้างชำระหนี้นายอุดม เช่นเดียวกับกำนันคนอื่นๆ การที่ นายอุดม ไม่ได้ถูกชักชวนไปพบผู้คัดค้านที่ 1 จึงอาจเป็นเพราะนายอุดมเป็นพี่ชายของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงราย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

นอกจากนี้ ยังได้ความด้วยว่า นายชูชาติ ค้างชำระหนี้กลุ่มกำนันมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่ปรากฏว่า มีเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนประการใดที่กลุ่มกำนันทั้ง 10 ตำบลในอำเภอแม่จันจึงต้องรีบเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เพียงเพื่อให้ช่วยติดตามทวงถามหนี้ให้ในช่วงที่จะมีการเลื่อกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งกว่านั้นภาพและเสียงที่ปรากฏตามแผ่นซีดีหมาย ร.8 ก็ปรากฏว่า กลุ่มกำนันรวม 8 คนต่างให้การต่อ พันตำรวจเอกสุวรรณ์ เอกโพธิ์ ด้วยความสมัครใจว่านายบรรจง ยางยืน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน เป็นผู้ติดต่อประสานงานให้กลุมกำนันไปพบผุ้คัดค้านที่ 1 และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ และยอมรับว่านายบรรจง นำเงินมาให้กำนันคนละ 20,000 บาท โดยบอกว่าให้เอาไปเที่ยวกัน สอดคล้องกับที่นายชัยวัฒน์ เบิกความ อีกทั้งนายบรรจง ก็ยอมรับว่า ในวันเกิดเหตุได้เดินทางไปที่โรงแรมเอส ซี ปาร์ค ซึ่งเป็นสถานที่ที่กลุ่มกำนันได้พบผู้คัดค้านที่ 1 จริงเพียงแต่อ้างว่าไม่ได้พบกับผู้คัดค้านที่ 1และไม่มีส่วนรู้เห็นในการที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 โดยในวันดังกล่าวตนเองพบกับกลุ่มกำนันที่สนามบินจังหวัดเชียงรายโดยบังเอิญ และเมื่อทราบว่ากลุ่มกำนันจะเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร จึงได้เดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 กับกลุ่มกำนันด้วย แม้นายบรรจง จะมีหลักฐานมาแสดงว่าในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 นายบรรจงเดินทางไปปรึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ก็มิใช่ข้อที่ยืนยันว่านายบรรจงจะมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันดังกล่าว

เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า นายบรรจง ได้ร่วมเดินทางกับกลุ่มกำนันโดยสายการบินเที่ยวเดียวกันทั้งไปและกลับ และเดินทางไปที่ทำการพรรคพลังประชาชนโรงแรมเอสซีปาร์ค พร้อมกับกลุ่มกำนันและนอนพักที่โรงแรมเดียวกัน พฤติการณ์ของ นายบรรจง ดังกล่าวไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่น่าเชื่อว่า นายบรรจง จะไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับได้ความจากผู้คัดค้านที่ 1 ว่า หลังเกิดเหตุรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี 2549 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีดังกล่าวและกลับมาประเทศไทยเมื่อปลายเดือนกันยายน 2550 ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคพลังประชาชนในเขตจังหวัดเชียงราย จึงต้องมีการตระเตรียมการเลือกตั้งซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนในพื้นที่ การที่กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จันรวม 10 คน เดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชาชนที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 อันเป็นเวลาภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้ว จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่ากลุ่มกำนันไปตามคำเชื้อเชิญของผู้คัดค้านที่ 1 โดยมีจุดประสงค์เพื่อขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือพรรคพลังประชาชนซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้บริหารพรรค และช่วยเหลือสมาชิกพรรคพลังประชาชนที่จะสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านที่ 2 ด้วย และการที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนในครั้งนี้ เชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องมีการให้เงินแก่กลุ่มกำนันเป็นการตอบแทน พฤติการณ์แห่งคดีดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้เงินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่พรรคพลังประชาชนและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคพลังประชาชน ตามคำร้องของผู้ร้อง***

และแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า หลังจากกลุ่มกำนันได้พบกับผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว กลุ่มกำนันได้ไปเกี่ยวข้องกับ การเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ในการช่วยเหลือในการหาเสียง หรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ ผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกกลุ่มกำนันในพื้นที่ถึง 10 ตำบล ไปพบเพื่อพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานครนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเล็งเห็นแล้วว่า กลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นผู้นำหมู่บ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกบ้านสามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชาชนและสมาชิกพรรคที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ โดยการไปชักจูงให้ลูกบ้านช่วยเหลือสนับสนุนพรรคพลังประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 จึงเชื่อได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์เพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ 1 และพรรรคพลังประชาชน ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างไม่

ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวไม่ต้องด้วยมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2550 เนื่องจากขณะที่มีการกระทำดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 ยังไม่มีฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เห็นว่า มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด...“บทบัญญัติดังกล่าวแม้อยู่ในส่วนที่ 6 ซึ่งว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกฏหมายห้ามมิให้กระทำการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และบุคคลที่กฏหมายห้าม มีทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ที่ไม่ใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติดังกล่าว มิได้หมายความแต่เพียงว่า ผู้นั้นได้กระทำการอันฝ่าฝืนที่กฎหมายกำหนดในขระที่ตนเองมีฐานะเป็นผูสมัครรับเลือกตั้งแล้วเท่านั้น แม้ในขณะที่กระทำการดังกล่าว ผู้ร้องยังมิได้มีการประกาศรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือมีประกาศสมัครรับเลือกตั้งแล้ว และผู้นั้นยังมิได้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม หากการที่กระทำไปได้กระทำภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราาฎรแล้ว และต่อมา ผู้นั้นได้สมัครรับเลือกตั้งก็ถือได้ว่า การที่กระทำไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมในที่สุดแล้ว ก็เป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั่นเอง นอกจากนี้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามเฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนก็ถูกห้ามด้วย เพราะการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามหากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใดผู้หนึ่งหรือพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาก่อนที่จะมีการประกาศสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนกลุ่มจังหวัดที่ 1 พรรคพลังประชาชน การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงถือว่า เป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกอันต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ในประเด็นข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะที่กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 จะยังมิได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกให้กลุ่มกำนันไปพบและขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือผู้คัดค้านที่ 2 ดังกล่าว เป็นการแจ้งให้กลุ่มกำนันทราบล่วงหน้าว่า ผู้คัดค้านที่ 2 จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการขอความช่วยเหลือดังกล่าว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า เป็นการขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนรคาษฎรนั่นเอง เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาแล้ว แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุนให้ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการดังกล่าวก็ตาม**แต่การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าว ย่อมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคพลังประชาชน และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคพลังประชาชนโดยตรง อันมีผลทำให้การเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และแม้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยคะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 มากกว่าผู้สมัครพรรคการเมืองคู่แข่งถึง 13,469 คะแนนก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเสียแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่อาจถือเอาคะแนนเสียงที่ได้รับมาเป็นข้ออ้างเพื่อมิให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ในประเด็นข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น**

เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53 และการกระทำดังกล่าวมีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดเชียงรายมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามคำร้องของผู้ร้องดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น กรณีจึงต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ 1 และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 จำนวน 1 คน ใหม่แทนผู้คัดค้านที่ 2 ตามบทบัญญํติมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญํติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550

จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่ จำนวน 1 คน แทนนางสาวละออง ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 2

พรรคพลังประชาชน
กรรมการบริหารพรรค
กำลังโหลดความคิดเห็น