ดีเอสไอ ส่งสำนวนสั่งฟ้องกรรมการบริหาร บริษัท พาวเวอร์พี จำกัด (มหาชน) กับพวก 5 คน ฐานฉ้อโกง ในคดีตบแต่งบัญชี พรางตาตลาดหลักทรัพย์นำหุ้นกระจายขายนอกตลาดได้เงินจาก ปชช.1,000 ล้าน แล้วนำกลับขายในตลาดหลักทรัพย์ฟันกำไรไป 30 ล้าน ให้อัยการพิจารณาสั่งคดีสัปดาห์หน้า
วันนี้ (27 มิ.ย.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องกรรมการผู้จัดการบริษัท พาวเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 5 ราย แยกเป็นผู้ต้องหาที่ 1-3 ที่เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท พาวเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ในความผิดฐานเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงาน ของนิติบุคคลใด ได้ร่วมกันกระทำ หรือยินยอมให้ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำ เพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้หรือลวงบุคคลใดๆ ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐานผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใด ตาม พ.ร.บ.นี้ หรือผู้สอบบัญชีที่กระทำผิด ม.287, 306, 307, 308, 309, 310, 311, 312 หรือไม่ว่าก่อนหรือในขณะกระทำผิด และผู้ต้องหาที่ 5 ในความผิดฐาน ไม่จัดทำงบการเงินหรือรายงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดและไม่ส่งงบการเงินภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด
จากกรณีที่ ผู้ต้องหาที่ 1-3 ที่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้าง ผลิตเสาเข็ม คอนกรีตฯ ได้ร่วมกันตกแต่งบัญชี โดยไม่มีการทำงาน หรือการจ้างงานจริง โดยก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอ ว่า บริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) มีพฤติกรรมตกแต่งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จเสนอต่อตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยทำบัญชีแสดงว่าบริษัทมีรายได้และผลประกอบการดี เพื่อขออนุมัติตลาดหลักทรัพย์ฯให้ซื้อขายหุ้นได้ จากนั้นนำหุ้นไปขายนอกตลาดได้เงินจากประชาชนกว่า 1,000 ล้านบาท แล้วนำหุ้นมาขายในตลาดหลักทรัพย์ได้กำไรประมาณ 30 ล้านบาท โดยมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์เพิ่มเติมว่าถูกหลอกให้ซื้อหุ้น ซึ่งเข้าข่ายข้อหาฉ้อโกง
สำหรับผู้ต้องหาที่ 4 เป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างซึ่งเป็นการทำงานเท็จ บริษัท เดอะเบส คอนโดมิเนี่ยม และบริษัท ซิลเวอร์ เฮอริเทจ ให้กับ บริษัท เพาเวอร์-พี เป็นการสนับสนุนผู้ต้องหาที่ 1-3 ส่วนผู้ต้องหาที่ 5 เป็นนิติบุคคล คือ บริษัท เพาเวอร์พี เมื่อผู้ต้องหาที่ 1 ได้ถอนตัวจากการบริหารหลังจากขายหุ้นไปแล้ว ไม่มีผู้ตรวจบัญชีตรวจงบการเงินให้ จึงไม่ได้ส่งงบการเงินให้กับตลาดหลักทรัพย์ โดยพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ จะนำส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้พนักงานอัยการพิจารณา สั่งคดีในสัปดาห์หน้า