xs
xsm
sm
md
lg

“ท่านยุทธ” ขึ้นศาลสู้คดีใบแดงเบิกความถล่ม “ชัยวัฒน์” พยาน กกต.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนกลุ่มที่ 1 และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน
“ยงยุทธ” ขึ้นศาลไต่สวนสู้คดีใบแดง ยันไม่เคยนัดพบกำนันแจกซอง 2 แสน ซัด “กำนันชัยวัฒน์” พยานปากเอก กกต.ติดแบล็กลิสต์ค้ายาต้องเข้าบำบัดสมัยรัฐบาลทำสงครามปราบยาเสพติด แถมเคยร้องขอให้ช่วยลบชื่อก่อนลงสมัครกำนัน อีกทั้งยังร่ำรวยผิดปกติแอบใส่ชื่อเมียในที่ดินกว่า 10 ล้าน ศาลเตรียมไต่สวนนัดสุดท้าย 20 พ.ค.นี้

วันนี้ (14 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง สนามหลวง นายกำธร โพธิ์สุวัฒนากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พร้อมองค์คณะรวม 3 คน ออกนั่งบัลลังก์สืบพยาน คดีหมายเลขดำที่ ลต.38/2551 ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ร้อง และนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนกลุ่มที่ 1 และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ น.ส.ละออง ติยะไพรัช น้องสาวนายยงยุทธ ส.ส.แบ่งเขต 3 จ.เชียงราย พรรคพลังประชาชน ผู้คัดค้านที่ 1-2 กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ.2550 ด้วยการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการแจกเงินให้กับกลุ่มกำนัน อ.แม่จัน จ.เชียงรายซึ่งเป็นตัวแทน (หัวคะแนน) ของนายยงยุทธ แจกเงินซื้อเสียงเพื่อให้มีการลงคะแนนเลือกผู้สมัครของพรรคประชาชน โดย กกต.ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายยงยุทธ ซึ่งให้ถูกใบแดง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในเขต 3 จังหวัดเชียงราย ที่ น.ส.ละออง ถูกให้ใบเหลือง

โดยนัดสืบพยานครั้งที่สาม วันนี้ นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความนายยงยุทธ นำพยานเข้าไต่สวน รวม 2 ปาก คือ นายยงยุทธ ผู้คัดค้านที่ 1 และ นายชูชาติ จันทวลย์ อดีตที่ปรึกษานายยงยุทธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายยงยุทธ เบิกความยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ตามที่นายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนัน ต.จันจว้า พยานปากเอกของ กกต. เบิกความว่าในวันที่ 28 ต.ค.50 กำนันทั้ง 10 คนได้ไปพบพยานที่โรงแรมเอสซีปาร์ค และมีการแจกซอง 10 ซองใส่เงินซองละ 20,000 บาท รวม 200,000 บาท พร้อมทั้งให้เงินกับนายชัยวัฒน์ ที่ค่าตั๋วเครื่องบินที่เดินทางจากเชียงรายมา กทม. อีก 40,000 บาทโดยมีนายบรรจง ยางยืน นายกเทศมนตรี ต.จันจว้า เป็นผู้รับซองเงินจากพยานมามอบให้กำนันทั้ง 10 คน โดยพยานไม่เคยนัดหมายให้กำนันมาพบ อีกทั้งวันที่กลุ่มกำนันเดินทางมาก็ไม่ทราบเรื่องมาก่อน ส่วนที่นายชัยวัฒน์เบิกความว่า นายบรรจง ยื่นซองให้พร้อมกับบอกว่า “นาย” ให้มานั้น ส่วนตัวพยาน คนในพื้นที่จะเรียกว่า “ส.ส.ยงยุทธ” หรือ “ท่าน ส.ส.” เท่านั้น ส่วน “นาย” จะใช้เรียกกับข้าราชการประจำ คือ นายอำเภอ ทหาร ตำรวจ

นายยงยุทธ เบิกความว่า ในวันที่ 28 ต.ค.50 มีภารกิจตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็น โดยช่วงเวลา 14.00-15.00 น. ได้นัดประชุมกลุ่มกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคที่เซฟเฮ้าส์ ซอยรามคำแหง 21 เรื่องที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จะมาอยู่ที่พรรคพลังประชาชน และในเวลา 18.00 น.พยานมีนัดหมายจะพบกับนางพัชรินทร์ สุขสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง จะหารือเรื่องเศรษฐกิจที่จะนำมาเป็นนโยบายของพรรค โดยนัดหมายที่ห้องอาหารจีน โรงแรมเอสซี ปาร์ค ซึ่งพยานเดินทางมาพบนางพัชรินทร์ ประมาณ 19.00 น. ซึ่งหลังจากหารือกับนางพัชรินทร์แล้ว เจ้าหน้าที่โรงแรมได้แจ้งว่ามีพวกเชียงรายมารอพบที่ชั้น 2 โดยมาทราบภายหลังว่าเป็นกลุ่มกำนัน โดยพยานได้พบกับกลุ่มกำนันในช่วงเวลา 20.15-21.00 น. แต่ขณะนั้นไม่พบกับนายบรรจง แต่ทราบภายหลังว่านายบรรจงได้ออกจากโรงแรมไปกับนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะที่ได้พบกับกลุ่มกำนันก็ถามสารทุกข์สุกดิบที่พยานไปอยู่อเมริกาหลังเกิดรัฐประหาร และเรื่องที่ทหารจับตัวพยานไป นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ และนายดวงแสง มูลกาศ ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ พยาน ได้ถามว่าเจอกับนายชูชาติหรือไม่ ซึ่งนายชัยวัฒน์และนายดวงแสง ได้พูดถึงเรื่องหนี้สินที่นายชูชาติไม่ยอมจ่ายให้กับกลุ่มกำนันที่มีการจ้างให้ขุดลอก

ทั้งนี้ นายยงยุทธเบิกความยืนยันว่า ในวันดังกล่าวไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าจะให้ช่วยเหลือนายอิทธิเดช แก้วหลวง กับ น.ส.ละอองผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สมัครของพรรคพลังประชาชนเลย เนื่องจากขณะนั้นพรรคยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะส่งผู้สมัครคนใดลงพื้นที่ในจังหวัดใดบ้าง อีกทั้งในวันที่ 28 ต.ค.ก็ยังไม่ได้มีการประกาศสมัครรับเลือกตั้ง และในวันดังกล่าว พยานก็ไม่ได้รับปากกลุ่มกำนันเรื่องการทวงหนี้ แต่ได้บอกกับกลุ่มกำนันเพียงว่าให้คุยเรื่องเงินหนี้สินหลังเลือกตั้งที่บ้านพักของพยานใน จ.เชียงราย เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงของการเลือกตั้งซึ่งพยานไม่สามารถดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องเงินได้เพราะจะผิดกฎหมาย รวมทั้งพยานไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเลี้ยงอาหารกลุ่มกำนันที่มาพักโรงแรมนี้ได้ โดยพยานใช้เวลาคุยกับกลุ่มกำนันประมาณ 20 นานทีแล้วก็ได้รีบออกจากโรงแรมไปเพราะต้องกลับไปประชุมวางยุทธศาสตร์ที่เซฟเฮาส์

นอกจากนี้ นายยงยุทธยังเบิกความเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ว่าไม่บริสุทธิ์และไม่เป็นธรรม โดยหลังจากการรัฐประหารแล้ว ประธาน คมช.ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายฉบับ ซึ่งมีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคพลังประชาชน ทำนองว่า จะมีการสร้างกระบวนการจัดการพรรคพลังประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการส่งทหารเข้าไปเป็นรองผู้ว่าราชการฝ่ายความมั่นคง เช่น การส่ง พ.อ.ธนัชย์ ปัญญา เป็น รอง .... ซึ่งต่อมาได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มกำนันและการจัดการรวบรวมพยานหลักฐานกล่าวหาพยานคดีนี้

นอกจากนี้ นายยงยุทธได้เบิกความถึงความสัมพันธ์กับนายชัยวัฒน์ว่า ได้รู้จักกับนายชัยวัฒน์จากที่ตกเป็นข่าวเมื่อปี 2537-2538 ที่นายชัยวัฒน์เข้าไปพัวพันคดีอาวุธปืนและเหตุฆ่ากัน ซึ่งนายชัยวัฒน์ถูกระบุว่าเป็นซุ้มมือปืน โดยขณะนั้นนายชัยวัฒน์ยังไม่ได้รับเลือกเป็นกำนันและมาทราบข่าวเกี่ยวกับนายชัยวัฒน์อีกครั้งเมื่อปี 2546 ขณะที่พยานดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ซึ่งได้ปรากฏชื่อนายชัยวัฒน์เป็นผู้ค้าและผู้เสพที่เข้ารับการบำบัด โดยนายชัยวัฒน์ได้เคยมาร้องขอให้พยานช่วยนำชื่อออกจากการเป็นแบล็คลิสต์เพื่อจะไปลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ต.จันจว้า แต่พยานได้ปฏิเสธไปเพราะกลัวถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพัน ส่วนเรื่องที่นายชัยวัฒน์เคยระบุว่า เป็นสมาชิกพรรคและเคยทำงานให้กับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยพยานทราบจากฐานข้อมูล กกต.ว่านายชัยวัฒน์เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2547 จนกระทั่งวันที่มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลในวันที่ 8 พ.คงที่ผ่านมา ก็ยังมีสถานภาพเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อยู่

นายยงยุทธยังได้กล่าวถึงฐานะทางการเงินของนายชัยวัฒน์ว่า นายชัยวัฒน์มีที่ดินซึ่งอยู่ในชื่อของภรรยามูลค่ากว่า 10 ล้านบาท และหลังจากที่มีการกล่าวหาพยานในคดีนี้ก็พบว่านายชัยวัฒน์มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น พยานจึงตั้งข้อสังเกตที่ต้องการให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของนายชัยวัฒน์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเบิกความ ทนายของนายยงยุทธได้ยื่นเอกสารซึ่งเป็นภาพถ่ายบ้านพักของนายชัยวัฒน์ที่เพิ่งก่อสร้างใหม่ให้ศาลพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ นายยงยุทธยังปฏิเสธเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับ ด.ต.เทพรัตน์ เขื่อนคุณา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่ กกต.อ้างว่าเป็นตำรวจติดตามนายยงยุทธและนายบรรจง ยางยืน นายกเทศมนตรีตำบลจันจว้าที่ กกต.อ้างว่าเป็นหัวคะแนน ว่า ด.ต.เทพรัตน์เป็นเพียงตำรวจที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย หากจะถามถึงตำรวจที่พยานสนิทและไว้ใจที่จะมอบหมายให้ช่วยทำงานใดๆ จะมีเพียงนายตำรวจ สภ.แม่จัน ซึ่งเป็นน้องภรรยา ส่วนนายบรรจง ไม่ได้เป็นหัวคะแนนให้กับพยาน แต่ผู้ที่พยานมีความสนิทและจะเป็นตัวแทนในพื้นที่ได้ คือ นายสมพงษ์ ภู่เจริญ นายก อบต.จอมสวรรค์ อ.แม่จัน จ.เชียงราย

นายยงยุทธยังเบิกความย้ำว่า นับแต่ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน ได้ชนะเลือกตั้งเพราะการวางกลยุทธ์หาเสียงด้วยการลงพื้นที่เข้าถึงประชาชน ซึ่งพยานเคยขี่รถมอเตอร์ไซค์และรถจักรยานพบปะประชาชนและเนื่องจากพยานจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร พยานจึงได้ใช้ความรู้ดังกล่าวเป็นวิทยากรให้การศึกษาเรื่องการถนอมอาหาร การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรให้กับชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงเคยเปิดบ้านพักพยานรับเรื่องร้องทุกข์เรื่องการให้ความรู้ด้านกฎหมายและการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย อีกทั้งยังได้เคยเปิดสอนกวดวิชาและให้ทุนการศึกษาซึ่งได้มาจากเพื่อนนักธุรกิจกับเด็กๆ ในพื้นที่ด้วย ดังนั้นในการเลือกตั้งพยานจึงไม่ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพากลุ่มกำนันหรือผู้นำท้องถิ่นเหมือนการวางกลยุทธ์หาเสียงเลือกตั้งของนักการเมืองรุ่นเก่า แต่ในความเป็นจริง กำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่นกลับจะมาขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากพยานมากกว่าในการลงสมัครเพราะพยานเข้าถึงและใกล้ชิดกับประชาชน

ด้าน นายชูชาติ เบิกความตอบศาลว่า มีอาชีพค้าขาย, รับเหมาก่อสร้าง และเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) เชียงราย ตั้งแต่ปี 2543-2546 อีกทั้งเคยเป็นที่ปรึกษานายยงยุทธ ขณะที่เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2547-2548 อยู่บ้านเลขที่ 290 ม.1 ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ไม่ได้เป็นญาติกับนายยงยุทธ และ น.ส.ละออง โดยรู้จักกับกำนันทุกคนใน อ.แม่จัน เคยให้การกับ กกต. เกี่ยวกับคดีถึง 2 ครั้ง

นายชูชาติ ยังคำซักถามทนายความเกี่ยวกับมูลค่าหนี้ที่ค้างชำระกลุ่มกำนัน อ.แม่จัน ว่า เมื่อปี 2547 เกิดภัยแล้ง และอุทกภัย จ.เชียงราย หลายอำเภอ อาทิ อ.แม่จัน อ.เชียยงแสน อ. แม่สาย หน่วยบัญชาการกองพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด จึงดำเนินโครงการก่อสร้างแก้ปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย มูลค่าหลายล้าน และเนื่องจากพยานรู้จักกับกลุ่มทหารจึงได้แนะนำให้หลานซึ่งประกอบธุรกิจรับเหมาให้รับเหมาช่วงต่อในการก่อสร้าง โดยพยานเป็นผู้รับมอบอำนาจของ ห้างจำกัด ฯ ในการติดต่อให้กลุ่มกำนัน อ.แม่จัน มารับเหมาช่วงต่ออีกด้วย ซึ่งนายอดิศร เรือนคำ กำนัน ต.ศรีค้ำ ซึ่งเป็นประธานกำนัน อ.แม่จัน, นายพัฒน์ ก้างออนตา กำนัน ต.จอมสวรรค์ และนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนัน ต.จันจว้า เป็นกำนันที่มีอุปกรณ์ เครื่องเครื่องจักร จึงจ้างให้ทำงานแผ้วถาง การซ่อมแซม การขุดลอก ส่วนกำนันคนอื่นที่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ให้ทำหน้าที่ประสานงาน ซึ่งในการจ้างนั้นพยานชำระเงินให้กลุ่มกำนันแล้วส่วนหนึ่ง คงเหลือหนี้จำนวน 1.9 ล้านบาทเศษ โดยเหตุที่พยานไม่ได้ชำระหนี้ให้ เพราะการเงินขาดสภาพคล่อง โดยเมื่อปี 2548 ต้องประสบภาวะขาดทุนเพราะน้ำมันมีราคาแพงขึ้น และเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ พยานได้หลบหน้ากลุ่มกำนันซึ่งบางครั้งหลบอยู่ที่บ้าน หรือบางครั้งก็ออกนอกพื้นที่ ส่วนที่กลุ่มกำนันเข้ามา กทม. เพื่อพบนายยงยุทธ ให้ช่วยติดตามหนี้นั้น พยานก็ทราบจากข่าวสื่อมวลชน แต่นายยงยุทธ ไม่เคยติดต่อพยานเรื่องการทวงชำระหนี้

เมื่อทนายความถามนายชูชาติว่า จริงหรือไม่ ที่นายเกรียงไกร บุตรชายนายชัยวัฒน์ กำนัน ต.จันจว้า ระบุว่านายชูชาติ เคยไปพบนายเกรียงไกร ถามหานายชัยวัฒน์เพื่อร้องขอให้กลับคำให้การ ตามที่นายเกรียงไกร ยื่นหนังสือแสดงต่อศาลวันที่ 1 เม.ย. นายชูชาติ ตอบว่า ไม่เป็นความจริง แต่พยานไปที่บ้านนายเกรียงไกร เพราะตั้งใจจะนำเงิน 2.5 แสนบาทที่เป็นหนี้ ไปคืนให้กับนายชัยวัฒน์ แต่เมื่อนายชัยวัฒน์ ไม่อยู่ที่บ้านพยานจึงไม่ได้คืนเงินให้นายเกรียงไกร

ภายหลัง นายพิชิฏ กล่าวว่า ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันไต่สวนพยานนัดสุดท้าย ตนต้องการที่จะสืบ พ.อ.ธนัชย์ ปัญญา ที่ขอให้ศาลหมายเรียกมาเป็นพยาน พร้อมกับพยานปากอื่นที่เป็นชุดสืบสวนของ อนุ กกต.รวม 6 ปาก ซึ่งหาก พ.อ.ธนัชย์ได้ขึ้นเบิกความจริง ตนก็ไม่ติดใจที่สืบพยานชุดสืบสวนปากที่เหลืออีก โดยตนจะนำพยานในส่วนของผู้คัดค้านมาเบิกความอีกประมาณ 2-3 คน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น