xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นศาลฎีกาไต่สวนอิสระ “เหลิม” ลุแก่อำนาจ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“สุเทพ เทือกสุบรรณ” เดินหน้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ยื่นศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระเอาผิด “เฉลิม อยู่บำรุง” ลุแก่อำนาจ สั่งการรักษาการอธิบดีกรมที่ดิน ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดิน บริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ของครอบครัวเทือกสุบรรณ จนนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิ

กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ให้แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 276 เพื่อตรวจสอบพฤติกรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ที่ถูกกล่าวหาว่า ลุแก่อำนาจ กรณีที่สั่งการให้ นายบุญเชิด คิดเห็น รักษาการอธิบดีกรมที่ดิน ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ของครอบครัวเทือกสุบรรณ จนกระทั่ง นายบุญเชิด ได้สั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินของบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำนวน 1,338 ไร่ 59 แปลง บริเวณ ต.น้ำหัก อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

วันนี้ (29 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวศาลฎีกา ว่า นายสุเทพ ได้ยื่นคำร้องต่อแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา และยื่นแก้ไขคำร้องอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ซึ่งคำร้อง นายสุเทพ ขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดำเนินการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ เพื่อวินิจฉัยที่นายสุเทพ ในฐานะผู้เสียหาย กล่าวหาว่า รมว.มหาดไทย กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 และ 276 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาแล้ว โดยหลังจากนี้นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา จะพิจารณาคำร้องว่าเข้าเงื่อนไขและมีเหตุผลเพียงพอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะต้องดำเนินการตาม รธน.มาตรา 276 หรือไม่ที่จะแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ โดยการพิจารณาคำร้องประธานศาลฎีกาอาจมอบหมายให้คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา คณะหนึ่งเป็นผู้พิจารณา หรืออาจแต่งตั้งผู้พิพากษา 5-6 คน เป็นคณะพิจารณาคำร้องแล้วทำความเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกาก็ได้ หากเห็นว่าคำร้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จากนั้นประธานศาลฎีกาจึงจะมีคำสั่งให้ที่ประชุมใหญ่ มีมติแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนตามาตรา 250(2) แทนการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระก็ได้ โดยจำนวนผู้ไต่สวนอิสระจะมีจำนวนกี่คน จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหมด หรือจะมาจากส่วนใดบ้างนั้น ต้องให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาอีกครั้ง

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า แต่หากพิจารณาคำร้องในเบื้องต้นแล้วเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไข และเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจจะมีคำสั่งยกคำร้องก็ได้ ซึ่งขณะนี้กระบวนการยังต้องรอให้มีการตรวจสอบคำร้องเสียก่อนที่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยยังไม่มีคำสั่งใดๆ จากประธานศาลฎีกาที่จะนัดประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาเรื่องนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ คำร้องที่ยื่นถือเป็นครั้งแรกที่มีการอ้างถึงบทบัญญัติ รธน.มาตรา 275 และ 276 เพื่อร้องขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรี หลังจากที่ รธน.ฉบับปี 2550 ได้มีการบังคับใช้ ซึ่งหากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำสั่งแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระแล้วรัฐมนตรีผู้นั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ต้องตรวจดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ รธน.มาตรา 276 บัญญัติว่า ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นควรดำเนินการตามคำร้องที่ยื่นตามมาตรา 275 วรรค 4 ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ หรือจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามาตรา 250(2) แทนการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระก็ได้

สำหรับคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ วิธีการไต่สวน และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นของผู้ไต่สวนอิสระให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อผู้ไต่สวนอิสระได้ดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนทำความเห็นแล้ว ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูลให้ส่งรายงาน และเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามาตรา 273 และส่งสำนวนและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป และให้นำบทบัญญัติมาตรา 272 วรรค 5 มาใช้โดยอนุโลม

โดยหากมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว มาตรา 277 บัญญัติด้วยว่า ในการพิจารณาของศาลฎีกาฯให้ยึดสำนวน ป.ป.ช.หรือผู้ไต่สวนอิสระแล้วแต่กรณี เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยบทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันของ ส.ส.และ ส.ว.ตาม มาตรา 131 ไม่ให้นำมาบังคับใช้กับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
กำลังโหลดความคิดเห็น