xs
xsm
sm
md
lg

“อสส.” กลัว “หมัก” ถามสื่อใครบอกว่าผมจะค้านแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด
อสส.เริ่มอ่อนถามสื่อใครบอกนายกฯ ว่าจะค้านแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำฉบับ ปี 50 ให้องค์กรอัยการต้องมีความอิสระ คนแก้ต้องคิดให้ดีสังคมยอมรับหรือไม่

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด สนามหลวง นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงการที่รัฐบาลเตรียมแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยจะนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาปรับใช้ว่า ตอนนี้อัยการคงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องทางการเมือง อัยการคงไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วย แต่หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อองค์กรอัยการ ก็จำเป็นต้องพิจารณาในส่วนที่กระทบ แต่เมื่อตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนอัยการคงยังไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

“ข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังแกว่งไปมาอยู่ทุกวัน ยังไม่ได้ตั้งประเด็นก็อย่าเพิ่งไปคิดไปสนใจดีกว่า มีเรื่องอื่นต้องคิดอีกเยอะ รอให้เรื่องมันนิ่งเสียก่อนว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร กระทบกับอัยการหรือไม่ หลังจากนั้นค่อยมาพิจารณากันอีกที” อสส.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว คิดว่าอัยการจะยังคงเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระหรือไม่ นายชัยเกษม กล่าวว่า ทุกอย่างต้องพูดกันด้วยเหตุผล การที่รัฐธรรมนูญ ปี 50 กำหนดให้อัยการเป็นองค์กรที่มีความอิสระก็เพื่อไม่ให้ใครเข้ามาก้าวล่วงในดุลพินิจ ดังนั้นคนที่คิดจะแก้กลับไป คงต้องคิดเรื่องนี้ให้ดีว่าสังคมจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของอัยการเท่านั้น เป็นเรื่องของประชาชนด้วย

“อัยการไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่เป็นองค์กรหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ได้รับการรับรอง ให้อิสระในการดำเนินคดี การพิจารณา การบริหารงบประมาณ และบุคลากรของตนเอง ไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่อัยการยังมีหน้าที่ต้องปฎิบัติงานช่วยฝ่ายบริหารเหมือนเดิม ต้องตรวจร่างสัญญา ตอบข้อหารือ แก้ต่างคดีให้รัฐบาลเหมือนเดิม แต่ว่าฝ่ายบริหารเข้ามายุ่งกับดุลพินิจของอัยการไม่ได้” อสส.กล่าว

เมื่อถามว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไม่สนใจหาก อสส.จะคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ นายชัยเกษม ตอบว่า “ใครไปบอกนายกฯ ว่าผมจะค้าน” ผู้สื่อข่าวถามว่าอัยการเคยแถลงว่า อสส.พอใจกับรัฐธรรมนูญปี 50 นายชัยเกษม ตอบว่า “เดิมทีเรื่องความเป็นอิสระของอัยการมีกฎหมายรับรองอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ข้าราชการอัยการ เมื่ออัยการสั่งคดี นายกฯ ก็เข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้อยู่แล้วตั้งแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่เป็นกฎหมายธรรมดา แต่เมื่อมีการยกฐานะอัยการไปอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ทำให้ประชาชนเข้าใจขึ้นว่าการอิสระการสั่งคดีของอัยการได้รับการยอมรับ หากจะต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญเดิม อัยการก็มีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีเหมือนเดิมเพราะมีกฎหมายรองรับ ส่วนจะมีการแก้ไขเรื่องการเกษียณอายุราชการของอัยการหรือไม่นั้นก็คงต้องดู เพราะต้องเทียบเคียงกับศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น