xs
xsm
sm
md
lg

“เสรีพิศุทธ์” แฉขบวนการปล้นตำแหน่ง ผบ.ตร.รุมโค่น!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“เสรีพิศุทธ์” ร่ายยาวแถลงเปิดความในใจ หลังถูกนายกรัฐมนตรี ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และปลดออกจาก ผบ.ตร.ระบุ มีขบวนการจ้องโค่น เพื่อหวังเก้าอี้ ผบ.ตร.พร้อมชี้แจงข้อกล่าวหาทุกเรื่อง ประกาศฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแน่ ยันต้องสู้ถึงที่สุด เพราะถูกเหยียบย่ำทำร้าย ทั้งที่ทำดีมาตลอดชีวิต

วันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวเปิดใจ กรณีถูก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ภายหลังถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ว่า ที่ออกมาแถลงข่าวในวันนี้ เพราะไม่ต้องการให้สังคมสับสน เพราะที่ผ่านมาตนพยายามปิดตัวเงียบมาโดยตลอด ปล่อยกระบวนการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่จำเป็นต้องออกมาพูด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นการให้ร้ายป้ายสีใคร เพราะหากไม่พูดเลยประชาชนจะเกิดความสับสน ไม่ทราบความจริง

“จนถึงขณะนี้ ผมยังไม่เห็นคำสั่งที่ออกมา เห็นแต่ในทีวี และยังยืนยันว่า ผมเองยังคงเป็น ผบ.ตร.ซึ่งผมจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง จึงไม่อยากให้เข้าใจว่า ผมถูกให้ออกจากราชการไปแล้วจริงๆ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯให้มาดำรงตำแหน่ง และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2551 ได้มีคำสั่งย้าย นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อมาได้มีคำสั่งย้าย นายปราโมทย์ รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กระทั่งวันทื่ 29 ก.พ.2551 ได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับตน พร้อมกับสั่งย้ายให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตนมองว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ทันได้ทำงาน เข้ามาถึงก็สั่งย้ายข้าราชการ แต่กรณีของตนกลับถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงด้วย ตนก็ได้ติดตามข่าวสารทางสื่อมวลชนโดยตลอด พบว่า หนังสือพิมพ์เสนอข่าวย้ายตนตั้งแต่เมื่อวันที่ 17-18 ก.พ.แล้ว แต่ทำไมถึงมาย้ายวันที่ 29 ก.พ.ซึ่งที่เป็นเช่นนั้น เพราะต้องการเวลาเพิ่อจัดเตรียมเอกสาร เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับตน

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อว่า หากดูคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 34/2551 เรื่องแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับตนนั้น มีเหตุผลด้วยกัน 3 เรื่อง โดยจะต้องมีผู้ร้องเรียน เข้ามา ซึ่งจากการตรวจสอบผู้ร้องในเรื่องทั้ง 3 เรื่อง เป็นคนเดียวกัน เป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่ตนสั่งให้ออกจากราชการไปเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2551 จึงมองว่าเรื่องนี้ผู้ร้องเป็นปรปักษ์ต่อกัน เพราะเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน เรื่องที่มีการสอบสวนวินัยร้ายแรงมีด้วยกัน 3 เรื่อง เรื่องเช่ารถยนต์ เรื่องการจัดแข่งขันกีฬา เรื่องแต่งตั้งโยกย้าย มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปที่นายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 ก.พ.เวลา 09.30 น.และเช้าวันที่ 29 ก.พ.นายกฯก็เซ็นคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

“ตรงนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นราชการ ไม่รู้หรอกว่าผิดกฎหมาย ตามขั้นตอนของกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2547 มาตรา 84 เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษว่าข้าราชการตำรวจทำผิดวินัย ก็ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หรือพิจารณาในเบื้องต้นว่า มีมูลการกระทำผิดวินัย แยกอย่างชัดเจนว่าทำได้ 2 ทาง คือ 1.การตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง 2.พิจารณาในเบื้องต้นและมีพยานหลักฐานว่าได้กระทำผิดทางวินัย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใช้วิธีที่ 2 คือพิจารณาในเบื้องต้นโดยไม่ได้มีการสอบสวนข้อเท็จ ซึ่งตามกฎหมายแนวทางการสืบสวนข้อเท็จจริงต้องแจ้งข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงให้ผู้ถูกร้องรับทราบ และมีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงได้ และมีพยานหลักฐานว่าไม่มีมูลความผิด ผู้ที่สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสามารถมีคำสั่งยุติเรื่องได้ หากมีมูลความผิดกรณีกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง แต่หากเป็นความผิดร้ายแรงก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ประเด็นถ้านายกรัฐมนตรีใช้กระบวนตามกฎหมายก็ไม่สามารถย้ายผมได้ทันที และไม่สามารถออกคำสั่งให้ผมออกจากราชการไว้ก่อนได้ แต่ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเป็นกระบวนการกลั่นแกล้งผม ให้ผมพ้นตำแหน่ง เพราะมีกระบวนการที่อยากได้ตำแหน่งนี้มากนัก อยากให้ผมพ้นตำแหน่งจะได้กาคนอื่นมาแทน ก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเลย” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อว่า ถามว่า หากไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ทำได้ แต่ต้องพิจารณาแล้วในเบื้องต้นเห็นว่ามีมูลกระทำผิดทางวินัยการพิจารณาในเบื้องต้น แต่ต้องเทียบเคียงพยานหลักฐาน แต่เมื่อไม่สืบสวนข้อเท็จจริงจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ที่ร้องเป็นปรปักษ์กับตนเองอยู่ และมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน เขาจะใส่ความ ใส่ไคล้ตนเองหรือไม่ นายกรัฐมนตรี พลาด ที่ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้ที่ร้องเรียนมีตำแหน่งสำรองราชการอยู่ที่กองบัญชาตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งหากหนังสือร้องเรียนแล้วพบว่าผู้ที่ร้องเรียนถูกสำรองราชการจะมีความน่าเชื่อถือหรือ ผู้ร้องเรียนถูกสำรองราชการมาร้อง พล.ต.อ.มีตำแหน่งผบ.ตร.จนถูกสำรองราชการ โดยถือหนังสือฉบับเดียว นายกรัฐมนตรีก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับตนเอง มันสมควรหรือไม่ แสดงว่า เชื่อผู้ที่ร้องที่ถูกสำรองราชการ แต่ไม่เชื่อผู้ถูกร้องซึ่งเป็นถึง ผบ.ตร.คนที่ร้องเรียนเป็นตำรวจอยู่ที่ จ.สงขลา จะรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องทั้งเรื่องรถเช่า เรื่องแต่งตั้งโยกย้าย และเรื่องออกกำลังกาย ดังนั้น หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ประเมินได้ว่า มีผู้เขียนไว้ให้เสร็จ แล้วให้ผู้ร้องซึ่งถูกสำรองราชการชีวิตไม่มีความหมาย มาลงชื่อเพื่อแลกกับผลประโยชน์ หลังจากที่ตนเองถูกออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีเชื่อหนังสือได้อย่างไร เอกสารจริงเท็จอาจมีการแต่งเติม ตัดทอนข้อความ ทำไมนายกฯถึงไม่ตรวจสอบ ซึ่งหากมีการตรวจสอบขณะนั้น ตนเองเป็น ผบ.ตร.ทำไมไม่ขอหลักฐานเรื่องการเช่ารถ การแข่งขันกีฬาภายใน แต่ไม่มีการขอ การตรวจสอบเอกสารเป็นจำนวนมาก ให้ตรวจทั้งวันทั้งคืนก็ไม่เสร็จแต่นี่รับเรื่องวันที่ 28 ก.พ.เซ็นหนังสือให้ชข่วยราชการวันที่ 29 ก.พ.มันทำไม่ได้

อดีต ผบ.ตร.ยังได้กล่าวชี้แจงประเด็นต่างๆ รวม 3 ประเด็นที่ถูกร้องเรียน โดยกล่าวว่า ขอชี้แจงแต่ละประเด็น ประเด็นเรื่องการเช่ารถ การเช่ารถไม่ได้อยู่ในอำนาจของตนเอง ตนเองเป็นหน่วยมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติมีนโยบายให้หาวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ เพื่อปฏิบัติงานดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ตนเองก็ต้องทำ แม้เรามีงบประมาณในการซื้อรถ แต่ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปเขาไม่ซื้อกันแล้ว เพราะหากซื้อจะได้รถน้อยไม่มีการประกันความเสียหาย หากเกิดอุบัติเหตุชำรุดเสียหายก็ต้องซ่อมบำรุง ต้องมีเจ้าหน้าที่ไว้ซ่อมบำรุง มีปัญหาเจ้าหน้าที่ก็ทุจริตงบประมาณ นอกจากนี้ เมื่อมีเจ้าหน้าที่ก็ต้องเสียงบประมาณเรื่องเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ พ่อแม่เจ็บป่วย ตัวเองเจ็บป่วย ตนเองจึงเสนอโครงการเช่ารถ ต่างๆ ไปยังรัฐบาล และได้รับการอนุมัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ซื้อรถเป็นการเช่ารถ เราก็ทำไป หลังได้รับการอนุมัติเราก็ทำทีโออาร์ประกาศในเว็บไซด์ มีการตั้งคณะกรรมการประกวดราคา ซึ่งกรมบัญชีกลางเป็นคนตั้งกรรมการมีทั้งตำรวจและบุคคลภายนอก คณะกรรมการก็ทำไปมีคนมาซื้อแบบ 11 ราย และมีคนมาฟังคำอธิบายการประกวดราคา เมื่อได้ราคามาแล้ว หลังจากนั้นก็เสนอไปยังกระทรวงการคลังสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางพิจารณา พิจารณาเห็นชอบราคาที่เสนอไป จากนั้นก็เสนอนายกรัฐมนตรีจัดตั้งงบประมาณ เป็นเรื่องที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อำนาจหน้าที่ไม่ได้อยู่ที่ตนเองอยู่ที่นายกรัฐมนตรี

“เมื่อมีคนมาร้องเรียนนายกฯอย่างนี้ คนที่ได้รับการร้องเรียนจะทำอย่างไร จะคิดว่าไอ้เสรีเม้ง หัวหน้าตำรวจทุจริตเลยเหรอวะ ต้องมาดูว่าโครงการเช่ารถทำอย่างไร ใครผิดก็ตั้งกรรมสอบสวนวินัยร้ายแรงคนนั้น ไม่ใช่พอเช่ารถ เอาไอ้เสรีมันก่อน อย่างนี้มันเจตนาไม่สุจริตแล้ว” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวชี้แจงประเด็นที่ 2 ว่า เรื่องการแข่งขันกีฬา ตนเองมีแผนพัฒนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้านข้าราชการครอบครัว องค์กร ระบบงาน ซึ่งในด้านตัวข้าราชการตำรวจ ต้องมีการพัฒนาด้านความคิด จิตใจ ร่างกาย โดยเฉพาะด้านร่างกาย การออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พร้อมปฏิบัติหน้าที่ การแข่งขันกีฬาก็ทำให้มีน้ำใจนักกีฬา และจะมีการแข่งขันกีฬาประจำปี ซึ่งเรื่องนี้ผู้เสนอก็เสนอขึ้นมาว่าอยู่ในช่วงงานพระศพ ของเลื่อนออกไป หน้าห้องได้รับหนังสือก็ตามน้ำ ให้เด็กพิมพ์แล้วก็เซ็นๆ กันมา มองดูแล้วใช้ไม่ได้ ไม่ใช้สมอง ก็แทงหนังสือของกองสวัสดิการไปที่หน้าห้องถามว่า ควายหรือเปล่า การแข่งขันกีฬาเป็นเรื่องพัฒนาร่างกายให้มีความแข่งแรงสมบูรณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับงานพระศพ และให้จัดการแข่งขันตามกำหนด ลูกน้องก็ต้องพิมพ์หนังสือตอบกลับไป แต่มักง่ายส่งหนังสือตัวนี้ไปเลย คำว่า ควายจึงไปปรากฏผ่านสื่อ แต่ถามว่า ควายหรือเปล่า เป็นประโยคคำถาม จะได้รู้ว่าโง่หรือเปล่าที่คิดแบบนี้ ซึ่งเป็นการทำงานของลูกน้องของตนเอง ที่ทำงานอยู่กับตนไม่เห็นผิดตรงไหน ไม่น่าจะมาตั้งสอบสวนวินัยร้ายแรง แต่พยายามดึงลงไปเกี่ยวข้องกับสถาบันว่า ใช้ข้อความอันมิบังควร แต่ถ้าบอกว่าตนเองใช้ข้อความไม่สุภาพจะตรงมากกว่า แต่พยายามจะดึงให้ตนไปหมิ่นสถาบัน ไม่จงรักภักดี

“ผมได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามากล้ากลางสมรภูมิ ต้องถือน้ำพิพัฒศัตยา และสาบานต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ ต่อหน้าทูตานุทูต ต่อหน้าองคมนตรี รัฐบาลเมื่อปี 2520”

อดีต ผบ.ตร.กล่าวชี้แจงประเด็นสุดท้ายว่า เรื่องที่ 3 การแต่งตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย บอกเลยว่า ผู้เร้องเรียนไม่เข้าใจกฎหมาย อยู่ดีๆ ก็มากล่าวหาว่า ตนเองแต่งตั้งผิดกฎหมาย ตามกฏหมายการจะตั้งกระทรวง ทบวง กรม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าเป็นกองบัญชาการ ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เพราะฉะนั้น การตั้งกองบังคับการ หรือแบ่งส่วนราชการอื่นให้ออกเป็นกฎกระทรวง เพราะฉะนั้น ความหมายของส่วนราชการอื่น คือส่วนราชการที่เทียบเท่ากองบังคับการ อย่างเช่น กองสารนิเทศ และสำนักเลขานุการตำรวจแห่งชาติที่ไม่ใช่กองบังคับการ นี่คือความหมายของส่วนราชการอื่น เพราะฉะนั้นการแบ่งส่วนราชการในกองบังคับการและส่วนราชการอื่น ที่เทียบเท่า ต้องออกเป็นกฎกระทรวง แต่ที่ผมแต่งตั้งและกำหนดตำแหน่งผู้กำกับการฝ่ายต่างๆ ในกองปราบปราบ ทางหลวง ท่องเที่ยว ในสันติบาล มันไม่ใช่ส่วนราชการอื่น ในความหมายนี้ก็สามารถทำได้ ถ้าทำไม่ได้ ก.ตร.ก็ไม่ให้กำหนดตำแหน่ง เพราะก่อนที่จะมีตำแหน่ง ก่อนที่ตนเองจะแต่งตั้งได้ประมวลเรื่องเสนอไปว่า ตอนนี้กองปราบปราม มันไม่สามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกองอื่นๆ ทำอย่างไร ถึงจะทำไห้ดี จึงแบ่งให้ครอบคลุมพื้นทีนครบาลและ บช.ภ.1-9 เพื่อให้สามารถใช้งานได้ครอบคลุมพื้นที่ เช่นทางหลวงกอง 1 อยู่ภาค 1 กอง 9 ก็อยู่ภาค 9 เพื่อให้ผู้บัญชาการพื้นที่เรียกใช้งานได้ และการสร้างกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคเพื่อต้องการให้ทุกหน่วยไปรวมเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนที่ 2 ให้งานมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเหตุผลต่างๆ ที่ขอกำหนดตำแหน่งไปของกำหนดหน้าที่ไป ก.ตร.ก็เห็นชอบ เมื่อเห็นชอบก็เป็นหน้าที่ของตนเองที่จะมาแต่งตั้งออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อกำหนดหน้าที่ให้ฝ่ายปฎิบัติการต่างๆ ความจริงเรื่องนี้เสนอ ก.ตร.ไปหมดแล้ว แต่คนพวกนี้ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจกฎหมายจึงไปร้องเรียน ว่าตนเองทำผิดกฎหมายแต่งตั้งโดยไม่ชอบ แต่ท่านนายกฯควรดูเสียก่อนว่ากฎหมายเป็นอย่างไร สืบสวนดูก่อน ไม่ใช่พอมีคนร้องก็ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยผม มันได้ที่ไหน

“ตอนนี้ประเด็นเรื่องการแต่งตั้งโดยมิชอบเป็นเรื่องของกรรมการ แต่ปรากฏว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับมาตั้งกรรมการพิจารณาว่า คำสั่งเหล่านี้มิชอบ เป็นการชี้นำคณะกรรมการ ซึ่งมันมิชอบ และบางทีผมเห็นรายงานแล้วอดสูแก่ใจ ว่านี่หรือที่ทำงาน ในฐานะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบางเรื่องที่เสนอขึ้นมา มติ ก.ตร.เป็นอย่างนี้ ตัวเองจะมีความเห็น ตัวเองควรจะถาม ก.ตร.ว่า ที่มีมติมาอย่างนี้ มันหมายความว่าอย่างไร ถึงจะเอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่คิดว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กูไม่สนใจ กูคิดเอาเอง อย่างนั้นมันไม่ใช่ ก็ทำอย่างนี้ไง ประชาชนจะเดือดร้อน เพราะฉะนั้นสรุปได้เลยว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 34/2551ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยผมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำสั่งที่ 35/2551 ที่ให้ผมไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ผมก็ไป ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม จนกระทั่งวันนี้นายกรัฐมนตรียังไม่เคยมอบหมายงานให้ผมเลยแม้แต่อย่างเดียว จึงไม่รู้ว่าให้ผมไปทำไม ถ้ามีงาน ก็ว่าไปอย่าง ถ้าไม่มีงานแล้วให้ไปก็น่าสับสน” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบายความอัดอั้น

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อว่า ต่อมา เมื่อมีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ตนก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม คณะกรรมการเรียกให้ไปชี้แจงข้อกล่าวหาตนก็ไป หลังจากนั้น ก็ปล่อยให้คณะกรรมการสอบสวนไป ทั้ง 3 ประเด็น ระหว่างนี้ตนก็คิด ในเมื่อรัฐบาล และทางการเมือง ไม่อยากให้ตนอยู่แล้ว ตนก็โอเค ไม่อยู่ก็ได้ ตนก็ได้ประสานผ่านคนกลาง ว่า ตนลาออกก็ได้ หากไม่อยากให้ตนอยู่ แต่ว่าต้องยกเลิกคำสั่งที่แต่งกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยมิชอบ นายกรัฐมนตรีทำไม่ถูกต้อง ให้ยกเลิกซะ แล้วตนจะลาออก คุณจะตั้งใครตนไม่ว่า แต่ก็ไม่มีคำตอบออกมา เมื่อไม่มีคำตอบตนก็อยู่ของตนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งอีกครั้ง ตนเพิ่งทราบเมื่อวันที่ 9 เมษายน ก็มีคำสั่งที่ 71/2551 ตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง อ้างว่าตนจะทุจริต แต่ก็ไม่กล้าตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เพราะกลัวผิดซ้ำซาก ก็โอเคตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างนี้ถูกต้อง เมื่อมีการร้องเรียน ไม่ว่าจากใคร ไม่ว่าจากคนที่ผมปลดออกจากราชการมาร้องเรียน คำสั่งนี้ถูกต้องเพราะตนสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายชี้แจงได้

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวถึงเรื่องคดีการทุจริตลำไย ว่า เรื่องทุจริตงบประมาณในการสืบสวนคดีลำไย ในปี 2547/2548 ที่ตั้งตนเองเป็นกรรมการสอบสวน ซึ่งคดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องว่าทุจริตจำนวนมาก ซึ่งทางปลัดกระทรวงเกษตรฯได้ให้งบราชการลับ ตนก็มาเปิดบัญชีสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้จ่ายในการสืบสวนสอบสวน โดยมีคณะกรรมการ มีรองผู้บัญชาการ 3 ท่านที่ต้องรับผิดชอบงานในกลุ่มงานต่างๆ เงินที่ได้มา ทั้งหมดกว่า 15 ล้านบาท คนร้องเรียนยังไม่รู้ข้อมูลเลย อ้างว่าได้มา 20 ล้านบาท ซึ่งตนได้ใช้จริงแค่กว่า 4 หมื่นบาท เท่านั้น นั่งเครื่องบินชั้นธรรมดา 3-4 ครั้ง เพื่อประหยัดงบประมาณรัฐ ที่เหลืออีกกว่า 15 ล้านบาท ลูกน้องเอาไปใช้ทั้งนั้น เวลาเขาจะทำอะไร ก็มาขออนุมัติ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้การสืบสวนเป็นไปด้วยดี ซึ่งตอนนี้การสอบสวนคดีลำไยยังไม่จบ ซึ่งเรื่องคนทำงาน ไม่เหมือนเรื่องคนไม่ทำงานหรอก

เรื่องที่ 2 กรณีกล่าวหาล็อกสเปกจัดซื้อรถจักรยานยนต์ เรื่องนี้ไม่มีหรอก มันมีบริษัทหนึ่งทำหนังสือพิมพ์ไม่สุจริต ใช้หนังสือพิมพ์ตีหน่วยราชการที่จัดซื้อจัดจ้างรถจักรยานยนต์ ไปตีเพื่อเอางบ และก็ได้งบส่วนนั้นไป โดยในส่วนของ ตร.ได้งบจัดซื้อ จยย.19,000 คัน ก็ถูกหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตี แต่ตนไม่กลัวโจร ก็ฟ้องร้องดำเนินคดีที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ก็ส่งคนมากราบตีนตน ให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาขอ พฤติกรรมอย่างนี้มันโจร ทำไม่ได้หรอก ผู้ใหญ่ก็เข้าใจ ส่วนเรื่องการจัดซื้อขั้นตอนทำทีโออาร์ ประกวดราคา จัดซื้อจัดจ้างถูกต้องหมด ที่ไม่เอา ฮอนด้า ยามาฮ่า ซูซูกิ เพราะราคาแพงคันละกว่า 1 แสนบาท แต่เราได้งบคันละ 6 หมื่นบาท ครั้งนี้ซื้อได้ในราคา 59,000 บาท ถูกกว่าราคากลางกว่า 5 พันบาท ซึ่งตรงนี้ ครม.ก็อนุมัติ

เรื่องที่ 3 กรณีที่ดินที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งรีสอร์ตภูไพรธารน้ำ ตนขอยืนยันว่า ได้โฉนดมาอย่างถูกต้อง ที่ด้านหนึ่งติดแม่น้ำแควน้อย แต่มีปัญหาถูกน้ำเซาะโดยตลอด จึงได้ขออนุญาตกรมเจ้าท่าเพื่อถมที่อย่างถูกต้อง ซึ่งทุกครั้งกรมเจ้าท่าได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดู และยืนยันว่าถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้มีคนมาร้องเรียนเป็นร้อยครั้ง แต่ก็ไม่จบสิ้นซักที การถมที่ถูกต้องด้านหนึ่งติดเขาลูกเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ เมื่อรังวัดก็พบว่าบ้านของตน 2 หลังเกินไปในที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรฯ ก็ได้ไปติดต่อเช่า ระยะเวลา 5 ปี เป็นเงินกว่า 7 หมื่นบาท ต่อมาไม่มีเวลาก็ให้คนอื่นเช่าที่ไป ตนใช้พักผ่อนเพียง 1 หลัง เรื่องนี้ชี้แจงได้ไม่มีปัญหา

เรื่องที่ 4 กรณีกล่าวหาว่า ใช้เฮลิคคอปเตอร์ มุมมองมันต่างกัน ซึ่งข้อเท็จจริงตามระเบียบอำนาจการใช้อากาศยานเป็นของ ผบ.ตร.ซึ่งภารกิจการใช้อากาศยานจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน อันดับแรกคือ พระบรมวงศานุวงศ์ รองลงมา เป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และผบ.ตร.ซึ่งการอนุมัติใช้ ฮ.ทุกครั้งเป็นอำนาจ ผบ.ตร.โดยยอมรับว่าใช้ ฮ.ไปทองผาภูมิจริง ไปกี่ครั้งก็แล้วแต่ ถามหน่อยจะให้ผมทำงาน แต่ในห้องทำงานหรือ ทำที่อื่นไม่ได้หรือ อย่างไปงานอื่นเป็นราชการลับ อย่างช่วงแต่งตั้ง มีตำรวจมาเฝ้าผม มาวิ่งเต้นเยอะแยะ ก็ต้องหลบออกไปทำโผแต่งตั้งโยกย้ายบ้าง ผมเอางานไปทำ ผมมีอำนาจแล้วเห็นสมควร ก็ไม่มีความผิดอะไร ส่วนจะอนุญาตให้คนอื่นขึ้นก็ทำได้เป็นอำนาจ ผบ.ตร.จะให้พี่น้องประชาชนได้ขึ้นนั่ง ฮ.บ้าง ขึ้นไปศึกษา เผื่ออยากสร้างเครื่องบิน ไม่ใช่ยังจุดบั้งไฟกันอยู่ไม่รู้กี่ปีแล้ว ซึ่งการอนุญาตให้ประชาชนขึ้นนั้นจะผิดอะไร

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวยอมรับว่า การออกคำสั่งสืบสวนข้อเท็จจริงของนายกรัฐมนตรีถูกต้อง ที่ให้สืบสวนข้อเท็จจริงก่อนสอบสวนวินัย ส่วนคำสั่งที่ 71/2551 ที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งมาจากกรณีถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงในคำสั่งที่ 34/2551 ซึ่งไม่ได้สืบสวนข้อเท็จจริงเลย

“อยู่ดีๆ ก็มาตั้งร้ายแรงให้ออกได้ มันผิดนะ ผมเตือนท่านนายกฯไว้ด้วย” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี

อดีต ผบ.ตร.ผู้นี้กล่าวต่อว่า เหตุผลต่อมา อ้างกฎ ก.ตร.สั่งพักราชการให้ออกจากราชการไว้ก่อน 2547 ข้อ 3(1)(2) ที่ว่าถ้ายังคงอยู่ในหน้าที่ราชการแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหาย จึงให้ออกจากราชการ เน้นคำว่าหน้าที่ แต่กรณีของตน ตนอยู่ในตำแหน่ง แต่ไม่อยู่หน้าที่แล้ว อ่านภาษาไทยต้องอ่านให้เข้าใจด้วย เพราะตนไม่อยู่ในหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ.แล้ว ตรงนี้เข้าใจผิดแล้วนะ อ่านหนังสือกันเข้าใจหรือไม่ ประเด็นที่ 2 ที่ว่าให้ออก เมื่อผู้นั้นเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น จะบ้าไปแล้วหรือเปล่า เพราะการสอบสวนมีอัยการสูงสุด เป็นประธาน เป็นรองปลัด และนายตำรวจเป็นกรรมการ ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือ ไม่เคยไม่ยุ่งเกี่ยวแม้แต่สั่งงานใครก็ไม่ได้แล้ว ให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี บุญวาสนาไม่มีแล้ว ใช้ตำรวจสักคนยังไม่ได้ ตนจะเอาอิทธิพลอะไรไปสร้างความเดือดร้อนเสียหาย ส่วนประเด็นที่เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปโดยรวดเร็ว ก็ขึ้นกับการสอบสวนถ้าเร็วก็เร็ว เฉื่อยก็ช้า ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลายคนไม่เข้าใจ นากยกรัฐมนตรีทำไม่ถูกต้องมาตลอด

อดีต ผบ.ตร.กล่าวว่า จากนี้จะอุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.ตร.ภายใน 30 วัน ก่อนจะยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกคำสั่ง เนื่องจากเป็นคำสั่งมิชอบ จากนั้นก็จะยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

“ผมกับนายกรัฐมนตรีไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็เคารพนับถือท่านที่เป็นนักการเมืองอาวุโส เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ผมมันข้าราชการตัวเล็กๆ ก็รู้จักกันแค่นี้ ท่านอาจรู้จักผมทางสื่อต่างๆ อยากเรียนว่า กฎหมายเขียนให้คนปฏิบัติตาม การทำให้ผู้อื่นและครอบครัวเสียหายมันเป็นบาป ในเมื่อเรื่องมันมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ต้องใช้ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง” อดีต ผบ.ตร.กล่าว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ก็จะฟ้องไปเรื่อยๆ ฟ้องนายกรัฐมนตรีรายแรก จะฟ้องเมื่อไหร่จะบอก ตนต้องต่อสู้ถึงที่สุด เพราะโดนเหยียบย่ำทำร้าย ทั้งที่ทำดี ทำเพื่อชาติมาตลอดชีวิต ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ นั่นเพราะตนอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกโค่นล้ม โดยขบวนการที่อยากได้ตำแหน่ง ซึ่งแต่ไม่ออกมาตอบโต้ เพราะคิดว่ายังคุยกันได้ อยากได้ตำแหน่งก็เอาไป แต่ถึงอย่างไร ชื่อของตนก็อยู่ในประวัติศาสตร์ ผบ.ตร.แต่ก็ไม่หนักใจที่คนที่ตนฟ้องร้องเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และตนไม่ได้ยอมรับสภาพ เพราะถ้ายอมรับคงไม่ออกมาต่อสู้อย่างนี้ ซึ่งขบวนการโค่นตนมีอยู่ มองความเชื่อมโยงกันเอง
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส  แถลงเปิดใจหลังถูกคำสั่งปลดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เดินทางมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กลุ่มผู้สื่อข่าวรุมล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น