xs
xsm
sm
md
lg

“ขิงแก่” ไฟเขียวโครงสร้าง ตร.เบรก “เสรีพิศุทธ์” ขอเพิ่มขุมกำลัง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ครม.“สุรยุทธ์” ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การขอเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการตำรวจปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2553 และการขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการ วงเงิน 338 ล้านบาท ส่วนการขอเพิ่มอัตรากำลังพล ไม่อนุมัติ เกรงไม่สอดรับโครงสร้างใหม่

วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ...ซึ่งจากระบบราชการแบบเดิมที่แบ่งสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับกองบัญชาการ จำนวน 24 กองบัญชาการ แต่ในรูปแบบใหม่ตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 12 สำนัก และกองบัญชาการ จำนวน 21 กองบัญชาการ โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้น จำนวน 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการ สำนักงานกำลังพล สำนักงานข่าวกรอง สำนักงานนโยบายและแผน สำนักงานวิชาการและกฎหมาย สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานงบประมาณและการเงิน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสวนคดีพิเศษ และสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ

นายไชยา กล่าวว่า ประเด็นทั้งหมดที่มีการพูดถึง คือ การปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการดังกล่าวนั้น ไม่มีการปรับเพิ่มจำนวนตำแหน่งข้าราชการตำรวจ แต่เป็นการปรับเกลี่ยตำแหน่งโดยใช้กำลังพลที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างเหมาะสม โดยมีความเห็นสำนักงบประมาณ ก.พ. ก.พ.ร.และกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ นายไชยา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ไม่อนุมัติการขอเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการตำรวจในปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2553 จำนวน 1.6 หมื่นอัตรา แบ่งเป็นปีละ 8,000 อัตรา (สัญญาบัตร 4,000 อัตรา และชั้นประทวน 4,000 อัตรา) โดยขอให้นำกลับไปพิจารณาทบทวน แต่ได้อนุมัติการจัดสรรอัตราคืนเนื่องจากการเกษียณอายุราชการของ
ข้าราชการตำรวจในปีงบประมาณ 2550 จำนวน 1,494 อัตรา

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 338 ล้านบาท ตามที่ สตช.เสนอ เพื่อใช้สำหรับก่อสร้างอาคารกองบัญชาการ และที่พักอาศัย (แฟลต) 5 ชั้น ขนาด 40 หน่วย ของตำรวจภูธรภาค 8 และ 9 พร้อมส่วนประกอบ

รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า การขออนุมัติเรื่องที่ สตช.ได้มีการนำเสนอทั้ง 3 เรื่อง (ร่าง พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การขอเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการตำรวจในปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2553 และการขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการ) ได้เข้าสู่การประชุมเพื่อพิจารณาตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยการเสนอของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม ครม.ดังนั้น ในการประชุม ครม.วันที่ 22 ม.ค.นี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเดินทางมาเสนอเรื่องด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการไม่อนุมัติเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการตำรวจนั้น โดยหลักการที่ประชุม ครม.มีความเห็นเตรียมที่จะอนุมัติอัตรากำลังพลให้ แต่เนื่องจากตัวโครงสร้างสำนักงานตำรวจใหม่ยังไม่เสร็จ จึงเกรงจะไม่มีความสอดรับกัน ทำให้ยังไม่อนุมัติ

ด้าน พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายบริหาร(รองผบ.ตร.บร.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างใหม่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ คณะรัฐมนตรีมีมติรับร่างพระราชกฤษฎีกาโครงสร้างตร. ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในมุมของกฎหมาย จากนั้นก็ให้นายกรัฐมนตรีลงนามและประกาศ มีผลใช้บังคับได้เลย โดยตร.ได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยการปรับปรุงโครงสร้างครั้งนี้ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ตั้งแต่เดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 โดยมีการหยิบโครงสร้างเก่าก่อนปรับปรุงในปีพ.ศ. 2548 มาพิจารณา ด้วย เพื่อดึงโครงสร้างเก่าที่ใช้งานได้ดี มีประโยชน์มาใช้พิจารณาปรับใช้ออกเป็นโครงสร้างฉบับนี้



“เราพิจารณาโครงสร้างตร. โดยสมมุติเป็นตัวคน มีส่วนประกอบสำคัญคือ หัวที่ต้องมีสมองดี ตัว และแขนขาที่แข็งแกร่ง เพื่อให้ตำรวจสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของตำรวจที่เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ภายใต้โครงสร้างที่ดีขึ้นนั้นเอง โดยในเบื้องต้นเราไม่เพิ่มอัตราตำแหน่ง แต่จะเกลี่ยจากตำแหน่งที่มีอยู่แล้วมาทำงานในโครงสร้างใหม่ ” รองผบ.ตร. กล่าว



พล.ต.อ.ชาญวุฒิ กล่าวว่า ในโครงสร้างใหม่ จะมีกองบัญชาการ(บช.)เกิดใหม่ 9 บช.โดย ในจำนวนนี้ มีการตั้งบช.ใหม่ซึ่งเป็นบช.เก่าที่ถูกยุบไปเมื่อครั้งปรับปรุงโครงสร้างครั้งล่าสุดขึ้นมาด้วย คือ สำนักงานกำลังพล สำนักงานนโยบายและแผน และสำนักงานส่งกำลังบำรุง บช.ที่ยกระดับมาจากกองบังคับการ คือ สำนักเลขานุการ สำนักงานงบประมาณและการเงิน และสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ บช.ที่มีการเพิ่มปรับจากบช.เก่า ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ที่แยกมาจากบช.ตำรวจสอบสวนกลาง และสำนักงานวิชาการและกฎหมาย ที่แยกจากสำนักงานกฎหมายและสอบสวน และรวมเอาหน่วยขึ้นตรงบางหน่วยมาไว้ในสังกัด ส่วนบช.ที่ตั้งใหม่คือ สำนักข่าวกรอง เป็นหน่วยในสำนักงานบังคับบัญชา

“ในโครงสร้างใหม่ มีการเพิ่มกองตำรวจสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยระดับกองบังคับการ เข้าไปใน ตำรวจภูธรภาค 1-9 แบ่งกองปราบปรามออกเป็น 5 กองบังคับการ เพื่อให้มีหัวหน้าหน่วยเป็น พล.ต.ต. เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างชั้นยศของ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด กับหัวหน้าหน่วกองปราบปรามในพื้นที่ มีการเพิ่มกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคไปใน ตำรวจสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และย้ายกองตำรวจท่องเที่ยวที่เดิมอยู่ในสอบสวนกลางไปไว้ในตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเพิ่ม กองป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติไว้ในตำรวจตรวจคนเข้าเมืองด้วย”พล.ต.อ.ชาญวุฒิ กล่าว



พล.ต.ท.ชาญวุฒิ กล่าวต่อว่า รวมแล้วตร.จะมีบช.ทั้งสิ้น 33 บช. จากเดิม 24 บช. ซึ่งอยู่ในพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการ ตร. ฉบับนี้ที่ผ่าน ครม.แล้ว ส่วนหน่วยงานระดับเล็กกว่าตั้งแต่กองบังคับการลงมา ในสังกัดบช.ต่างๆนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติเป็นที่สิ้นสุด ที่ออกมาในโครงสร้างเป็นเพียงกรอบที่วางไว้ ซึ่งขณะนี้ตร.มอบให้ พล.ต.ท.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้ช่วยผบ.ตร. ไปศึกษา เพื่อทำร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการนำเสนอครม.อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น