กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) สื่อดั้งเดิมทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ต่างปิดตัวลง หรือไม่ก็ลดขนาดธุรกิจเพื่อความคล่องตัวจากพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป
หนึ่งในนั้นคือ สื่อวิทยุ ที่มีประวัติศาสตร์ในประเทศไทยยาวนานกว่า 90 ปี ผ่านยุคเฟื่องฟูจากการให้สัมปทาน กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดให้มีองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ก่อให้เกิดวิทยุชุมชนขึ้นมากว่า 3,000 สถานี
ที่ผ่านมา องค์กรอิสระอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พยายามเข้ามาจัดระเบียบคลื่นความถี่วิทยุมานานแล้ว
วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ปัจจุบันมีรวมกันราว 4,390 คลื่น แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กับ 2. ผู้ทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม
ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
กลุ่มแรก วิทยุบริการสาธารณะ มี 389 คลื่น แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะประเภทที่ 1 พวกกระทรวง ทบวง กรม มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ปัจจุบันมี 20 คลื่น
บริการสาธารณะประเภทที่ 2 วิทยุเพื่อความมั่นคง มี 249 คลื่น กองทัพบกถือครองมากที่สุด 122 คลื่น รองลงมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 44 คลื่น กองทัพอากาศ 36 คลื่น กองทัพเรือ 21 คลื่น กองบัญชาการกองทัพไทย 14 คลื่น
และบริการสาธารณะประเภทที่ 3 วิทยุของรัฐบาลกับรัฐสภา มี 120 คลื่น กรมประชาสัมพันธ์ถือครองมากที่สุด 104 คลื่น รองลงมาคือรัฐสภา 16 คลื่น ทั้ง 3 ประเภทใบอนุญาตสิ้นสุดลง 3 เมษายน 2570
ความแตกต่างระหว่างวิทยุบริการสาธารณะแต่ละประเภทก็ต่างกัน วิทยุบริการสาธารณะประเภทที่ 1 กับประเภทที่ 3 กรมประชาสัมพันธ์ รัฐสภา หาโฆษณาทางธุรกิจไม่ได้ เว้นแต่โฆษณาภาครัฐ หรือโฆษณาภาพลักษณ์องค์กร
ส่วนวิทยุบริการสาธารณะประเภทที่ 2 บรรดาคลื่นทหาร มีโฆษณาได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และแบ่งเวลาให้ผู้ผลิตรายการร่วมเพื่อหารายได้อีกทาง จึงได้เห็นบรรดาผู้จัดไปผลิตรายการให้คลื่นทหารเหล่านี้
กลุ่มที่สอง วิทยุบริการธุรกิจ ซึ่งสำนักงาน กสทช. นำคลื่นที่หน่วยงานต่างๆ ส่งคืนเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ รวม 74 คลื่น ได้แก่ อสมท 60 คลื่น กรมประชาสัมพันธ์ 10 คลื่น และกรมไปรษณีย์โทรเลขอีก 5 คลื่น
การประมูลคลื่นวิทยุจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่ามีผู้ชนะประมูล 9 ราย มูลค่ารวม 700 ล้านบาท ในวันนั้นเป็นการสู้ยิบตาระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด
ปัจจุบัน อสมท. มีคลื่นมากที่สุด 47 คลื่น รองลงมาคือ ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 10 คลื่น เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติ นอกนั้นเป็นระดับภูมิภาค โดยใบอนุญาตมีอายุ 7 ปี จะสิ้นสุดวันที่ 3 เมษายน 2572
ส่วน “ผู้ทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม” ซึ่งเคยเป็นวิทยุชุมชนมาก่อน ปัจจุบันมี 3,930 คลื่น แบ่งเป็นประเภทธุรกิจ 3,151 คลื่น ประเภทสาธารณะ 615 คลื่น และประเภทชุมชน 164 คลื่น
วิทยุเหล่านี้เคยเป็นวิทยุชุมชนมาก่อน เดิมมีแผนให้วิทยุคืนคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรใหม่ภายในปี 2560 แต่เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 ก็ได้มีการขยายเวลาคืนคลื่นความถี่ไปเป็นวันที่ 3 เมษายน 2565
กระทั่ง กสทช. ออกหลักเกณฑ์การทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทธุรกิจ ประเภทสาธารณะ และประเภทชุมชน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
จัดระเบียบใหม่ให้กลายเป็น “ผู้ทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม” โดยให้ขึ้นทะเบียนและออกอากาศตามเงื่อนไข โดยกำหนดไว้ว่าสามารถออกอากาศได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ถือเป็นการนับถอยหลัง “วิทยุชุมชน” โดยที่ไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะได้ไปต่อหรือไม่?
เมื่อวันก่อน มีโอกาสนั่งฟังการนำเสนอรายงาน หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 มีผู้เข้าอบรมรายหนึ่ง ทำรายงานเฉพาะบุคคลในหัวข้อ “หลักเกณฑ์ว่าด้วยการทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำ” ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยมีองค์กรอิสระเป็นตัวกลางทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่
แต่ในช่วงที่มีภาวะสุญญากาศ ก็ได้เกิด “วิทยุภาคประชาชน” ตามมติคณะรัฐมนตรี เชิญผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจุดปฏิบัติการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชน ทำให้มีผู้สนใจจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนมากกว่า 3,000 สถานี
เมื่อมีวิทยุชุมชนจำนวนมาก ก็เกิดปัญหาทางเทคนิคที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ต่างคนต่างอัดความถี่ของตัวเอง เกิดคลื่นรบกวนในความถี่เดียวกัน ฟังไม่รู้เรื่อง ทำให้สำนักงาน กทช. ในขณะนั้นเรียกให้วิทยุชุมชนขึ้นทะเบียนให้หมด
ปัญหาก็คือ เมื่อมีประกาศให้วิทยุชุมชนออกอากาศในระบบเอฟเอ็มความถี่ต่ำ ทำให้ต้องมาทบทวนว่า วิทยุใหญ่ (วิทยุบริการธุรกิจ) กับวิทยุเล็ก (วิทยุชุมชน) ที่ขึ้นทะเบียนไว้ ทำไมไม่ได้ใช้ความถี่เดียวกัน
ทั้งที่คลื่นหน้าปัดวิทยุที่มีตั้งแต่ 88-108 MHz. น่าจะใช้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่เสรีและเป็นธรรม โดยพบว่าผู้ทดลองออกอากาศประเภทธุรกิจ ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ผลการศึกษาก็คือ ประกาศ กสทช. 2 ฉบับ ได้แก่ แผนความถี่วิทยุเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำ กับ มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุทดลองออกอากาศจำนวนมาก
โดยเฉพาะต้นทุนในการปรับปรุงเครื่องส่งวิทยุ จากเดิมที่ใช้กำลังส่ง 500 วัตต์ เสาสูง 60 เมตร ให้เหลือกำลังส่งไม่ถึง 50 วัตต์ ต้องลงทุนเพิ่มประมาณ 50,000-150,000 บาทต่อสถานี
ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่จะต้องลดต้นทุน กระทบการบริหารจัดการหารายได้ เมื่อรัศมีการออกอากาศลดลงจาก 30 กิโลเมตร เหลือ 5-10 กิโลเมตร การรับรู้ข่าวสารของชุมชนลดลงอย่างมาก
ขณะที่สำนักงาน กสทช. ยอมรับว่า หลังมีประกาศออกมา ได้ชี้แจงกับกลุ่มผู้ประกอบการเป็นระยะ ซึ่งพอจะได้เห็นแรงกระเพื่อม โดยหลังจากนี้จะใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และเตรียมการก่อนเข้าสู่ระบบใบอนุญาต
ที่ผ่านมา สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) ซึ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพวิทยุขนาดเล็ก มีข้อเสนอแนะแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งถือว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ
อาทิ คนที่จะขอใบอนุญาตวิทยุชุมชน ต้องเป็นผู้ประกอบการและนักจัดรายการท้องถิ่น เคยได้รับอนุญาตทดลองออกอากาศจาก กสทช. มาแล้วเท่านั้น เสียภาษีให้ท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 5 ปี มีโฆษณาในท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 80%
เครื่องส่งวิทยุใช้กำลังส่ง 500 วัตต์ เสาสูง 60 เมตรเหมือนเดิม ไม่จำกัดรัศมีแต่ขึ้นอยู่กับมาตรฐานและภูมิประเทศ เช่น พื้นที่ราบ พื้นที่ภูเขา ใบอนุญาตมีอายุ 7 ปี ค่าธรรมเนียมรายปีไม่เกิน 12,000 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด
นอกจากนี้ กสทช. ควรคิดถึงบริบทและความต้องการของสังคม ในการจัดทำแผนแม่บทความถี่ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง ปี 2551 และสานต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อตามรัฐธรรมนูญในอดีต
นี่เป็นบางช่วงบางตอนของการนำเสนอรายงานดังกล่าวที่นำมาเล่าสู่กันฟัง สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ได้ไปดูงาน ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีสถานีวิทยุท้องถิ่น ที่มีใบอนุญาตทดลองออกอากาศของ กสทช.
ขณะนี้กำลังรอท่าทีจาก กสทช. ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อทิศทางของวิทยุชุมชน หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการออกอากาศของวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ว่าจะผ่านรัฐบาลชุดนี้ หรือต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา
เพราะยังเหลือเวลาที่ กสทช. จะต้องนำวิทยุชุมชนเข้ามาในระบบใบอนุญาตอีกไม่ถึง 2 ปีเท่านั้น!