‘อนุดิษฐ์’ เปิด 6 ข้อสงสัยปมส่อทุจริตประมูลวงโคจรดาวเทียม จี้ ‘ประยุทธ์-กสทช.’ แจงพิรุธฮั้วประมูล-เอื้อประโยชน์นายทุนหรือไม่ ลั่นตามไม่ปล่อยเตรียมนำข้อมูลเชิงลึกมาแฉต่อ
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักงานปราบโกง (สปก.) พรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวเบาะแสส่อทุจริตการประมูลวงโคจรดาวเทียมที่ กสทช. ดำเนินการเมื่อเดือนมกราคม 2566 และมีบริษัทที่ชนะการประมูลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้การดำเนินการจะดูเหมือนว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.กสทช. แต่เมื่อ สปก.ได้ตรวจสอบเชิงลึกกลับพบกับความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ซึ่งอาจเป็นหลักฐานนำไปสู่การกระทำทุจริต ประพฤติผิดมิชอบ
ทั้งนี้ สปก. ขอถามไปยัง “คณะกรรมการ กสทช.” ให้ตอบข้อสงสัย ดังต่อไปนี้
1.เหตุใด กสทช. จึงต้องออกประกาศหลักเกณฑ์ให้ใช้วิธีการประมูลวงโคจรดาวเทียมเป็นวิธีการเดียวและเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลวงโคจรดาวเทียมจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด? ทั้งที่กฎหมายเปิดกว้างและไม่ได้บังคับให้ใช้เฉพาะวิธีการประมูล แต่สามารถใช้วิธีการอื่นที่อาจดีกว่าวิธีการประมูลก็ได้ เช่น วิธีการจัดสรรให้กับหน่วยงานของรัฐโดยตรง เป็นต้น เพราะกรณีการจัดสรรตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมแตกต่างกับวิธีการประมูลคลื่นความถี่ที่กฎหมายบังคับให้ใช้วิธีการประมูลวิธีเดียวเท่านั้น
2.การประมูลดังกล่าวเป็นการเปิดกว้างให้บริษัทต่างๆ เข้ามาแข่งขันราคากันอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่? เพราะบริษัทที่เข้าแข่งขันซึ่งมีเพียง 3 บริษัท และอาจแบ่งกันชนะการประมูลด้วย ซึ่งในวงการต่างรู้ดีว่าเป็นของใครบ้าง นำมาสู่ข้อสงสัยต่อมาว่าได้มีการเคาะราคากันอย่างจริงจังหรือไม่? หรือเป็นเพียงแค่การจัดฉากให้เห็นว่ามีการประมูลตามหลักเกณฑ์เท่านั้น? เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นการประมูลวงโคจรดาวเทียมย่อมไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ หรือการจัดการประมูลครั้งนี้อาจทำขึ้นเพื่อเอื้อเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่?
3.บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศ และเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ แต่ไม่ได้เข้าแข่งขันในตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่บริษัทเอกชนเข้าประมูล ทั้งที่ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่สามารถนำไปแสวงหากำไรได้มากที่สุด ดังนั้นจึงอยากสอบถามไปยังผู้รับผิดชอบใน NT ว่า เมื่อบริษัทพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจดาวเทียม ทำไมจึงไม่เข้าแข่งขันในการประมูลวงโคจรที่ดีที่สุด แต่กลับไปประมูลวงโคจรอื่นเพื่อนำไปประกอบธุรกิจอะไร?
4.การกำหนดราคาขั้นต่ำที่ กสทช. ใช้เป็นมาตรฐานในการประมูลครั้งนี้ได้คำนึงถึงความมั่นคง และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างไรบ้าง และราคาขั้นต่ำที่อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงมีความเหมาะสมและยุติธรรมหรือไม่อย่างไร?
5.เหตุใดคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจึงไม่เคยเรียก กสทช. ไปชี้แจงแสดงเหตุผลเรื่องการบริหารจัดการวงโคจรดาวเทียมว่าควรใช้วิธีประมูลหรือใช้วิธีการจัดสรรให้หน่วยงานของรัฐแทน? หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองมีประโยชน์ทับซ้อนกับการประมูลครั้งนี้หรือไม่?
6.มีการกล่าวอ้างว่า หากไม่รีบจัดให้มีการประมูลจะทำให้เสียสิทธิการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม เพราะจองไม่ทันนั้น แต่ความเป็นจริง ถ้าจัดสรรให้หน่วยงานของรัฐ เช่นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็สามารถจองตำแหน่งวงโคจรได้ทันทีเช่นกัน
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวสรุปว่า สำนักงานปราบโกง พรรคไทยสร้างไทย เรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจน เพื่อความโปร่งใส และเพื่อความสบายใจของพี่น้องคนไทยว่าทรัพยากรของชาติถูกบริหารจัดการเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าไม่ตอบ หรือตอบไม่ตรงคำถาม หรือไม่มีเหตุผลชี้แจงที่เหมาะสม สปก.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และจะนำข้อมูลเชิงลึกมาเปิดเผยให้คนไทยทั้งประเทศได้ทราบต่อไป