xs
xsm
sm
md
lg

M-Flow กับรถสวมทะเบียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ปัญหารถสวมทะเบียน มีข่าวมานานแล้วกับใบสั่งจราจร กรณีขับรถเร็วเกินกำหนด มาคราวนี้เริ่มเกิดขึ้นกับระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อไม่นานมานี้

เมื่อวันก่อนเห็น เฟซบุ๊กของสมาร์ทแท็กซี่ โพสต์ภาพหนังสือเรียกให้มาชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางของระบบ M-Flow พบว่ามีการใช้รถยนต์ที่ไม่ได้ลงทะเบียน M-Flow ผ่านในช่องทาง ทั้งที่รถแท็กซี่คันดังกล่าวจอดเสียในอู่นานเป็นปี

หนังสือลงวันที่ 9 เมษายน 2565 ส่งไปที่ถึงสหกรณ์แท็กซี่ เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ทางทะเบียน แล้วทางอู่เพิ่งได้รับเมื่อไม่นานมานี้ ระบุค่าผ่านทาง 30 บาท บวกค่าปรับอีก 10 เท่า 300 บาท รวมเป็น 330 บาท

ที่น่าสนใจก็คือ หนังสือเรียกให้มาชำระค่าธรรมเนียม M-Flow ฉบับนี้ มาเป็นข้อความยืดยาว แต่ไม่แนบรูปหลักฐานมาเลยเหมือนใบสั่งจราจร ไม่ได้ระบุว่าจุดไหน วันใด เวลาใด เลยไม่ทราบข้อเท็จจริง

สงสารก็แต่ตาสีตาสาที่ไม่รู้เรื่องจะต้องทำไง?

ตัวอย่างหนังสือเรียกให้มาชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางของระบบ M-Flow (ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Smart Taxi.,Ltd)
ด้วยความรู้สึกกลัวว่าจะโดนกับตัวเอง เลยหาข้อมูลไว้ก่อนว่า ถ้ารถของเราโดนสวมทะเบียนจะทำยังไง ปรากฎว่าเว็บไซต์ mflowthai.com ที่หน้าแรกมีเมนู “กระบวนการโต้แย้งค่าธรรมเนียมผ่านทาง”

เมื่อเข้าไปแล้วปรากฏว่าจะมีหัวข้อให้เลือก หนึ่งในนั้นคือ “รถสวมทะเบียน” พร้อมกับกรอกข้อมูลรถ ได้แก่ ป้ายทะเบียนอะไร จังหวัดไหน แล้วกด “ตรวจสอบข้อมูล” มีเพียงแค่นั้น

โดยไม่รู้ว่าเมื่อได้รับข้อมูลแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าผ่านทางให้กับเจ้าของทะเบียนรถตัวจริง พร้อมกับติดตามคนที่สวมทะเบียนรถคนอื่นมาดำเนินคดีได้มากน้อยขนาดไหน


ขณะที่ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก M-Flow พยายามตอบคำถามถึงผู้ใช้ในประเด็นดังกล่าวว่า

“สำหรับเจ้าของรถที่ถูกสวมทะเบียน ซึ่งอาจได้รับหนังสือเรียกให้ชำระค่าผ่านทางและค่าปรับ เนื่องจากอาจมีรถที่สวมทะเบียนฝ่าฝืนเข้าไปใช้ระบบ M-Flow กรมทางหลวงได้จัดเตรียมให้มีช่องทางที่สามารถแจ้งและแสดงหลักฐานให้กรมทางหลวงรับทราบได้อย่างสะดวก ซึ่งเจ้าของรถที่ถูกสวมทะเบียนดังกล่าว จะไม่ต้องรับผิดชอบค่าผ่านทางหรือค่าปรับที่ตนไม่ได้เป็นผู้ใช้งานดังกล่าว”

อีกด้านหนึ่ง ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่ารถของเรามีโอกาสโดนแบบนี้หรือไม่ ก็ลองเข้าไปที่เมนู วิ่งช่องผ่านทาง M-Flow แต่ไม่ใช่สมาชิกกรอกทะเบียนรถลงไป เมื่อปรากฏข้อความว่า “ไม่พบรายการค้างชำระ” ก็โล่งใจ

ถ้าใครท่องเว็บแล้วนึกถึงเรื่องนี้ เกิดครึ้มอกครึ้มใจว่ารถของเราจะโดนไหม เข้าไปเช็กได้ที่เว็บไซต์ข้างต้น


ปัญหารถสวมทะเบียนเข้าไปใช้ระบบ M-Flow เพิ่งจะเป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันก่อน หลังกรมทางหลวงผ่อนผันไม่ปรับคนที่ชำระค่าผ่านทางล่าช้า ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 31 มีนาคม 2565 เพิ่งจะเริ่มเอาจริงเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมานี่เอง

แต่ข่าวคราวเกี่ยวกับรถสวมทะเบียนหรือรถแฝด สมมติฐานเท่าที่จำแนกได้มีอยู่ 3-4 ประการ คือ

1. หลีกเลี่ยงค่าปรับที่ทำผิดกฎจราจร เช่น คนที่ชอบขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็สวมทะเบียนรถคนอื่น เวลากล้องตรวจจับความเร็วส่งใบสั่งมาถึงบ้านจะได้ไม่มาหาที่รถของเรา

2. รถยนต์ที่หนีไฟแนนซ์ รถยนต์ที่หลุดจำนำ รถยนต์ที่โจรกรรมมา ย้อมแมวขายเป็นรถมือสองราคาถูก เมื่อต่อทะเบียนเดิมไม่ได้ เลยสวมทะเบียนปลอม ทำแผ่นป้ายภาษีรถ และสำเนารายการจดทะเบียนปลอม

3. นำรถยนต์ไปใช้ทำผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบขนยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ

4. ก่อเหตุอาชญากรรรม เช่น ขบวนการแก๊งตบทรัพย์ ชนเบียดรถเหยื่อให้จนมุมเพื่อข่มขู่รีดทรัพย์ เป็นต้น

ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำระบบ “ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบและเฝ้าระวังรถต้องสงสัย" หรือ Suspect Vehicle Command Center (SVCC) ทำให้สามารถจับกุมรถสวมทะเบียน ที่ใช้กระทำความผิดได้มากขึ้น

การสวมทะเบียนรถยนต์ (ไม่รวมกระทำความผิดอื่นๆ) มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท

เพราะฉะนั้น ใครเจอใบสั่งจราจรส่งทางไปรษณีย์ถึงบ้าน แล้วพบว่ารถที่ปรากฏในใบสั่งไม่ใช่รถของเรา เบื้องต้นแนะนำให้แจ้งความโดยเร็ว เพื่อให้ตำรวจดำเนินการตามหาคนที่สวมทะเบียนมาดำเนินคดีต่อไป


อันที่จริง หนังสือเรียกให้มาชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางของระบบ M-Flow ที่ออกมาโดย กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง ระบุแต่เพียงค่าธรรมเนียมผ่านทาง และวันที่ครบกำหนดชำระเท่านั้น

ต่างจากใบสั่งจราจร ยังระบุสถานที่เกิดเหตุ และวันเวลากระทำความผิด พร้อมกับพยานหลักฐานที่พิมพ์ออกมาจากภาพวงจรปิด ถ้ารถสวมทะเบียนจริงยังสามารถโต้แย้งกับตำรวจเพื่อให้สืบหาข้อเท็จจริงได้

เป็นไปได้ไหม ที่หนังสือเรียกให้มาชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางของระบบ M-Flow จะใส่ข้อมูลด่านเก็บเงิน วันเวลาที่ใช้บริการ พร้อมพยานหลักฐานจากกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ให้เหมือนใบสั่งจราจร

การจะให้สมัครสมาชิก M-Flow เพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะยุติธรรมเท่าไหร่ เพราะถ้าคนที่โดนสวมทะเบียนอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้ลงมากรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้มอเตอร์เวย์จะทำยังไง และด้วยกระบวนการสมัครที่ยุ่งยากอาจไม่สะดวกใจนัก

ไหนๆ ก็อยากจะเปลี่ยนระบบเก็บค่าผ่านทางตามนโยบายของรัฐมนตรีแล้ว ถ้าจะเพิ่มข้อมูลลงในหนังสือเรียกให้มาชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางของระบบ M-Flow เผื่อตาสีตาสาเค้าไม่รู้เรื่อง ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงเท่าไหร่หรอกมั้ง


อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะฝากถึงบรรดาคนที่ชอบโพสต์ภาพลงโซเชียลฯ นอกจากต้องระวังเรื่องเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หรือเอกสารสำคัญที่มีข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์มือถือ ปรากฏในภาพแล้ว ป้ายทะเบียนรถยนต์ก็เช่นกัน

หลายคนอาจสงสัยว่า จะเบลอป้ายทะเบียนรถไปทำไม แค่ถ่ายรูปรถของเราเล่นๆ จะมีใครเอาทะเบียนรถของเราไปทำอะไร และคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความจริงอาจน่ากลัวกว่านั้น

เพราะในยุคที่อาชญากรรมทางเทคโนโลยี แฝงตัวในโซเชียลฯ คนพวกนี้อาจจะหาโอกาสส่องชาวบ้านแล้วหยิบฉวยเอาข้อมูลส่วนบุคคลที่ปรากฏในโซเชียลฯ ไปใช้ในการก่อเหตุอาชญากรรมโดยที่เราไม่รู้ตัว

ปัญหาของรถสวมทะเบียน ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่มิจฉาชีพเหล่านี้ ไปส่องโซเชียลฯ ชาวบ้านว่ารถยนต์รุ่นเดียวกับเรา สีเดียวกับเรา ใช้ป้ายทะเบียนอะไร แล้วก็ทำทะเบียนรถปลอมขึ้นมาสวม เพื่อใช้รถในทางมิชอบ

แต่อีกด้านหนึ่ง มิจฉาชีพอาจใช้วิธีคลาสสิกกว่านั้น คือ เวลาที่เราขับรถไปไหนมาไหน หรือจอดรถที่ใดก็ตาม มิจฉาชีพอาจมีโอกาสพบเห็นเลขทะเบียนของเรา แล้วนำเลขทะเบียนรถที่เจอไปสวมทะเบียนอีกที

แม้การเบลอป้ายทะเบียน อาจจะไม่ได้ช่วยป้องกันได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อย เป็นการปกปิดข้อมูลส่วนตัวของเราไม่ให้ใครนำไปใช้ในทางมิชอบ เช่นเดียวกับการเบลอเลขที่บัตรประชาชน หรือเบลอเบอร์มือถือของเราเอง

หากพบว่าทะเบียนรถของเราถูกนำไปใช้โดยไม่ชอบมาพากล ให้ใช้สิทธิโต้แย้ง รวมถึงแจ้งความดำเนินคดี เพื่อรักษาสิทธิของเราเอง นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าปรับแล้ว ก็ถือว่าช่วยเป็นพลเมืองดีจับโจรไปในตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น