กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ขณะที่รถเมล์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในช่วงปฏิรูป โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) อีกด้านหนึ่งที่ต่างจังหวัด กำลังประสบปัญหารถเมล์ รถสองแถว พากันล้มหายตายจาก
สาเหตุหลักเพราะแบกรับต้นทุนค่าน้ำมันที่สูงขึ้นไม่ได้ อีกทั้งผู้โดยสารเดินทางด้วยรถสองแถวน้อยลง หันมาออกรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์ส่วนตัว ทำให้บางพื้นที่ไม่มีรถสองแถวอยู่เลย บางพื้นที่รถออกเหลือแค่วันละ 1 เที่ยวเท่านั้น
ก่อนหน้านี้บนโซเชียลฯ แชร์เรื่องราวของ “สองแถวป้ายูโกะ” เป็นรถสองแถวกระบะสีน้ำเงิน สายปราจีนบุรี-เนินหอม ที่ระบุว่าเป็น “รถสองแถวคันสุดท้ายในปราจีนบุรี” วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารที่มีทั้งนักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ
ป้ายูโกะ หรือ น.ส.นารี พรมศรี คนขับรถสองแถววัย 62 ปี ต้องออกจากบ้านเนินหอมตอน 06.20 น. เพื่อให้ทันรถไฟสายกบินทร์บุรี รับนักเรียนไปส่งตามโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งไปส่งผู้สูงอายุที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
รถสองแถวป้ายูโกะ ออกจากบ้านเนินหอม เข้าตัวเมืองปราจีนบุรีวันละ 2-3 เที่ยว ได้แก่ 06.20, 11.00 และ 15.30 น. ก่อนจะรับนักเรียนกลับบ้าน เป็นประจำทุกวันจันทร์-ศุกร์ หยุดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
นักเรียนและผู้โดยสารที่ใช้บริการเป็นประจำ จะมีเบอร์ส่วนตัวของป้ายูโกะ โดยที่ป้ายูโกะจะจดเบอร์โทร.นักเรียนที่ใช้บริการประจำ เวลาเด็กไม่มาขึ้นรถจะโทร.เช็กด้วยความเป็นห่วง ว่ามีรถกลับบ้านไหม
ในอดีตปราจีนบุรีมีรถสองแถวเยอะมาก แต่เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วเศรษฐกิจไม่ดี หนำซ้ำเจอสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหวก็เลิกกิจการ ส่วนคนขับรถสองแถวเลิกวิ่งรถ เพราะไม่คุ้มค่าน้ำมัน หันไปหาอาชีพรับจ้าง
เหลือสองแถวป้ายูโกะที่ยังคงมีอยู่ คิดค่าโดยสาร 20-30 บาทต่อเที่ยว มีต้นทุนเติมก๊าซประมาณ 300-400 บาท เหลือกำไรตกวันละ 200 บาท บางวันผู้โดยสารน้อยก็ไม่มีกำไร แต่ทำเพื่อนักเรียนที่ไม่มีผู้ปกครองมาส่ง ไม่มีรถไปโรงเรียน
หลังเรื่องราวป้ายูโกะถูกเผยแพร่ออกไป มีแม่ค้าออนไลน์ชื่อดังยื่นมือเข้ามาช่วย เอารถสองแถวไปซ่อมเปลี่ยนอะไหล่ที่เสื่อมสภาพทั้งคัน เบ็ดเสร็จประมาณ 4 หมื่นบาท ถือเป็นเรื่องโชคดีที่มีคนใจบุญเข้ามาช่วยแบบนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีรถสองแถวอีกจำนวนหนึ่งล้มหายตายจาก บางพื้นที่เหลือเพียงแค่วันละเที่ยว ไป-กลับเท่านั้น พูดกันตามตรงเพราะพฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไป หันมาใช้รถส่วนตัวทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่คล่องตัวมากกว่า
อีกส่วนหนึ่งก็อาศัยไหว้วาน จ้างรถที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันเดินทางไปด้วยกัน ครั้งหนึ่งมีการลงทะเบียนโครงการของรัฐ ที่ต้องไปธนาคารกรุงไทยในตัวอำเภอ ก็มีผู้คนรวมตัวกันจำนวนมหาศาล เพราะพวกเขามักจะเดินทางไป-กลับทีเดียวเลย
ส่วนนักท่องเที่ยวที่นั่งเครื่องบินมาลงต่างจังหวัด หากไม่เหมารถรับจ้างที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงนับร้อย นับพันบาท คนที่ขับรถเป็นส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเช่ารถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เพราะไปไหนมาไหนได้คล่องตัวกว่า
ทำให้รถสองแถวที่มีอยู่ตอนนี้ จะเป็นเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการเป็นประจำ หรือที่เป็นชุมชนหนาแน่นซึ่งให้บริการมายาวนานแล้ว ส่วนเส้นทางที่ไปในพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ แทบจะไม่ค่อยมี หรือมีก็เหลือน้อยเต็มที
ตัวอย่างที่ตัวเองประสบพบเจอด้วยตัวเอง เมื่อไม่นานมานี้ไปเที่ยวฟาร์มโคนมบ้านน้องสาวของเพื่อน บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับเพชรบุรี เพื่อนแนะนำให้ขึ้นรถสองแถวสายหัวหิน-ป่าละอู ขากลับจะขับรถไปส่ง
ปรากฏว่าเพื่อนแจ้งมาว่า “สรุปรถเมล์มีเที่ยวเดียวนะ”
เมื่อถามว่าจะให้ไปลงที่ไหน เพื่อนก็ตอบว่า “สามแยกป่าเด็ง ร้านค้าเจ้าของรถนั่นแหละ”
พลันให้นึกถึงเรื่องราวของป้ายูโกะที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้ ที่เหลือรถสองแถวเข้าตัวอำเภอเพียงคันเดียว แต่หนักกว่านั้นคือรถออกวันละเที่ยว นึกถึงคนที่หลงเข้ามาครั้งแรก ไม่รู้ว่าหลงเข้ามาจะไปพักแรมที่ไหน
วันเดินทาง เรานั่งรถมินิบัสออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้า ไปถึงหัวหินประมาณ 09.30 น. แวะทานข้าวที่ตลาดฉัตรไชย เสร็จแล้วเดินออกไปทางถนนชมสินธุ์ เจอรถสองแถวสีเขียว ข้างรถระบุว่า สายหัวหิน-ป่าละอู จอดอยู่หน้ามูลนิธิสว่างหัวหินธรรมสถาน
เราขึ้นไปบนรถเห็นลุงคนหนึ่งนั่งอยู่ด้านหลัง ถามว่า “ใช่รถไปป่าละอูไหมครับ”
คุณลุงที่ทราบภายหลังว่าเป็นคนขับรถกล่าวว่า “ใช่ครับ” เราจึงขึ้นไปบนรถ
ถามว่ารถออกกี่โมง คุณลุงตอบอย่างสุภาพว่า “รถออกเที่ยงครึ่ง ตอนนี้เพิ่งมาถึงที่นี่”
แนะว่า เวลายังเหลืออีกเยอะ ช่วงนี้ไปเดินเล่นที่อื่นก่อนก็ได้ สักเที่ยงวันค่อยกลับมา รถออกเที่ยงครึ่งตรงเวลา
เมื่อคุณลุงถามว่าไปลงที่ไหน เราจึงบอกไปว่า “สามแยกป่าเด็ง ร้านค้าเจ้าของรถ”
คุณลุงจึงตอบว่า “ลุงเองนั่นแหละครับ”
จากนั้นเราจึงฝากกระเป๋าเสื้อผ้าไว้บนรถ เหลือเฉพาะของมีค่าติดตัวไปข้างนอก
ประมาณเที่ยงวันเรากลับมาอีกครั้ง พบว่านอกจากผู้คนที่นั่งสองแถวรอรถออกแล้ว ยังมีสิ่งของสัมภาระที่ฝากขึ้นไปส่ง หนึ่งในนั้นคือ เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ แทบจะเรียกได้ว่ารับฝากทุกอย่างไว้กับรถสองแถวคันนี้
ทีแรกแปลกใจว่าทำไมถึงมีรถเพียงแค่วันละเที่ยว แต่จากเส้นทางระหว่างหัวหินถึงป่าละอู ช่วงที่ไปถึงหนองพลับไม่ลำบากเท่าไหร่ แต่จะไปหนักตรงที่รถจะต้องขึ้นเขาจากหนองพลับที่ลาดชัน เพื่อไปยังฝั่งห้วยสัตว์ใหญ่นั่นเอง
แม้รถสองแถวปลายทางจะระบุว่า “ป่าละอู” แต่ไปไม่ถึงน้ำตกป่าละอู รถจะจอดตรงสามแยกหน้าสหกรณ์โคมนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่ ห่างจากน้ำตกป่าละอูประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนจะกลับรถแล้วย้อนกลับไปทางเดิม
จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายป่าละอู-ป่าเด็ง สักพักรถสองแถวก็มาถึงสามแยกป่าเด็ง เวลาเกือบบ่ายสองโมง เราจ่ายค่ารถสองแถว 50 บาท แล้วเดินลงจากรถ เบ็ดเสร็จจากหัวหินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
ทีแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีรถวิ่งวันละเที่ยว แต่พอมาเห็นสภาพถนนหนทางที่ยากลำบาก รวมทั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงเริ่มเข้าใจ และเห็นใจรถสองแถวหนึ่งเดียวคันนี้ ที่ยังคงรับใช้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลถึงทุกวันนี้
เท่าที่ฟังจากเพื่อน ปกติรถสองแถวเส้นทางนี้ส่วนใหญ่วิ่งถึงแค่ บ้านหนองพลับ ซึ่งที่นั่นจะมีบริษัทโดล (DOLE) ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปสับปะรดขนาดขนาดใหญ่ นอกนั้นจากป่าละอู ป่าเด็ง ห้วยสัตว์ใหญ่ มีรถสองแถวแค่วันละเที่ยว
ถ้าไม่นับรวมรถสองแถว คนที่นี่จะใช้รถส่วนตัวไปยังตัวอำเภอหัวหิน ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 60 กิโลเมตร เนื่องจากคล่องตัวมากกว่า บางครั้งคนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน อาจจะอาศัยไหว้วานไปด้วยกันนั่งรถคันเดียวกัน
เมื่อรถสองแถวป่าละอู ไปไม่ถึงน้ำตกป่าละอู สำหรับคนที่ไม่มีรถส่วนตัว ถ้าจะไปเที่ยวชมน้ำตกป่าละอู เหมารถเอาเองจากกรุงเทพฯ หรือตัวเมืองหัวหินจะสะดวกกว่า
ที่เล่ามาทั้งหมดก็อยากจะสะท้อนให้เห็นว่า กรณีรถสองแถวต่างจังหวัดบางพื้นที่เริ่มล้มหายตายจาก เหลือเพียงแค่คันเดียว เหลือเพียงแค่วันละเที่ยว หนักสุดคือถึงขั้นหยุดวิ่ง เลิกกิจการ เป็นปัญหาที่จะต้องคลายปมให้ได้ว่าเกิดจากอะไร
ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยที่ไม่ได้รับการอุดหนุนหรือช่วยเหลือใดๆ แม้จะถือเป็นระบบขนส่งมวลชนก็ตาม หรือพฤติกรรมชุมชนห่างไกลที่เปลี่ยนไป หันมาออกรถยนต์ รถกระบะ มอเตอร์ไซค์ เพื่อใช้เป็นยานพาหนะมากขึ้น
เมื่อคนในชุมชนใช้บริการรถสองแถวน้อยลง เพราะตอบสนองการเดินทางไม่ได้ ท้ายที่สุดรถสองแถวก็ล้มหายตายจาก แต่คนที่ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ กลับต้องเป็นฝ่ายที่แบกรับภาระค่าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาแทน
คนที่ลำบากมากที่สุด กลับเป็นคนที่จำเป็นต้องไปธุระที่ตัวอำเภอ ไปโรงพยาบาล เมื่อไม่มีรถสองแถว ก็ต้องอาศัยจ้างคนในหมู่บ้านไปรับ ไปส่ง เสียค่าใช้จ่ายครั้งหนึ่งเป็นร้อยบาท ซึ่งมันก็คือเงิน มันคือราคาที่ต้องจ่าย
ท่ามกลางโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาทั้งโครงการรถไฟทางคู่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ แต่เมื่อถึงปลายทาง หากไม่นับการเดินทางในตัวเมือง หรือตัวอำเภอ จะไปยังพื้นที่ห่างไกลกลับไม่มีระบบขนส่งมวลชนมารองรับ
แต่เมื่อมองไปถึงราคาน้ำมันสูงขึ้น ผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว ไม่มีใครช่วยเหลือ พฤติกรรมผู้คนที่หันมาใช้รถส่วนตัว การจะรื้อฟื้นรถสองแถวหรือรถประจำทางไปยังพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง หรือตัวอำเภอ ดูจะเป็นไปได้ยากในยุคนี้
ทั้งที่รถสองแถว ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนที่พัฒนาง่าย เมื่อเทียบกับรถไฟ หรือเครื่องบิน ที่ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานนับหมื่นล้านบาท แต่กลับไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนให้ความสำคัญเท่าที่ควร
ที่สุดแล้วบรรดารถสองแถวที่แบกรับต้นทุนไม่ไหว ก็หายไปจากท้องถนนอย่างน่าเสียดาย.