กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ผลจากการที่ธนาคารแต่ละแห่งออกเมนู “กดเงินไม่ใช้บัตร” ผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มกันน้อยลง แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ก็พบว่าเริ่มมีการใช้บัตรเดบิตซื้อสินค้าและบริการขึ้นมาบ้าง
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ปีที่แล้ว ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2563 มีผู้ถือบัตรเดบิตรวมกัน 63.49 ล้านใบ น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2562 ที่มีอยู่ 64.77 ล้านใบ ลดลงมา 1.27 ล้านใบ หรือเกือบๆ 2%
ส่วนผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม ที่ใช้กดเงินสดเพียงอย่างเดียว จากเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 15.31 ล้านใบ ปรากฎว่าในเดือนมกราคม 2563 เหลือเพียงแค่ 9.95 ล้านใบ ลดลงมามากถึง 5.36 ล้านใบ หรือมากถึง 35%
สาเหตุหลักมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บังคับให้ทุกธนาคารใช้บัตรเอทีเอ็มแบบชิปการ์ด แทนบัตรแถบแม่เหล็ก ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2563 เพื่อป้องกันการปลอมแปลง ส่งผลทำให้บัตรเอทีเอ็มส่วนหนึ่งใช้งานไม่ได้อีกต่อไป
แต่ผลจากธนาคารต่างๆ ออกบัตรเดบิตด้วยจุดขายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถือบัตรเดบิต 63.84 ล้านใบ ถอนเงินสด 139 ล้านครั้ง ขณะที่ผู้ถือบัตรเอทีเอ็มเพิ่มขึ้นมาเป็น 10.73 ล้านใบ ถอนเงินสด 9.3 ล้านครั้ง
ที่น่าสนใจก็คือ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขาย แม้จะลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หลังมาตรการคลายล็อกก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาเหมือนเดิม
ในเดือนมกราคม 2563 มีปริมาณการใช้บัตรเดบิต ชำระค่าสินค้าและบริการ 13.11 ล้านครั้ง ก่อนจะลดลงมาต่ำที่สุดในเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 8.38 ล้านครั้ง จากนั้นค่อยกระเตื้องขึ้นมา ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 12.22 ล้านครั้ง
ส่วนมูลค่าเฉลี่ยการใช้บัตร พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2563 เฉลี่ย 221 บาทต่อบัตรต่อเดือน แม้จะน้อยกว่าเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 358 บาทต่อครั้ง ต่ำที่สุดเดือนเมษายน 2563 ที่ประกาศล็อกดาวน์ เฉลี่ยอยู่ที่ 145 บาทต่อบัตรต่อเดือน
ที่กางสถิติกันแบบนี้ เพราะว่าช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นบางธนาคารเปิดตัวบัตรเดบิต ที่ไม่ได้แข่งกันเรื่องการใช้งานแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังพ่วงผลิตภัณฑ์ สิทธิพิเศษ หรือจุดขายตามกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทย ออก บัตรเดบิตแบล็คพิงค์ (BLACKPINK) มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 เจาะกลุ่มนิวเจน อายุ 15-25 ปี ตั้งเป้า 1 ล้านใบ ผลปรากฎว่าเรียกเสียงตอบรับเป็นอย่างดี กระทั่งได้ออกคอลเลคชันใหม่ BLACK EDITION เมื่อเดือนสิงหาคม 2563
ต่อมาเดือนตุลาคม 2563 ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับไลน์ ออกโซเชียลแบงกิ้งที่ชื่อว่า ไลน์บีเค (LINE BK) หนึ่งในนั้นมีผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตไลน์บีเค หนึ่งในนั้นคือบัตรเดบิตคู่วงเงิน พบว่ามีผู้ใช้บริการมากถึง 1 ล้านรายภายในระยะเวลา 2 เดือน
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ธันวาคม 2563 ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงตุลาคม 2563 ธนาคารกสิกรไทยมีผู้สมัครบัตรเดบิตรายใหม่ 2.73 ล้านใบ จากฐานลูกค้าบัตรเดบิต 12 ล้านใบ ยอดใช้จ่ายอยู่ที่ราว 6.85 ล้านบาท
หรือจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ ที่ออก บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท แรบบิท ไลน์เพย์ (Be 1St Smart Rabbit LinePay) เมื่อเดือนกันยายน 2563 ก็เพิ่งจะเปิดตัวในรูปแบบบัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ด รองรับระบบคอนแทคเลสและใช้จ่ายออนไลน์ได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารยูโอบี ได้จัดแคมเปญสำหรับผู้ถือ บัตรเดบิตทูมอร์โรว์ (TMRW) โดยเมื่อรูดบัตรตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป 2 ครั้ง ช่วงครึ่งเดือนแรก เดือนถัดไปรับสิทธิแลกซื้อชานมไข่มุกในราคา 1 บาท
ส่วน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ออกผลิตภัณฑ์บัญชีออมทรัพย์ชิลดี (CHILL D) พ่วงบัตรเดบิต ถอนเงินสดและสอบถามยอดฟรีทุกตู้ ฟรีค่าธรรมเนียมทั้งแรกเข้าและรายปี เปิดบัญชีและยืนยันตัวตนได้ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ
แต่ที่เซอร์ไพร์สก็คือ แม้บัตรเดบิตจะฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี แต่ก็ต้องแลกกับธนาคารยกเลิกให้บริการตู้เอทีเอ็ม และเอทีเอ็มแบบทรีอินวัน มาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เท่ากับว่าในวันนี้ไม่มีตู้เอทีเอ็มซีไอเอ็มบี ไทย อีกต่อไปแล้ว
เป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารแต่ละแห่งจะสร้างรายได้จากบริการบัตรเดบิต ตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี ยิ่งถ้าเป็นบัตรเดบิตพ่วงประกัน จะมีค่าประกันรายปีและต้นทุนการดำเนินการธนาคาร รวมอยู่ในค่าธรรมเนียมรายปี
อีกส่วนหนึ่ง คือ ค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้ารับบัตร (Merchant Discount Rate หรือ MDR) แม้ปัจจุบันจะถูกปรับลดจากเดิม 1.5-2.5% เหลือ 0.55% มานานกว่า 4 ปี แต่เมื่อผู้ถือบัตรนำบัตรเดบิตไปใช้ที่ร้านค้า ธนาคารผู้ออกบัตรเดบิตจะได้รับส่วนแบ่งด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกค้าซื้อของ 100 บาท ร้านค้าถูกหักค่า MDR เหลือ 99.45 บาท ส่วนอีก 55 สตางค์ จะถูกแบ่งกันระหว่าง ธนาคารผู้ออกบัตร รองลงมาคือธนาคารเจ้าของเครื่องรับบัตร EDC สุดท้ายคือตัวกลางในการตัดเงิน
ถึงกระนั้น ถ้าเป็น SME ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่า MDR ที่รับเงินด้วยบัตรเดบิตภายในประเทศ ไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อส่งเสริมให้ติดตั้งเครื่องรับบัตร EDC ตามนโยบายของรัฐบาล
แม้ธนาคารจะมีรายได้จากร้านค้ารับบัตรน้อยกว่าบัตรเครดิต ซึ่งได้รับค่าธรรมเนียมมากพอที่จะจัดโปรแกรมคะแนนสะสมหรือเครดิตเงินคืน แต่ก็พยายามจัดโปรโมชันหรือร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อจูงใจให้ใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตมากขึ้น
ยิ่งผู้ถือบัตรใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตมากเท่าไหร่ ธนาคารจะได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมร้านค้า MDR มากเท่านั้น
เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ กับ เดอะมอลล์กรุ๊ป ออก บัตรเอสซีบี เอ็ม (SCB M) หนึ่งในนั้นมีบัตรเดบิต ให้คะแนนสะสมทุก 25 บาทเท่ากับ 1 คะแนน ใช้จ่ายที่ห้างในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ปจะได้ 2 คะแนน ทุก 800 คะแนนเท่ากับส่วนลด 100 บาท
นอกจากธนาคารจะได้ค่าธรรมเนียมรายปีและส่วนแบ่งค่า MDR แล้ว เดอะมอลล์กรุ๊ปจะได้ข้อมูลแบบบิ๊กดาตา (Big Data) เพื่อสำรวจความต้องการของลูกค้าในการจัดโปรโมชันเฉพาะผู้ถือบัตร ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ เช่น สถานีบริการน้ำมัน
นอกจากนี้ หากใช้จ่ายที่ห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป ที่ผ่านมาได้ออกอี-คูปองที่ใช้ร่วมกับบัตรเดบิต SCB M ผ่านแอปพลิเคชัน M Card เช่น ซื้อ 300 บาท ลด 100 บาท คนละ 5 สิทธิ รวมมูลค่า 500 บาท เรียกว่าคุ้มกว่าค่าธรรมเนียมรายปี
ภายหลัง ธนาคารยูโอบี จึงร่วมกับ กลุ่มเซ็นทรัล ให้ผู้ถือบัตร TMRW รับคะแนนสะสม เดอะวัน (The 1) สำหรับร้านค้าในเครือเซ็นทรัลที่ร่วมรายการ โดยบัตรเดบิต TMRW เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรรับคะแนนสะสม 2 เท่า (ทุก 25 บาท ได้ 2 คะแนน)
โดยจะเริ่มคำนวณคะแนนสะสมพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 15 ของเดือนถัดไป จำกัดยอดใช้จ่ายทุกร้านค้ารวมกันสูงสุด 10,000 บาทต่อลูกค้าต่อเดือน (บัตรเดบิตเทียบเท่า 800 คะแนน) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564
ขณะที่ บัตรเดบิต LINE BK ธนาคารกสิกรไทย หากใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรแข็งหรือบัตรออนไลน์ ขั้นต่ำ 100 บาทขึ้นไปต่อรายการ รับเงินคืน 0.5% สูงสุด 150 บาทต่อบัตรต่อเดือน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
โดยบัตรเดบิตออนไลน์ LINE BK (บัตรเวอร์ชวลการ์ดในไลน์) สมัครฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี อายุบัตร 2 ปี วงเงินซื้อสินค้าสูงสุด 100,000 บาทต่อวัน ถ้าต้องการเงินคืนสูงสุด 150 บาท ต้องใช้จ่ายออนไลน์สะสมให้ได้ 30,000 บาทต่อเดือน
ล่าสุดถึงคิวของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกผลิตภัณฑ์บัญชีและบัตรเดบิต “กรุงศรีจัดให้ ดี” (Debit Jad Hai D) ไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นอกจากฟรีค่าธรรมเนียมทุกธุรกรรมแล้ว ยังได้คืนในรูปแบบอี-คูปองร้านค้าตลอดปี
แม้ว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี 400 บาท แต่เมื่อเปิดบัญชีและสมัครบัตรภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จะได้ Welcome GIFT ในรูปแบบอี-คูปอง 50 บาท จากช้อปปี้ บาร์บีคิวพลาซ่า โลตัส และแกร็บฟู้ด รวม 200 บาท
จากนั้นเมื่อทำรายการผ่านบัญชีหรือบัตรเดบิต เช่น จ่ายบิล เติมเงินผ่านแอปฯ KMA เว็บไซต์ KOL หรือ ATM จ่ายผ่านเครื่องรูดบัตรหรือช้อปออนไลน์ ขั้นต่ำ 100 บาทต่อรายการ ครบ 10 รายการ เลือกรับอี-คูปองฟรี 100 บาททุกเดือน
สำหรับการเปิดบัญชีออมทรัพย์จัดให้ และบัตรเดบิตจัดให้ ดี จะเปิดให้สมัครผ่านแอปฯ KMA ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ถ้าสะดวกเปิดบัญชีที่สาขาด้วยตัวเอง สามารถเปิดบัญชีและรับบัตรได้ทันทีที่สาขาของธนาคารกรุงศรี
แต่เมื่อดูเงื่อนไขพบว่า สงวนสิทธิ์จำกัดโค้ดส่วนลดในรูปแบบอี-คูปองร้านค้า 150,000 สิทธิ์ตลอดระยะเวลาโครงการ ถึง 31 ธันวาคม 2564 เพราะฉะนั้นใครทำธุรกรรมตามที่กำหนดครบ 10 ครั้งได้ก่อน ย่อมมีสิทธิก่อน
นอกจากนี้ ยังมีธนาคารอื่นๆ จัดโปรโมชันบัตรเดบิตแข่งเช่นกัน เช่น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ให้ผู้ถือบัตรเดบิตชิลดีลงทะเบียนและสะสมยอดใช้จ่ายออนไลน์ 2,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน รับอี-คูปองจากโลตัส 200 บาท ถึง 31 มีนาคม 2564
ใครที่สนใจโปรโมชันไหน ทั้งคะแนนสะสม เครดิตเงินคืน หรืออี-คูปอง ควรรับทราบหรือศึกษาข้อกำหนด และเงื่อนไขการร่วมรายการส่งเสริมการขายก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้ผู้ถือบัตรเสียประโยชน์ เสียความรู้สึกภายหลัง