xs
xsm
sm
md
lg

“บิทคอยน์” แรง บัญชีเทรดพุ่ง ก.ล.ต.เร่งวางแนวทางควบคุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิทคอยน์” ร้อนแรงไม่หยุด ราคาพุ่งแตะ 1.67 ล้านบาท เพียงแค่เดือนมกราคมยอดผู้เล่นใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จะทะลุ 5 แสนบัญชี ด้านภาครัฐเริ่มห่วงผู้ลงทุนขาดความรู้ความเข้าใจจนเกิดความเสี่ยงทั้งระบบ สั่งก.ล.ต.เข้าดูแล ฟากผู้ลงทุนเชื่อเป็นทางเลือกใหม่ คาดอีก 2-3 ปีจะใหญ่เท่าตลาดหุ้น

ทะยานไปอย่างไม่หยุดสำหรับ “บิทคอยน์” สกุลเงินดิจิทัลที่นับวันยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุน รวมถึงนักลงทุนชาวไทย ล่าสุด เมื่อคืนที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ราคาปรับตัวขึ้นจนมาอยู่ที่ระดับ 55,721.12 เหรียญ หรือ 1.67 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้สร้างความฮือฮาช่วงต้นปีเมื่อราคาปรับตัวเพิ่มถึง 42,000 เหรียญ หรือ 1.26 ล้านบาท

การดีดตัวขึ้นอีกครั้งของ “บิทคอยน์”ในรอบนี้ได้รับการจุดฉนวนจากบริษัทเทสลาของ “อีลอน มัสก์” ที่ประกาศซื้อบิทคอยน์จำนวน 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการกระจายการลงทุน พร้อมระบุว่า เทสลาจะเริ่มรับบิทคอยน์จากลูกค้าสำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทขนาดใหญ่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมการถือครองในบิทคอยน์อย่างต่อเนื่อง เช่น “แบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป” ซึ่งเป็นธนาคารเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ มีแผนที่จะถือครอง โอน และออกสกุลเงินบิทคอยน์ และสกุลเงินคริปโตอื่นๆ ในนามของลูกค้าในกลุ่มบริหารจัดการสินทรัพย์ในปีนี้เช่นกัน รวมถึง มาสเตอร์การ์ดผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ระดับโลก รายงานว่า มีแผนที่จะนำเสนอการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินคริปโตบางสกุลบนแพลตฟอร์มของบริษัท เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการต่อการเข้าถึงธุรกรรมการชำระเงินในรูปแบบใหม่จากลูกค้ากลุ่มที่มีสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งกล่าวได้ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้มูลค่าของ “บิทคอยน์” ในอนาคตยิ่งขยับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของประเทศไทยต่อสกุลเงินดิจิทัลอย่าง “บิทคอยน์” ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นในงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ปี 2564-2566 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ก.ล.ต.ถือเป็นหน่วยงานในการทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของไทยให้มีความน่าเชื่อถือมีประสิทธิภาพ และทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกที่เชื่อมโยงระหว่างกิจการที่ต้องการเงินทุนและผู้ลงทุน ซึ่งส่วนของตลาดทุนมี 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.การอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ประสบปัญหา COVID-19 ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

 2.การสร้างความเข้าถึงตลาดทุนทั้งการลงทุนและการระดมทุน เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ 

3.การยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุน 

4.การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนการจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจกรรมที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล (ESG) และ

5.การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในมิติการพัฒนา และกำกับดูแลคุ้มครองผู้ลงทุน

ดังนั้น จึงขอฝากนโยบายให้ ก.ล.ต.ติดตามและสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในเรื่องบิทคอยน์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาอยู่ในตลาดและจะต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง การให้ความรู้แก่นักลงทุนหรือผู้ออมเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไป เพราะอาจกระทบกับตลาดทุนได้ เนื่องจากมองว่า บิทคอยน์เป็นเรื่องใหม่ต้องดูแลให้ดี เพราะวันนี้มันมีผู้ที่มีเงินน้อย รับความเสี่ยงได้ต่ำ แต่บังเอิญอยากได้ผลตอบแทนสูง ก็มีความเสี่ยงมาก ต้องให้มีความรู้เท่าทัน ไม่เสี่ยงเกินไป

ขณะที่ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. แสดงความเห็นว่า แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.ที่จัดทำขึ้นภายใต้แนวคิด “Strengthening Resilient Future” ได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและโลกการเงินในยุคใหม่ โดยกำหนด 5 เป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้สามารถทุ่มเททรัพยากรได้อย่างเหมาะสมตอบโจทย์ที่เป็นปัจจุบันและมีความสำคัญทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในการเสริมสร้างสภาพคล่องและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นฟู เข้มแข็ง และมีความสามารถในการแข่งขัน และประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนไทยน่าเชื่อถือและมีรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

นั่นทำให้แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ในปี 2564-66 ยังคง 4 เป้าหมายและ 7 ยุทธศาสตร์สำคัญจากแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2563-2565 โดยได้เพิ่มเป้าหมาย “ฟื้นฟูและเข้มแข็ง” และยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ เพื่อให้ตลาดทุนมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่กิจการที่ประสบปัญหาจาก COVID-19 รวมเป็น 5 เป้าหมาย 8 ยุทธ์ศาสตร์ ดังนี้

1.การสร้างสภาพแวดล้อมตลาดทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 

2.ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพทางการเงินในระยะยาว มีการออมและการลงทุนรองรับการเกษียณอายุ 

3.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป 

4.เพิ่มความสามารถการแข่งขัน และสร้างโอกาสจากความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ 

5.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพตลาดทุนและยกระดับการกำกับดูแล

6.เพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแลและบังคับใช้ 

7.ติดตามประเมินความเสี่ยงเชิงระบบได้อย่างเท่าทัน

8.สร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อกิจการที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ

โดยในส่วนของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศช่วงนี้ พบว่า หลังจากราคาบิทคอยน์สูงขึ้นเกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 บิทคอยน์ ปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้นักลงทุนหน้าใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนมากเข้ามาลงทุนแสวงหาผลตอบแทนมากขึ้น จนสถิติการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขาย Cryptocurrency ของคนไทยในช่วงต้นปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว หรือเพิ่มจาก 1.5 แสนบัญชีเมื่อปลายปีก่อนเป็นมากกว่า 4.69 แสนบัญชีในเดือน ม.ค.2564 ทำให้ภาครัฐมีความเป็นห่วงต่อความเข้าความเข้าใจในการลงทุนแบบใหม่นี้ และอยากให้ ก.ล.ต.เข้ามาดูแลและให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักลงทุน

ดังนั้น ก.ล.ต.จึงเตรียมพิจารณาถึงแนวทางกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจ และสภาพการณ์ปัจจุบันให้เทียบเคียงมาตรฐานสากล พร้อมยกระดับการกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม ทำให้กำลังมีแนวคิดว่า ควรมีการกำหนดคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นการคุ้มครองดูแลผู้ลงทุน และช่วยจำกัดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้กำหนดว่าใครจะเข้ามาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้หรือไม่ได้นั้น เช่น อายุ รายได้ขั้นต่ำ มูลค่าเงินลงทุน หรือจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมาก่อน และมีฐานะการเงินที่มีความสามารถในการลงทุนอยู่แล้ว เช่นมีรายได้และมีเวลธ์อยู่จำนวนหนึ่งอยู่แล้วนั่นเพราะภาครัฐมีความห่วงใยกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีความรู้ความเข้าใจจริงๆ หรือไม่ รู้ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เพราะการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นอาจมีความผันผวนและมีความเสี่ยงเกิดขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลผู้ลงทุน

ขณะเดียวกัน เมื่อมีพัฒนาการทางเทคโนโลยี หลักทรัพย์ก็สามารถออกเป็นดิจิทัลได้ เช่น การออกหลักทรัพย์เป็นโทเคนที่อยู่บนบล็อกเชน และเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแล พ.ร.ก.สินทรัพย์ ดิจิทัลฯ ในอนาคต ตามแผนงานระยะปานกลางคือ การปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลคือ การปรับปรุงการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ให้มีความชัดเจน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปตามแนวทางสากลและสอดคล้องกับต่างประเทศ รวมถึงการตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีโบรกเกอร์ 15 รายที่สามารถจัดตั้งได้ และในอนาคตจะเปิดกว้างขึ้น และเมื่อรวมกับแผนการออก ICO ในตลาดแรก โดยจะต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการ ICO ที่จะระดมทุนและเสนอขายต่อผู้ลงทุน ซึ่งปัจจุบันมี ICO Portal ที่ได้รับ ความเห็นชอบ 4 ราย โดยมีแผนการที่จะออก ICO ประมาณ 10 โครงการ 

ทำให้แนวโน้มในปี 2564 ก.ล.ต. คาดว่าจะเห็นผู้เล่นเดิมฝั่งหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทจดทะเบียนเข้ามาเล่นในฝั่งสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น และคาดว่าจะมีจำนวน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งน่าจะได้เห็นการออก ICO เกิดขึ้นในประเทศ

ล่าสุด มีรายงานว่า ภาคเอกชนประมาณ 4-5 ราย มีความสนใจที่จะออกแบบ real estate-backed ICO เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างสภาพคล่อง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยคาดว่าไตรมาส 2 น่าจะเห็นหลักทรัพย์ดิจิทัลชุดแรกที่มีหลักทรัพย์ อ้างอิงเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคาร สำนักงาน คอนโด ที่ต้องการสภาพคล่องไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

ขณะที่ในมุมมองของนักลงทุนนั้น เชื่อว่าแนวโน้มตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง หากคนไทยมีความเข้าใจเทคโนโลยีเพื่อการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการทยอยเปลี่ยนผ่านเวลธ์ในช่วงของคนรุ่นเก่า สู่เวลธ์ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ จะทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าถึงได้มากขึ้นด้วยจำนวนเงินไม่มาก รวมถึงจากมูลค่าบิทคอยน์ ซึ่งจะทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะเข้าไปทดแทนตลาดทองคำบางส่วน และยังมีเม็ดเงินลงทุนในตลาดอื่นๆ ที่เงินลงทุนไหลเข้ามาตลาดใหม่นี้ด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ควรจะทำให้ตลาดนี้เป็นตลาดเสรี โดยต้องสร้างความเข้าใจให้แก่นักลงทุนทุกคน ไม่ควรจำกัดการลงทุน ซึ่งจะเป็นการบิดกั้นการเรียนรู้ และเมื่อทุกอย่างขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอาจมีโอกาสเติบโตเทียบเท่ามูลค่าตลาดหลักทรัพย์ไทย ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ เมื่อสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มกลายเป็นทางเลือกใหม่เพื่อชนะเงินเฟ้อ และ “บิทคอยน์” ได้กลายเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ตลาดยอมรับไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยต่อการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุน เพราะเป็นเรื่องดีในการป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนทางอ้อม 

อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการในการตรวจสอบ ดังนั้น เสนอว่า ควรมีการทำแบบประเมินระดับความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนรู้ถึงระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และให้คำแนะนำการลงทุน ขณะที่ผู้ลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจก่อนลงทุน และระมัดระวังการลงทุนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น