xs
xsm
sm
md
lg

รถติดอัมพาต “พระราม 2” ... มอเตอร์เวย์ “นครปฐม-ชะอำ” เอาไหม?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (25 ก.ค. 2563) ถนนพระราม 2 การจราจรติดขัดเป็นอัมพาต ท้ายแถวตั้งแต่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ยาวไปจนถึงหน้าวัดเกตุมวดีศรีวราราม กิโลเมตรที่ 41-42 จ.สมุทรสาคร ระยะทางยาวเกือบ 40 กิโลเมตร

สาเหตุมาจากเมื่อคืนก่อนหน้า มีฝนตกหนักตั้งแต่ 5 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า น้ำท่วมขังถนน (ถ้าเป็นกรุงเทพฯ เรียกว่าน้ำรอการระบาย) ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง แถมลำคลองที่จะไหลลงคลองสุนัขหอน มีสภาพตื้นเขิน และมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ

อีกด้านหนึ่ง บริเวณสามแยกบ้านแพ้ว จะมีจุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลองขุดบ้านบ่อ กิโลเมตรที่ 39 เพื่อที่จะไปยังอำเภอบ้านแพ้ว และจังหวัดนครปฐม ปรากฎว่ามีน้ำท่วมสูง รถเล็กไม่สามารถผ่านไปมาได้

แม้บ้านของผู้เขียนจะอยู่ถนนอีกเส้นหนึ่ง ที่เรียกว่าถนนเศรษฐกิจ 1 ไปอำเภอกระทุ่มแบนและถนนเพชรเกษม แต่เหตุการณ์วันนั้นทำเอารถมากเคลื่อนตัวช้า มาถึงปากซอยหน้าบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากถนนพระราม 2 ราว 4-5 กิโลเมตรเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ทราบมาว่าในช่วงค่ำยังเกิดอุบัติเหตุหนัก รถบรรทุกพ่วงชนกับรถเก๋งก่อนพลิกตะแคงขวางถนน บริเวณจุดกลับรถกิโลเมตรที่ 69 ย่านคลองโคน จ.สมุทรสงคราม ส่งผลทำให้การจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นไปอีก

เป็นปัญหาเล็กๆ ที่สร้างความพินาศฉิบหายให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างมหาศาล!

ซ้ำเติมปัญหาการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ตั้งแต่ขยายถนนช่วงบางขุนเทียน-เอกชัยเป็น 14 ช่องจราจร ทางยกระดับถนนพระราม 2 และช่วงนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ยังมีการก่อสร้างสะพานกลับรถและทางขนานถึงสามแยกบ้านแพ้วอีกด้วย


พลันให้นึกถึง โครงการทางยกระดับถนนพระราม 2 มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ เพื่อรอโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ก่อนหน้านี้กรมทางหลวงจะทำโครงการไปถึงสามแยกบ้านแพ้ว ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยให้เอกชนก่อสร้างส่วนที่เหลือจากเอกชัย-บ้านแพ้ว ราว 15 กิโลเมตร แล้วเก็บค่าผ่านทาง จ่ายค่าสัมปทานและส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐตามที่กำหนด

แต่โครงการนี้สิ้นสุดที่ก่อนถึงสามแยกบ้านแพ้วประมาณ 2 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทางยกระดับคงช่วยได้แค่ “แบ่งกันรถติด” เท่านั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการจราจรแต่อย่างใดเลย

นับตั้งแต่ถนนพระราม 2 หรือถนนสายธนบุรี-ปากท่อ เปิดใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2516 ถึงปัจจุบันมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยวันละประมาณ 120,000 คันต่อวัน ยิ่งถ้าเป็นแถวห้างเซ็นทรัลพระราม 2 สูงถึง 250,000 คันต่อวันเลยทีเดียว

แม้จะเป็นถนนที่ช่วยย่นระยะทางให้กับถนนเพชรเกษมกว่า 40 กิโลเมตร แต่เกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ถนนสายนี้ทั้งซ่อมและสร้าง ถนนสภาพดีๆ ก็ไปทุบทิ้งเพื่อขยายช่องจราจรต่อเนื่อง ได้รับฉายาว่าเป็น “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” กันมาแล้ว

ในฐานะคนสองสมุทร เกิดที่สมุทรสงคราม แต่เติบโตที่สมุทรสาครกว่า 30 ปี เห็นถนนพระราม 2 รถติดมาแทบทั้งชีวิต ไม่ต้องนับช่วงเทศกาลหรอก วันหยุดเสาร์-อาทิตย์คนแห่ไปเที่ยวชะอำ หัวหิน รถมากเคลื่อนตัวช้าอยู่แล้ว

จะมีก็แค่ช่วงโควิด-19 ถนนพระราม 2 จะเบาบางลงมาบ้าง เพราะไม่มีใครกล้าออกไปไหนไกล จะมีก็เฉพาะรถขนส่งสินค้าไปยังภาคใต้ กลายเป็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวแถบชะอำ-หัวหิน ส่วนหนึ่งเจ๊งเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว


ถ้าถามว่า มีทางไหนที่จะแก้ปัญหารถติดบนถนนพระราม 2 ลงได้ คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะขนาดภาคตะวันออกมีทั้งถนนบางนา-ตราด ทางด่วนบูรพาวิถี แม้กระทั่งถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา ช่วงเทศกาลรถมันก็ยังติดอยู่ดี

พูดถึงมอเตอร์เวย์แล้ว พลันให้นึกถึงคำพูดของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าถ้าโครงการบนถนนพระราม 2 แล้วเสร็จ ให้พักงานตรงนั้นไว้ก่อน

แล้วให้ไปเริ่ม โครงการถนนมอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 79,000 ล้านบาทแทน เพื่อเป็นอีกหนึ่งเส้นทางให้ประชาชนมุ่งหน้าสู่ภาคใต้

มาถึงการประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า คนภาคใต้เจ็บปวดเพราะยังไม่มีมอเตอร์เวย์ ทั้งๆ ที่ประเทศมาเลเซีย ก่อสร้างมอเตอร์เวย์จ่อถึงด่านสะเดานานแล้ว

ทุกวันนี้การสัญจรไปภาคใต้มีเพียงถนนเพชรเกษมเท่านั้น ถ้าประสบปัญหาชำรุดหรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ประชาชนไม่เหลือทางเลือกอีกเลย หากเป็นไปได้รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งก่อสร้างมอเตอร์เวย์ให้คนภาคใต้บ้าง

ภายหลัง นายศักดิ์สยามชี้แจงว่า ตอนนี้มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำผ่านบอร์ด PPP แล้ว สำรวจที่ดินเสร็จแล้ว แต่ติดอยู่ที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ต้องทบทวนเพราะติดขัดเรื่องเวนคืนที่ดิน ตอนนี้ส่งรายงานไปให้ สผ. พิจารณาแล้ว

อันที่จริง กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะเสนอโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ เข้าที่ประชุม ครม. มาตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่เจอสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มอเตอร์เวย์สายนี้ต้องเจอโรคเลื่อนออกไป


โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ “ชุมทางต่างระดับนครชัยศรี” ที่ก่อสร้างรอไว้แล้ว ระหว่างโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-สุพรรณบุรี

จากจุดนี้จะมีถนนสายใหม่ที่เชื่อมกับถนนบรมราชชนนี บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรีเดิม มาเชื่อมต่อตรงจุดนี้ ก่อนจะผ่านถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน บริเวณตลาดจินดา ใกล้กับมหาวิทยาลัยคริสเตียน จ.นครปฐม

ผ่านถนนสมุทรสงคราม-บางแพ ที่ทางแยกต่างระดับบางแพ มีถนนเชื่อมไปยังเส้นเลี่ยงเมืองราชบุรี ข้ามแม่น้ำแม่กลอง ผ่านถนนราชบุรี-วัดเพลง ผ่านถนนพระราม 2 กม. 81+600 (ห่างจากทางแยกต่างระดับวังมะนาวประมาณ 3 กิโลเมตร)

จากนั้นแนวเส้นทางจะขนานไปกับรถไฟทางคู่สายใต้ (นครปฐม-ชุมพร) แล้วเบี่ยงข้ามถนนเพชรเกษมที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ก่อนจะผ่านพื้นที่ อ.บ้านลาด และ อ.ท่ายาง สิ้นสุดที่ถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 190 อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

มีด่านเก็บค่าผ่านทางระบบปิด 9 จุด ที่พักริมทางจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สถานที่บริการทางหลวงนครชัยศรี, ที่พักริมทางหลวงบางแพ, ศูนย์บริการทางหลวงราชบุรี, ที่พักริมทางหลวงเขาย้อย และสถานที่บริการทางหลวงบ้านลาด


หากก่อสร้างแล้วเสร็จ ออกจากชะอำ-หัวหินมาแล้ว ใช้มอเตอร์เวย์ที่ทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปออกนครชัยศรี แล้วแยกขวาไปออกบางใหญ่ เข้าสู่กรุงเทพฯ ตอนเหนือ ย่านบางเขน หลักสี่ ดอนเมืองได้เลย

หรือจะต่อเนื่องเข้าถนนบรมราชชนนี ขึ้นทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี เข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน ถนนสิรินธร สะพานพระปิ่นเกล้า และถนนราชดำเนินกลาง หรือทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ไปจตุจักรและแจ้งวัฒนะได้อีกด้วย

ปัญหาก็คือ นอกจากโครงการนี้จะเป็นไปอย่างล่าช้าแล้ว ยังมีชาวบ้านแถบราชบุรี และเพชรบุรี คัดค้านมอเตอร์เวย์สายนี้ เพราะไปแบ่งแยกพื้นที่ที่เคยทำกินมาก่อน รวมทั้งทำลายผืนนาและดงตาล ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านอีกด้วย

ช่วงที่มีโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ก็เคยมีชาวบ้านหนองน้ำแดง อ.ปากช่อง ออกมาคัดค้านเช่นกัน แต่สุดท้ายโครงการก็ใกล้จะแล้วเสร็จ โดยไม่รู้ว่าได้รับลดผลกระทบให้ชาวบ้านบ้างหรือเปล่า หรือดันทุรังก่อสร้างไปอย่างนั้น

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เฉกเช่นถนนหรือมอเตอร์เวย์ในช่วงที่ผ่านมา ย่อมมีฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย ด้านหนึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนได้ประโยชน์จากการคมนาคมขนส่ง อีกด้านหนึ่งเส้นทางตัดผ่านชุมชน วิถีชีวิตชาวบ้านก็เปลี่ยนแปลงไป

ด้านหนึ่งก็อึดอัดกับรถติดถนนพระราม 2 อีกด้านหนึ่งก็สงสารชาวบ้าน เลยไม่รู้ว่าทางออกที่แท้จริงจะอยู่ตรงไหน?


กำลังโหลดความคิดเห็น