xs
xsm
sm
md
lg

ทางด่วนไร้เงินสด “บัตรเครดิต-เดบิต” จ่ายค่าผ่านทางรอลุ้นปีนี้

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

แม้ระบบขนส่งมวลชนในบ้านเรา ระบบตั๋วร่วมโดยเฉพาะบัตรแมงมุมที่จะอัปเกรดยังไปไม่ถึงไหน ขณะที่บัตรเครดิตและบัตรเดบิตระบบคอนแทคเลส (Contactless) ใช้ได้เฉพาะรถเมล์ ขสมก. เพียง 3,000 คันเท่านั้น

แต่สำหรับผู้ใช้ทางด่วน ที่ไม่ได้พกเงินสดหรือมีบัตรอีซี่พาส (และบัตรเอ็มพาส) เร็วๆ นี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะเปิดให้ชำระค่าผ่านทางพิเศษผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ MasterCard PayPass และ VISA PayWave

เป็นที่ทราบกันดีว่า การทางพิเศษฯ เริ่มนำระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติมาใช้ในการเก็บค่าผ่านทางพิเศษ โดยใช้บัตรทางด่วนที่เรียกว่า ระบบแทค (TAG) มาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคนั้น

แต่ปัญหาก็คือ แบตเตอรีที่ติดกับอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณครบกำหนดอายุใช้งาน แต่บริษัทที่เคยผลิตอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ กลับเลิกผลิตเครื่องและแบตเตอรี่ดังกล่าวไปแล้ว แถมเป็นเทคโนโลยีแบบผูกขาด บริษัทอื่นผลิตไม่ได้

การทางพิเศษฯ จึงตัดสินใจจัดหาระบบอัตโนมัติแบบใหม่ทดแทน เรียกว่า “อีซี่พาส” (EASY PASS) ก่อนจะยกเลิกใช้บัตรทางด่วนรุ่นเก่ามาตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 โดยให้ผู้ใช้งานคืนบัตร รับคืนเงินคงเหลือในบัตรและค่าประกัน 300 บาท


การเปิดให้บริการอีซี่พาสมีความก้าวหน้า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 ได้ยกเว้นการเก็บค่าประกันความชำรุดเสียหายของอุปกรณ์ ที่ต้องมัดจำ 1,000 บาท เหลือแค่เติมเงินขั้นต่ำ เท่ากับว่าได้ยืมอุปกรณ์อีซี่พาสไปใช้แบบฟรีๆ

กระทั่ง 1 พฤศจิกายน 2559 กระทรวงคมนาคม ร่วมกับการทางพิเศษฯ และกรมทางหลวง เปิดระบบเชื่อมต่อระหว่างอีซี่พาส กับเอ็มพาส (M-PASS) ให้สามารถใช้ได้กับทางด่วนของการทางพิเศษฯ และมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงได้

ทำให้ผู้ใช้งานอีซี่พาสและเอ็มพาส สามารถใช้งานได้ทั้งทางพิเศษของการทางพิเศษฯ กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา หมายเลข 9 ถนนกาญจนาภิเษก และทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ได้

ปัจจุบัน การสมัครใช้บริการบัตรอีซี่พาสทำได้ง่ายยิ่งขึ้น จากเดิมต้องเติมเงินขั้นต่ำ 500 บาท เหลือ 300 บาท เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย สามารถสมัครได้ทั้งศูนย์บริการลูกค้าอีซี่พาส อาคารด่านเก็บค่าผ่านทาง และผ่านช่องทางออนไลน์

แม้การทางพิเศษฯ จะมีสารพัดวิธีเพื่อจูงใจให้หันมาใช้อีซี่พาสแทนเงินสด เช่น การยกเลิกค่ามัดจำ การให้ส่วนลดค่าผ่านทาง และการเพิ่มช่องทางเติมเงิน โดยปัจจุบันมีผู้ถือบัตรประมาณ 1.79 ล้านราย คิดเป็น 42% ของผู้ใช้ทางพิเศษทั้งหมด

แต่ก็มีผู้ใช้ทางส่วนหนึ่ง ไม่สะดวกที่จะใช้อีซี่พาส เพราะต้องติดตั้งอุปกรณ์โอบียู (OBU หรือ On-Board Unit) ไว้ที่กระจกรถ ยิ่งถ้าเป็นรถยนต์ที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น ถ้าเราหรืออีกฝ่ายไม่ยินยอมให้ใช้อีซี่พาสก็หมดโอกาสเลย


อีกทางเลือกหนึ่งที่การทางพิเศษฯ เตรียมจะนำมาใช้ก็คือ การติดตั้งเครื่องอ่านบัตร (EDC) สำหรับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแบบอีเอ็มวี (EMV) ที่ใช้ระบบคอนแทคเลส (Contactless) ชำระแทนเงินสด โดยพัฒนาร่วมกับธนาคารกรุงไทย

การติดตั้งเครื่องอ่านบัตร EDC จะติดตั้งที่ ช่องเก็บเงินสด โดยต้องแจ้งพนักงานก่อนว่า จะขอจ่ายค่าผ่านทางผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เมื่อนำบัตรไปแตะที่เครื่องอ่านแล้ว ระบบจะหักค่าผ่านทางจากวงเงินในบัตร หรือบัญชีธนาคารโดยตรง

ก่อนหน้านี้ การทางพิเศษฯ มีแผนทดลองนำร่องให้อาสาสมัครเฉพาะกลุ่ม (Private Group) ที่เป็นพนักงานการทางพิเศษฯ และธนาคารกรุงไทย นำบัตรไปแตะจ่ายค่าผ่านทาง 30 ด่านเก็บค่าผ่านทาง ของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (ขาออก)

มีรายงานข่าวระบุว่า การใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแตะจ่ายค่าผ่านทาง ใช้เวลาเพียง 5-6 วินาที น้อยกว่าการจ่ายค่าผ่านทางด้วยเงินสด ซึ่งใช้เวลามากกว่า 30 วินาทีขึ้นไป ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ทาง ลดความแออัดบริเวณหน้าด่านได้

จากการสังเกตด่านเก็บค่าผ่านทาง ของทางพิเศษเฉลิมมหานคร เช่น ด่านดาวคะนอง พบว่ายังไม่มีการติดตั้งเครื่องอ่านบัตร EDC ปรากฎให้เห็นแต่อย่างใด ทราบมาจากรายงานข่าวแต่เพียงว่า ได้ติดตั้งที่ด่านทุ่งครุ ทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์


อีกด้านหนึ่งพบว่า ที่ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ได้มีการติดตั้งเครื่องอ่านบัตร EDC ไว้ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางทุกแห่ง พร้อมติดป้ายข้อความระบุว่า “โครงการทดสอบระบบชำระค่าผ่านทางด้วยบัตรเครดิต”

ตัวเครื่องอ่านบัตรสีน้ำเงิน จะมีสัญลักษณ์ MasterCard PayPass พร้อมกับ VISA PayWave และสัญลักษณ์คอนแทคเลส พร้อมกับตัวเครื่องสีขาว ถูกนำมาติดตั้งทดแทนกล่องใส่เอกสาร หรือวารสารแจกฟรีบนทางพิเศษที่ถูกถอดออกไป

สอบถามพนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษกำแพงเพชร 2 ว่า ใช้บัตรเครดิตจ่ายแทนเงินสดได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “ยังไม่ได้” ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการ จึงจะประชาสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่ง และจากการสอบถามทราบว่า เครื่องนี้ติดตั้งได้ประมาณเดือนกว่าๆ เท่านั้น (ประมาณเดือนมิถุนายน 2563)

สำหรับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก เป็นของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้รับสัมปทานจากการทางพิเศษฯ เป็นเวลา 30 ปี (2555-2585) เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559

ในรายงานประจำปี 2562 ของ BEM กลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจทางพิเศษ (หน้า 63) พบว่าบริษัทฯ ได้ร่วมกับการทางพิเศษฯ และธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบชำระค่าผ่านทางด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตชนิด Contactless ตามมาตรฐาน EMV เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทาง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทดลองใช้งานได้ภายในปี 2563


ส่วนกลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดของธุรกิจระบบราง (หน้า 72) พบว่าหนึ่งในนั้นคือการนำระบบ EMV Contactless Transit เข้ามาใช้สำหรับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันประเทศอังกฤษและสิงคโปร์ได้นำระบบ EMV เข้ามาในการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของระบบ

การนำบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต มาใช้ชำระค่าผ่านทางแทนเงินสดไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศมีมานานแล้ว ซึ่งสมัยก่อนจะใช้วิธีสอดบัตรเข้าไปที่เครื่องอัตโนมัติ ปัจจุบันเริ่มมีบางประเทศชำระผ่านระบบคอนแทคเลส

ยกตัวอย่างในอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์ เปิดให้ผู้ใช้ทางชำระค่าผ่านทางแทนเงินสด ด้วยบัตรมาสเตอร์การ์ด เพย์พาส ที่เครื่องอ่านบัตรบนด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ NLEX, SCTEX และ CAVITEX มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา

แต่ในหลายประเทศ การชำระค่าผ่านทางผ่านระบบ RFID หรือ TAG ยังคงได้รับความนิยมมากกว่า เพราะผู้ใช้ทางไม่ต้องเปิดกระจกรถ ยิ่งถ้าเป็นประเทศญี่ปุ่น ยังมีบัตรเหมาจ่ายทางด่วนสำหรับผู้ใช้ทางเป็นประจำในราคาประหยัดอีกด้วย


ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หากยังจำกันได้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เคยรับชำระค่าผ่านทาง ทางยกระดับอุตราภิมุข ด้วยบัตรสมาร์ทเพิร์ส และบัตรเซเว่นการ์ด ของ บริษัท ไทยสมาร์ทการ์ด จำกัด ของกลุ่มซีพีออลล์

เริ่มจาก 3 ด่านใหญ่ช่วงปลายปี 2553 ก่อนที่จะให้บริการครบทุกด่านในปี 2554 แม้จะมีผู้ใช้บัตรสมาร์ทเพิร์สชำระค่าผ่านทางสูงถึง 3,000-5,000 คันต่อวัน แต่ในที่สุดก็ยกเลิกบริการไปเมื่อปี 2562 หลังจากนั้นบัตรสมาร์ทเพิร์สก็หยุดจำหน่าย

แต่ถึงกระนั้น หากในอนาคตระบบชำระค่าผ่านทางด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตเปิดให้บริการ และได้รับความนิยมมากขึ้น คงต้องลุ้นกันว่าดอนเมืองโทลล์เวย์ ผู้ที่ไม่ร่วมบัตรใดๆ ทั้งอีซี่พาส หรือแม้แต่เอ็มพาส จะยอมลงทุนระบบนี้ตามมาหรือไม่

ไม่นับรวมกลุ่มบริษัทบีทีเอส ที่ชนะประมูลงานระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี นอกจากคิดจะนำบัตรแรบบิทของตัวเองมาต่อยอดแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะนำระบบ EMV มาใช้ด้วยหรือเปล่า

แต่อย่างน้อย เรากำลังจะได้เห็นการทางพิเศษฯ ก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” กับระบบคมนาคมไทยอย่างจริงจังเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น