กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
TMRW หรือเรียกว่า “ทูมอร์โรว์” (Tomorrow) บริการธนาคารดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือของธนาคารสัญชาติสิงคโปร์อย่าง “ยูโอบี” เปิดตัวครั้งแรกในอาเซียนที่ประเทศไทย เจาะกลุ่มผู้บริโภคเจนเนอเรชันวาย (Gen-Y) อายุระหว่าง 18-35 ปี
ผลิตภัณฑ์ TMRW ประกอบด้วย บัญชี TMRW Everyday ที่ผูกกับบัตรเดบิต TMRW, บัญชี TMRW Savings สำหรับการออมในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟเกม ดอกเบี้ยสูง 1.3% ต่อปี และบัตรเครดิต TMRW ประเภทเครดิตเงินคืน สูงสุด 3%
ที่แตกต่างจากธนาคารอื่น คือการเปิดบัญชีที่ใช้ระบบไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) ทั้งหมด นอกจากถ่ายรูปบัตรประชาชน เซลฟี่เพื่อใช้ยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าแล้ว ยังต้องนำบัตรประชาชนไปเสียบที่ตู้คีออส TMRW สแกนลายนิ้วมืออีกครั้ง
จากนั้นรอบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตส่งทางไปรษณีย์ถึงบ้าน โดยไม่ต้องทำธุรกรรมต่อหน้าพนักงาน ไม่ต้องรอวันและเวลาทำการ เพราะมีตู้คีออส TMRW ที่หน้าสาขาธนาคารยูโอบี สถานีรถไฟฟ้า ร้านกาแฟ และซูเปอร์มาร์เก็ตรวมกว่า 350 แห่ง
แม้ที่ผ่านมายูโอบีทำการตลาดอย่างหนัก จัดโปรโมชันสมัครใหม่ แจกอี-คูปองกาแฟร้านดัง 200 บาท ยันสแกนจ่ายชาไข่มุกบาทเดียว แต่ผ่านไป 1 ปี ก็มียอดผู้ใช้บริการราว 2 แสนราย ซึ่งยูโอบีตั้งเป้าหมายลูกค้า 8 แสนรายภายใน 5 ปี
ปัจจุบัน TMRW ให้บริการเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอยู่ในโครงการ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่เปิดให้บริการทั่วประเทศ คนที่อยู่ต่างจังหวัดยังคงลำบากที่จะสมัครบริการนี้
มาปีนี้ กลุ่มยูโอบี ธนาคารสัญชาติสิงคโปร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากธนาคารดีบีเอส (DBS) และธนาคารโอซีบีซี (OCBC) ประกาศว่าจะเปิดให้บริการ TMRW ที่ประเทศอินโดนีเซียในปีนี้
กระทั่งแอปพลิเคชัน TMRW ID เปิดให้ดาวน์โหลดและสมัครไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นประเทศที่สองต่อจากไทย และเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยประชากรกว่า 265 ล้านคน มากเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย
ถึงกระนั้น ยูโอบียังต้องแข่งกับ ธนาคารดีบีเอส ที่มีบริการ ดิจิแบงก์ (DBS Digibank) มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 รวมทั้งบริการ เจนิวส์ (Jenius) ของ ธนาคารเบเตเปเอ็น (BTPN) ในกลุ่มซูมิโตโม มิตซุย แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น
และบริการ เปอร์มาตา มี (Permata Me) ของ ธนาคารเปอร์มาตา ก็เป็นเจ้าเดียวกับที่ธนาคารกรุงเทพ ของไทย ไปซื้อกิจการด้วยเงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา กลายเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 10 ของอินโดนีเซีย
ผลิตภัณฑ์ของ TMRW Indonesia แม้จะเหมือนของไทย แต่ต่างกันที่รูปแบบในบางผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย บัญชี TMRW Everyday ที่ผูกกับบัตรเดบิต TMRW, บัญชี TMRW Savings ในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟเกม ดอกเบี้ยสูงถึง 4% ต่อปี
ส่วนของไทย เพิ่งลดดอกเบี้ยบัญชี TMRW Savings จาก 1.6% เหลือ 1.3% ต่อปีไปหมาดๆ ถือว่าน้อยกว่าบัญชีออมทรัพย์อีซี่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และบัญชีอี-เซฟวิ่ง ธนาคารกสิกรไทย (เฉพาะ 100,000 บาทแรก) ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี
บัตรเดบิต TMRW ของอินโดนีเซียจะเป็นสีเหลือง มีสัญลักษณ์ครุฑ (Gruda) และคำว่า GPN ต่างจากบัตรเดบิต TMRW ของไทยเป็นสีฟ้า สัญลักษณ์มาสเตอร์การ์ด (MasterCard) ซึ่งบัตรรุ่นปัจจุบันรองรับระบบคอนแทคเลส (Contactless)
GPN มาจากคำว่า Gerbang Pembayaran Nasional เป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแห่งชาติ (National Payment Gateway) ของอินโดนีเซีย ให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตและระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง
ทราบมาว่า สมัยก่อนคนอินโดนีเซียถ้าจะรูดบัตรเดบิต ต้องรูดผ่านเครื่อง EDC ให้ตรงกับธนาคารนั้นๆ ไม่เช่นนั้นจะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ขาย เพราะแต่ละธนาคารระบบแตกต่างกัน พึ่งพาตัวกลางจากต่างประเทศ เช่น วีซ่า มาสเตอร์การ์ด
แต่เมื่อมีบัตรเดบิต GPN ลูกค้าก็รูดบัตรผ่านเครื่อง EDC กว่า 450,000 เครื่องในอินโดนีเซีย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ร้านค้าก็ได้ประโยชน์ เพราะค่าธรรมเนียมถูกลง จากเดิมต้องจ่ายประมาณ 3.25-3.50% เหลือเพียงแค่ 0.15-1.00% เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น อินโดนีเซียยังลดการพึ่งพาเครือข่ายตัวกลางรับเงินจากต่างประเทศ เช่น วีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ด ซึ่งจะเรียกเก็บ 0.80-0.85% แต่เมื่อมีระบบ GPN ร้านค้าและธนาคารแทบไม่ต้องจ่ายให้พวกเขา เงินทองไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ
ครั้งหนึ่ง รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถึงกับต้องทบทวนสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับอินโดนีเซีย เพราะผลจากการที่ธนาคารใช้ระบบ GPN ทั่วประเทศ ทำให้วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด บริษัทสัญชาติอเมริกัน ต้องสูญเสียรายได้มหาศาล
ในเอเชียก็มีตัวกลางชำระเงิน เช่น ยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) ของจีน, MEPS ของมาเลเซีย, NETS ของสิงคโปร์ ส่วนไทยแม้จะพึ่งพาวีซ่า มาสเตอร์การ์ด และยูเนี่ยนเพย์ แต่ให้ใช้ระบบเครือข่ายบัตรเดบิตในประเทศ ทำให้ค่าธรรมเนียมถูกลง
ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต TMRW อินโดนีเซีย ออกบัตรครั้งแรกฟรี ออกบัตรทดแทนฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี กดเงินฟรีที่ตู้เอทีเอ็มในเครือข่าย ATM Bersama หรือ Prima network แต่ต้องมีเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านรูเปีย (2,172.18 บาท)
หากยอดเงินในบัญชีไม่ถึง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 7,500 รูเปีย (16.29 บาท) ส่วนการสอบถามยอด คิดค่าธรรมเนียมครั้งละ 4,000 รูเปีย (8.69 บาท) และการโอนเงินผ่านระบบ RTOL ค่าธรรมเนียม 6,500 รูเปีย (14.12 บาท)
ข้อเสียก็คือ ไม่สามารถใช้จ่ายผ่านบัตรนอกประเทศอินโดนีเซียได้ แต่ยังสามารถกดเงินสดและสอบถามยอดได้ฟรี ที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารยูโอบี ในประเทศสิงคโปร์มากกว่า 500 เครื่อง ประเทศไทยราว 480 เครื่อง และที่สาขาในมาเลเซีย 45 แห่ง
เทียบกับบัตรเดบิต TMRW ของไทย ถอนเงินและสอบถามยอดได้ฟรีทุกธนาคารในไทย ยกเว้นค่าธรรมเนียมปีแรก ปีต่อไปค่าธรรมเนียม 250 บาทต่อปี ออกบัตรทดแทนค่าธรรมเนียม 100 บาท แต่ใช้จ่ายที่ร้านค้ารับบัตรมาสเตอร์การ์ดได้ทั่วโลก
ส่วน บัตรเครดิต TMRW เป็นบัตรมาสเตอร์การ์ด ลายบัตรเหมือนของไทย ฟรีค่าธรรมเนียมรายปีเฉพาะปีแรก ปีต่อไป 300,000 รูเปียต่อปี (652.06 บาท) ซึ่งถูกกว่าค่าธรรมเนียมของไทย ที่ปีถัดไปจะมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อปี
โปรโมชันบัตรเครดิต TMRW ของอินโดนีเซียจะคล้ายๆ กับไทย บ้านเราเป็น “15 ON 15” รับเครดิตเงินคืน 15% จาก 15 ร้านค้าชั้นนำ แต่อินโดนีเซียจะเป็น “20 ON 20” รับเครดิตเงินคืน 20% จากกว่า 20 ร้านค้าชั้นนำเช่นกัน
ขณะที่วิธียืนยันตัวตนของ TMRW Indonesia แตกต่างจากไทยตรงที่ บ้านเรายังต้องไปยืนยันตัวตนผ่านเครื่องคีออส TMRW ในกรุงเทพฯ ส่วนที่อินโดนีเซีย ยืนยันผ่านวีดีโอคอลกับเจ้าหน้าที่ เซลฟี่ใบหน้าพร้อมกับบัตรประชาชน (KTP)
บัตรประชาชนที่นั่นใช้ระบบ e-KTP (Kartu Tanda Penduduk Elektronik) บันทึกข้อมูลไบโอเมตริกซ์ เช่น ลายนิ้วมือลงในชิปไว้แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียได้นำมาใช้ทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2554 จึงช่วยลดขั้นตอนการยืนยันตัวตนได้มากทีเดียว
ส่วนการฝากเงินเข้าบัญชี TMRW Everyday ไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร เพราะโอนเงินผ่านอี-วอลเลตในอินโดนีเซียเข้าบัญชีได้ฟรี โปรโมชันช่วงแนะนำ แจกเงินเข้า บัญชีโกเพย์ (GoPay) ของโกเจ็ก (GoJek) สตาร์ทอัพยอดนิยมในอินโดนีเซีย
เมื่อสมัครแล้วเติมเงินเข้าบัญชี TMRW Everyday ผ่านช่องทางใดก็ได้ จำนวน 1 ล้านรูเปีย และทำรายการอย่างน้อย 2 ครั้งภายใน 30 วัน จะได้รับเงินคืนเข้าบัญชี GoPay จำนวน 100,000 แสนรูเปีย (217.35 บาท)
และถ้าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต TMRW 1 ล้านรูเปียภายใน 45 วันหลังจากบัตรได้รับการอนุมัติ รับเงินคืนเข้าบัญชี GoPay จำนวน 150,000 รูเปีย (326.03 บาท) เท่ากับจะได้รับเงินคืนสูงสุด 250,000 รูเปีย (543.38 บาท) เลยทีเดียว
ต้องคอยดูว่า ยูโอบีจะเปิดตัวบริการ TMRW ประเทศไหนต่อจากไทยและอินโดนีเซีย เพราะประเทศมาเลเซีย หนึ่งใน ATM Regional Switch ของยูโอบี ก็อยู่ในระหว่างเปิดประมูลใบอนุญาตผู้ประกอบการดิจิทัลแบงกิ้ง 5 ราย
แต่ที่น่าคิดก็คือ ประเทศแม่อย่างสิงคโปร์ ยูโอบียังคงรูปแบบให้บริการธนาคารแบบดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์เงินฝากและบัตรเครดิตแบบดั้งเดิม แม้กระทั่งแอปพลิเคชันยังคงใช้ UOB Mighty มาถึงปัจจุบัน