xs
xsm
sm
md
lg

Review : “บัตรทรูการ์ด” โฉมใหม่ ทำไมแตะขึ้นรถเมล์ไม่ได้?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ในที่สุดทรู (True) ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบบัตรสิทธิประโยชน์ใหม่ จากเดิมจะมีเฉพาะ “ทรูแบล็คการ์ด” กับ “ทรูเรดการ์ด” ได้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม 5 สีสัน เพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมออกบัตร “ทรูการ์ด มาสเตอร์การ์ด” โฉมใหม่

โดยบัตรทรูการ์ดโฉมใหม่ ได้วางจำหน่ายที่ร้านทรูช้อปในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยลูกค้าที่มียอดค่าชำระเฉลี่ยต่อเดือนไม่ถึง 250 บาท จะได้รับ บัตรทรูไวท์ (True White) เสียค่าออกบัตรใหม่ 69 บาท

ส่วนลูกค้าที่มียอดค่าชำระเฉลี่ยต่อเดือน 250 บาทขึ้นไป จะได้เริ่มต้นที่ บัตรทรูกรีน (True Green) บัตรทรูบลู (True Blue) บัตรทรูเรด (True Red) และบัตรทรูแบล็ค (True Black) ขึ้นอยู่ระยะเวลาการใช้บริการ และยอดค่าชำระเฉลี่ยต่อเดือน

ถึงแม้สิทธิประโยชน์ต่างกัน แต่รูปแบบบัตรไม่ต่างกัน เพราะเป็นบัตรมาสเตอร์การ์ดแบบเติมเงิน ที่ผูกกับบัญชี “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” (TrueMoney Wallet) หรือเรียกกันติดปากว่า “ทรูวอลเล็ต” ที่ใช้จ่ายผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น หรือร้านค้าต่างๆ

ความแตกต่างระหว่าง “บัตรทรูการ์ด” กับบัตรเดบิตทั่วไปก็คือ บัตรเดบิตจะผูกกับบัญชีธนาคาร ส่วนบัตรทรูการ์ดจะผูกกับบัญชีทรูมันนี่วอลเล็ต ที่ผูกกับเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า 10 หลัก

ทรูเริ่มออก “บัตรทรูยู มาสเตอร์การ์ด” มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 ทดแทนบัตรทรูแบล็คการ์ด และทรูเรดการ์ด ที่เดิมใช้กระเป๋าเงินทัชซิมมาเป็นทรูวอลเล็ต ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น “บัตรทรูการ์ด มาสเตอร์การ์ด” ในปัจจุบัน

ส่วนลูกค้าทั่วไป ทรูมันนี่ได้ออก “บัตรวีการ์ด” (We Card) ที่ผูกกับบัญชีทรูวอลเล็ต ภายหลังได้พัฒนามาเป็นบัตร “ทรูไวท์การ์ด” (True White Card) และบัตร “ทรูดิจิทัลการ์ด” (True Digital Card) ที่แจกให้ลูกค้าทรูผ่านทรูช้อปก่อนหน้านี้

สำหรับบัตรทรูการ์ดทั้ง 5 สีสัน แตกต่างจากบัตรรุ่นก่อนๆ ตรงที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส (Contactless) หรือการชำระเงินแบบไร้สัมผัส สามารถแตะที่เครื่องรูดบัตร EDC เพื่อชำระเงินได้เช่นเดียวกับบัตรเครดิต และบัตรเดบิต

เมื่อรูดจ่ายผ่านเครื่องรูดบัตร EDC ที่รับบัตรมาสเตอร์การ์ด ลูกค้าทรูรายเดือนจะได้รับทรูพอยท์ 3 เท่า ลูกค้าแบบเติมเงินจะได้รับทรูพอยท์ 2 เท่า (สูงสุด 300 ทรูพอยท์ ต่อ 1 หมายเลขบัตรประชาชนต่อเดือน) หมดเขต 31 ธันวาคม 2563


หน้าบัตรออกแบบมาให้เห็นเฉพาะลายบนบัตร ชิปการ์ด และสัญลักษณ์มาสเตอร์การ์ด ส่วนข้อมูลบัตร อาทิ เลขที่บัตร 16 หลัก เดือน/ปีที่หมดอายุ รหัส CVC จะมาไว้ที่ด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการนำบัตรไปแตะกับเครื่อง EDC

บัตรทรูการ์ด ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี มีอายุ 5 ปี นับจากเดือนและปีที่ผลิตบัตร (หมดอายุ 03/25) ใช้วงเงินเดียวกับ “ทรูวอลเล็ท” ซึ่งปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 500,000 บาท สำหรับลูกค้าที่ทำการยืนยันตัวตนผ่านตู้ทรูมันนี่ที่ทรูช้อปสำเร็จ

ปัจจุบันหลายธนาคารออกบัตรเดบิตระบบคอนแทคเลส หลังยกเลิกบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตระบบแถบแม่เหล็ก มาตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2563 เป็นต้นมา และได้พัฒนาเครื่องรูดบัตร (EDC) ให้รองรับระบบคอนแทคเลสเช่นกัน

แม้กระทั่งรถประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กว่า 3,000 คัน ก็มีเครื่อง EDC พกพา รองรับบัตรเติมเงิน ขสมก., โมบายแบงกิ้ง บัตรเครดิตและบัตรเดบิตมีระบบคอนแทคเลสทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

ด้วยความที่ในปัจจุบัน ยอดเงินใน “ทรูวอลเล็ต” เมื่อเติมเงินเข้าไปแล้ว จะถอนออกมาต้องเสียค่าธรรมเนียมที่แพงถึง 15 บาทต่อรายการ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือหาทางใช้ประโยชน์จากเงินในทรูวอลเล็ตให้ได้มากที่สุด

เมื่อเป็นบัตรแบบคอนแทคเลส คิดว่าน่าจะใช้กับรถเมล์ ขสมก. ได้ เลยตัดสินใจทดลองใช้งานดู ปรากฎว่าเมื่อแตะบัตรไปแล้ว เครื่อง EDC ของ ขสมก. ไม่สามารถทำรายการได้ ระบุข้อความว่า “ติดต่อ THAIVAN”


คำว่า THAIVAN หมายถึง บริษัท ไทยแวน เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครื่อง Android EDC สำหรับ ขสมก., รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที, การรถไฟแห่งประเทศไทย และ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (เฉพาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ)

ก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงไทย ได้เซ็นสัญญากับไทยแวน เซอร์วิส ในการจัดหา Android EDC จำนวน 20,000 เครื่อง นอกจากระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ยังนำไปใช้กับสาขาธนาคารกรุงไทยในการทำ KYC กับบัตรประชาชนและหนังสือเดินทาง

เข้าใจว่า THAIVAN ยังไม่ได้อัปเดตเครื่อง EDC ให้รองรับกับบัตรทรูมาสเตอร์การ์ด เพราะก่อนหน้านี้บัตรมาสเตอร์การ์ดแบบเติมเงินที่ชื่อว่า “ยูทริป” (YouTrip) ที่ออกโดยธนาคารกสิกรไทย เคยนำมาแตะเครื่อง EDC แล้วพบว่าใช้ได้

คงต้องรออีกสักระยะกว่าที่เครื่อง EDC จะอัปเดต เราถึงจะได้ใช้เงินจาก “ทรูวอลเล็ต” แตะจ่ายค่ารถเมล์ได้

แต่ที่เหลือเชื่อก็คือ เราสามารถนำรหัสบน “บัตรทรูการ์ด” ไปผูกกับ “บัตรแรบบิท” เพื่อขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสได้



ใครที่ใช้บริการแรบบิท ไลน์ เพย์ (Rabbit LINE Pay) และผูกกับบัตรแรบบิทเพื่อเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่แล้ว ให้ทำการเพิ่มบัตรทรูการ์ดลงในระบบก่อน โดยระบบจะหักเงิน 1 บาท และจะคืนภายหลัง

จากนั้นเข้าไปที่เมนู “BTS” เลือก “ตั้งค่า” แล้วเปลี่ยนวิธีชำระเงินเป็นบัตรทรูการ์ด ระบบจะแสดงผลเป็น “บัตรเครดิต – MASTER **XXXX” (สังเกตรหัส 4 ตัวท้ายของบัตร) จึงจะสามารถใช้เงินในทรูวอลเล็ตขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสได้

แถมยังได้รับคะแนนทรูพอยท์คูณ 2 จากโปรโมชัน ทุก 25 บาท ได้ 2 คะแนน เท่ากับว่าถ้าเราเดินทางไปยังส่วนต่อขยาย ที่ต้องเสียค่าโดยสาร 59 บาท เราจะได้คะแนนทรูพอยท์เพิ่มเป็น 4 คะแนนเลยทีเดียว

ส่วนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ปัจจุบันทำได้เพียงแค่เติมเงินผ่านแอปพลิเคชัน True Money ลงในบัตรเอ็มอาร์ที การ์ด (MRT Card) ขั้นต่ำ 100 บาท แล้วนำบัตร MRT Card ไปแตะที่เครื่อง VTM ในสถานีรถไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงยอด

อย่างไรก็ตาม หากจะนำเงินในทรูวอลเล็ตไปใช้ในชีวิตประจำวัน แนะนำว่าเพื่อให้ได้ผลดี ควรเลือกใช้ควบคู่กับแอปพลิเคชัน True Money จะดีกว่า เพราะแต่ละร้านค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เหมือนกัน

เช่น ถ้าจะใช้เงินในทรูวอลเล็ตซื้อของที่เซเว่นอีเลฟเว่น หรือร้านค้าที่รับชำระผ่านทรูมันนี่ ต้องใช้บาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ดในแอปฯ True Money โดยตรง เพราะจะได้รับทรูพอยท์ ทุก 25 บาท รับ 1 คะแนน

ถ้าจะใช้เงินในทรูวอลเล็ตซื้อของตามร้านค้าที่ไม่มีทรูมันนี่ แต่มีเครื่องรูดบัตร EDC ก็อาจจะใช้บัตรทรูมาสเตอร์การ์ดชำระได้ รวมทั้งช้อปปิ้งออนไลน์ ให้เลือกเป็นธนาคารธนชาต หรือ Thanachart Bank ก็ได้เช่นกัน

อาจเรียกได้ว่า บัตรทรูการ์ดโฉมใหม่ เป็นความพยายามที่จะนำระบบคอนแทคเลสมาใส่ในบัตร เพื่อรองรับการใช้จ่ายที่หลากหลายมากขึ้น เทียบเท่ากับบัตรเดบิตและบัตรเติมเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ได้พ่วงสิทธิประโยชน์จากทรูเอาไว้ด้วย

คนที่ใช้ทรูรายเดือนอยู่แล้ว ถ้าออกบัตรฟรีจะติดตัวไว้ใช้ก็ไม่เสียหาย ส่วนคนที่ใช้ทรูมูฟ เอช ระบบเติมเงิน ถ้าใช้จ่ายผ่านทรูวอลเล็ตเป็นประจำ ควรถามใจตัวเองก่อนว่า ถ้าจะต้องเสียเงินอีก 69 บาทเพื่อให้ได้บัตรใบนี้มาจะคุ้มค่าหรือไม่?

ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมบัตรทรูการ์ดแตะขึ้นรถเมล์ ขสมก. ไม่ได้ ตรงนี้ต้องขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารกรุงไทย ไทยแวน หรือทรูมันนี่ไปพิจารณา เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค


กำลังโหลดความคิดเห็น