กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าทั่วประเทศกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ตามมาตรการคลายล็อกของรัฐระยะที่ 2 หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทยลดลง
แต่ยังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการต่อไปโดยเคร่งครัด หนึ่งในนั้นคือการให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อควบคุมการเข้า-ออก
ช่วงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวออกมาแรกๆ บอกว่าเป็นแอปพลิเคชัน นึกในใจว่าไม่เปลืองหน่วยความจำแย่เลยเหรอ ตอนหลังชี้แจงว่าเป็น “แพลตฟอร์ม” ซี่งเป็นคนละอย่างกับแอปฯ
แพลตฟอร์มไทยชนะ เปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนเพื่อรับคิวอาร์โค้ด เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 พัฒนาระบบโดย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เคยทำระบบให้รัฐบาล ทั้งโครงการชิมช้อปใช้ และเราไม่ทิ้งกัน
รูปแบบก็คือ จะให้ร้านค้ากลุ่มของกิจกรรม กิจการ สถานประกอบการ ที่ผ่อนปรนให้เปิดทำการภายใต้มาตรฐานสาธารณสุข ทั้งกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ลงทะเบียน โดยจะต้องเป็นเจ้าของร้าน หรือผู้จัดการสาขากรณีที่เป็นสาขาของร้าน
หลังกรอกที่อยู่ ปักหมุด กรอกแบบสอบถามการเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการ และรับรหัส OTP เพื่อยืนยันการลงทะเบียนแล้ว จะให้ดาวน์โหลดภาพใบรับรองการประเมินตามมาตรการ ซึ่งจะมีชื่อร้านและคิวอาร์โค้ดให้ลูกค้าสแกน
ตัวคิวอาร์โค้ดจะอยู่ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน https://qr.thaichana.com โดยระบุประเภทแอป (App ID) 4 หลัก และรหัสร้านค้า (Shop ID) 11 หลัก โดยขึ้นต้นด้วย S และตามด้วยตัวเลข 10 หลัก
ส่วนฝั่งลูกค้า เมื่อมาถึงหน้าร้านค้าหรือสถานประกอบการ จะต้องสแกนคิวอาร์โค้ด วิธีสแกนมีหลายวิธี เช่น เข้าผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือเมนูถ่ายภาพจากสมาร์ทโฟนรุ่นที่รองรับ
คนที่ใช้งานไทยชนะครั้งแรก ให้กดข้อตกลงและความยินยอมในการนำส่งข้อมูล และระบุเบอร์โทรศัพท์ บราวเซอร์นั้นๆ จะบันทึกข้อมูลไว้ เวลาเช็กอินครั้งต่อไปกดเช็กอินได้ทันที ไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำ
แพลตฟอร์มไทยชนะมีหน้าที่เฝ้าระวัง หากพบผู้ติดเชื้ออยู่ในสถานที่ใด สามารถตรวจสอบได้ว่ามีใครอยู่ในบริเวณนั้น แล้วเรียกไปตรวจโควิด-19 ได้ฟรี โดยข้อมูลเช็กอินจะส่งไปที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีอายุ 60 วัน
อันที่จริงหากรัฐบาลไม่ได้นำข้อมูลการเช็กอินไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลัก ก็สนับสนุนให้มีระบบเช็กอินแบบนี้ เพราะสะดวกกว่ากรอกชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งบางทีคนกรอกก็กรอกแบบส่งๆ คนที่นำรายชื่อไปใช้งานก็อ่านไม่ออก
แต่ปัญหาเมื่อใช้งานจริง โดยเฉพาะคนที่ต้องไปใช้บริการศูนย์การค้า ดูเหมือนจะยุ่งยากกว่าที่คิด
เพราะนอกจากจะเช็กอินเวลาเข้าศูนย์การค้า พร้อมกับตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแล้ว ยังต้องเช็กอินอีกรอบเวลาเข้าร้านค้า และถ้าเป็นร้านค้าที่จำกัดคนเข้าร้าน คนมักจะขี้เกียจเช็กเอาท์ ทำให้ระบบแจ้งว่ามีผู้มาใช้บริการเต็มจำนวน
วันหนึ่งไปช้อปปิ้งที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ขณะกำลังจะเข้าศูนย์อาหาร (Food Court) เพื่อแวะรับประทานอาหาร รปภ.กล่าวว่า “สแกนไม่ได้นะคะ คนเช็กอินแต่ลืมเช็กเอาท์บ่อยมาก ระบบบอกว่าคนเต็ม รบกวนเซ็นชื่อให้หนูหน่อยได้ไหมคะ”
ต้องเก็บมือถือแล้วเซ็นชื่อแทน นึกในใจว่า ปากกาด้ามนี้ผ่านมือใครบ้างก็ไม่รู้
ปัญหาเช็กอินไปแล้วระบบบอกว่าคนหนาแน่น ทั้งๆ ที่เห็นด้วยตาแทบจะไม่มีคน เกิดขึ้นในหลายร้านค้า โดยเฉพาะร้านที่จำกัดไม่เกิน 10-20 คน มักจะมีปัญหาแบบนี้กันเยอะ จนต้องมี รปภ. ยืนอยู่ที่ทางออก ร้องขอให้เช็กสแกนเอาท์ด้วย
ถามว่าถ้าหลังเช็กอินจะมีเมนูล็อกเอาท์ไว้เลยได้ไหม ปัญหาก็คือ เราไม่แน่ใจว่าได้บันทึกไว้ที่เว็บบราวเซอร์ตัวไหน โดยเฉพาะระบบแอนดรอยด์ ที่มีทั้งบราวเซอร์ในมือถือบางรุ่นที่มากับเครื่อง และบราวเซอร์ยอดนิยมอย่าง Google Chrome
และกรณีบราวเซอร์ที่ใช้เข้าเว็บไซต์ กับบราวเซอร์ที่รับข้อมูลจากการสแกนคิวอาร์โค้ดคนละตัวกัน ปัญหาก็คือถ้าเข้าเว็บไซต์ผ่านบราวเซอร์ ที่เป็นคนละตัวกับบราวเซอร์ที่รับข้อมูลจากการสแกนคิวอาร์โค้ด เวลาเข้าเว็บอาจจะไม่เจอข้อมูลก็ได้
สิ่งที่อยากจะเสนอก็คือ ในเว็บแอปพลิเคชัน ควรจะมีเมนู “เช็กอินย้อนหลัง” ที่จะแสดงผลว่าเช็กอินตรงไหนไว้บ้าง ถ้าออกจากร้านไปแล้วไม่ได้เช็กเอาท์ สามารถกดปุ่มเช็กเอาท์ได้ทันทีเพื่อไม่ให้ร้านค้าเสียโอกาส
อาจจะมีเมนูตรวจสอบย้อนหลังผ่านเว็บแอปพลิเคชันสักตัว โดยลงทะเบียน รับ OTP แล้วเก็บเป็นคุกกี้ หรือข้อมูลขนาดเล็กติดไปกับบราวเซอร์ จากนั้นเวลาเข้าเว็บจะเห็นประวัติการเช็กอินย้อนหลัง ซึ่งสามารถตรวจสอบและเช็กเอาท์ได้ทันที
อาจจะกำหนดให้เช็กประวัติการเช็กอินย้อนหลัง เพื่อประโยชน์ในการเช็กเอาท์ภายในเที่ยงคืนของวันที่เข้าใช้บริการก็ได้ ซึ่งแพลตฟอร์มไทยชนะ ปกติจะเคลียร์ระบบหลังเที่ยงคืน หลังจากขึ้นวันใหม่จะไม่เห็นประวัติในแอปพลิเคชันอีก
ไม่ต้องมามัวแต่เสียเวลาหาคิวอาร์โค้ดเวลาออกจากร้านค้า หรือหลงลืมไปว่าต้องเช็กเอาท์ก็ปล่อยเลยตามเลย เป็นเหตุให้คนอื่นเช็กอินไม่ได้ ร้านค้าเสียประโยชน์ ทำแบบนี้ประชาชนที่ให้ความร่วมมือจะได้สะดวกขึ้น
อีกประการหนึ่งที่อยากจะเสนอแก่ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า หรือสถานประกอบการ ที่มีการวัดอุณหภูมิร่างกายแล้วแปะสติกเกอร์ ที่ผ่านมากลายเป็นขยะติดตามราวบันได เสาไฟ ป้ายรถเมล์ สกปรกอย่างยิ่ง
สติกเกอร์ที่นำมาติดให้ลูกค้า ส่วนใหญ่จะเป็นสติกเกอร์วงกลมที่หาซื้อง่ายๆ ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป ปกติเอาไว้ใช้ติดตกแต่งแบ่งหัวข้องานต่างๆ ลงบนสมุดโน้ต สมุดแพลนเนอร์ เอกสารต่างๆ หรือใช้เน้นจุดสำคัญบนเอกสาร
มีแต่ศูนย์การค้า กลุ่มเดอะมอลล์ฯ ที่พิมพ์สติกเกอร์เป็นลวดลายเทอร์โมมิเตอร์ ออกมาเป็นสี เข้าใจว่าน่าจะเป็นสีตามวันที่มาใช้บริการ เช่น วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู ดูน่ารักและใส่ใจในรายละเอียดมากกว่าห้างอื่น
เลยนึกไอเดียว่า เพื่อไม่ให้สติกเกอร์ถูกทิ้งกลายเป็นขยะ ร้านค้าอาจจะให้สะสมสติกเกอร์ที่ทำเป็นโลโก้ เหมือนสแตมป์เซเว่นหรือตามร้านค้าต่างๆ แล้วจัดโปรโมชัน สมมติว่าอาจจะสะสมสติกเกอร์ครบ 7 สี 7 ดวง รับส่วนลด 10 บาทก็ได้ หรือถ้าให้สะสม 10 ดวงก็ให้ระบุวันที่เพื่อไม่ให้ซ้ำกัน
วิธีนี้นอกจากจะไม่ทำให้สติกเกอร์กลายเป็นขยะแล้ว ยังสร้างแรงจูงใจให้มาใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันในยุคนิวนอร์มัล ลูกค้ามักจะมาไม่นาน รีบช้อป รีบกลับ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คงไม่มีใครอยากอยู่ห้างฯ นานๆ
ทิ้งท้ายอยากจะขอฝากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเมื่อฝนตก หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก็จะเปียก หรือถูกละอองฝน แล้วมีความชื้นอยู่ในตัว เสี่ยงต่อเชื้อโควิด-19 จะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น
อย่างน้อย หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ควรมีสำรองติดกระเป๋าไว้ 1 ชิ้น ใส่ในถุงซิปล็อกเพื่อกันน้ำ และหลีกเลี่ยงใส่รวมกันในขวดน้ำดื่มหรือสิ่งของที่มีไอเย็นออกมา เพื่อไม่ให้หน้ากากเปียกชื้น เมื่อหน้ากากที่สวมอยู่เปียกฝนก็เปลี่ยนใหม่ได้
ปีนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการระบาดของโควิด-19 ปกติหากเชื้ออยู่บนโต๊ะพื้นเรียบจะอยู่ได้ 24-48 ชั่วโมง แต่ถ้าเชื้ออยู่ในน้ำจะอยู่ได้ 4 วัน
ช่วงหน้าฝน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อาจจะใช้ชีวิตลำบากไปบ้าง ยิ่งตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่เริ่มมาจากสถานที่ชุมชน อย่างเคสผู้ป่วยวัย 72 ปี ไปโรงพยาบาลและร้านตัดผม รวมทั้งชาวอิตาลีที่ภูเก็ต ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าการ์ดจะตกหรือเปล่า
นอกนั้นวิธีดูแลตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงไปในที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท กินอาหารที่สุกใหม่ แยกสำรับอาหารและของใช้ส่วนตัวออกจากกัน ยังคงใช้ได้ดีในสถานการณ์แบบนี้
ถ้าออกจากบ้านช่วงนี้ ฝนตกก็กางร่ม เวลาหลบฝนอย่ายืนหันหน้าเข้าหากัน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ต้องเปียกฝนกลับมา ให้รีบอาบน้ำสระผมทันที ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อที่จะผ่านพ้นช่วงวิกฤตยามนี้อย่างอยู่รอดปลอดภัย.