กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อกระทรวงศึกษาธิการเลื่อนเปิดเทอมมาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ระหว่างนั้นก็จัดการศึกษาทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือที่เรียกว่า “เรียนออนไลน์”
โดยใช้กลไกทีวีเพื่อการศึกษา “DLTV” (Distance Learning Television) ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ โครงการในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ ออกอากาศมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันมี 15 ช่อง
รวมทั้ง สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) กระทรวงศึกษาธิการ และ สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ (R-Channel) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มารวมอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันด้วย
แม้การเรียนออนไลน์อาจจะมีเสียงวิจารณ์ตั้งแต่ระบบส่งสัญญาณภาพ ยันเนื้อหาการสอน ซึ่งไม่ขอพูดถึงตรงนี้เพราะมีคนวิจารณ์กันเยอะแล้ว แต่โดยส่วนตัวกลับรู้สึกดีใจด้วยซ้ำ ที่เด็กยุคนี้ได้ดูโทรทัศน์เพื่อการศึกษาแบบฟรีๆ ถึงบ้าน
ในขณะที่เมื่อสัก 20 ปีก่อน สมัยที่ฟรีทีวียังเป็นระบบแอนะล็อก (Analog) เด็กรุ่นเรายังไม่มีโอกาสได้ดูทีวีเพื่อการศึกษาแบบนั้นด้วยซ้ำ เพราะคนที่ดูได้ตามบ้านเรือน ต้องติดจานดาวเทียม หรือเคเบิ้ลทีวียูบีซีเท่านั้น
ยุคนั้น “บ้านคนมีอันจะกิน” เท่านั้นถึงจะได้ดูยูบีซี เพราะค่าบริการรายเดือนแพงมาก!
กระทรวงศึกษาธิการ ใช้วิธีขอความอนุเคราะห์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้คลื่นความถี่ทีวีดิจิทัลออกอากาศทีวีเพื่อการศึกษาทั้ง 17 ช่อง
กสทช. ก็เลยอนุมัติให้นำทีวีเพื่อการศึกษาทั้ง 17 ช่อง มาทดลองออกอากาศได้ 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาต แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหารายได้ และเมื่อจัดการเรียนการสอนตามปกติก็ให้หยุดออกอากาศ
ทีแรกมีการเสนอให้จัดเรียงช่องรายการที่ฟันหลอ ซึ่งยังไม่มีผู้ได้รับใบอนุญาต และที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเดิมคืนใบอนุญาตไปแล้ว แต่ทำไปทำมาก็ได้ข้อสรุปว่า จะใช้ช่องหมายเลข 37-53 ซึ่งเป็นช่องทีวีดิจิทัลบริการชุมชนในอนาคตมาแทน
แต่ละช่องรายการจะออกอากาศผ่านผู้ให้บริการโครงข่าย ปัจจุบันมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก อสมท. และไทยพีบีเอส แต่ละแห่งจะมีช่องความถี่วิทยุมัลติเพล็กซ์ (MUX) เป็นของตนเอง
MUX 1 ช่องสัญญาณ จะใช้ออกอากาศทีวีดิจิทัลความคมชัดปกติ (SD) ได้สูงสุด 12 ช่องรายการ แต่ถ้าความคมชัดสูง (HD) จะใช้ได้สูงสุดเพียง 4 ช่องรายการ เพราะใช้ปริมาณแบรนด์วิธเทียบเท่ากับระบบ SD รวมกัน 3 ช่องรายการเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา MUX 3 อสมท., MUX 4 ไทยพีบีเอส และ MUX 5 กองทัพบก ประสบปัญหาผู้ประกอบการคืนใบอนุญาต 7 ช่องรายการ และเพิกถอนใบอนุญาตอีก 2 ช่องรายการ ทำให้ช่องรายการเหลืออยู่เพียบ
กรมประชาสัมพันธ์ MUX 1 นอกจากช่อง NBT หมายเลข 2 ออกอากาศระบบ HD แล้ว ยังทดลองออกอากาศทีวีภูมิภาค หมายเลข 11 ระบบ SD ส่งสัญญาณจากเชียงใหม่ ขอนแก่น จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี ทำให้คงเหลือ 8 ช่องรายการ
อสมท. MUX 3 นอกจากเหลือแค่ช่อง 9 MCOT HD แล้ว ยังเหลือผู้เช่าเพียง 2 ราย คือ ไทยรัฐทีวี หมายเลข 32 ระบบ HD และสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา (TPTV) หมายเลข 10 ระบบ SD ทำให้คงเหลือ 5 ช่องรายการ
ไทยพีบีเอส MUX 4 หลังช่อง 3 Family และ 3 SD คืนใบอนุญาต ประกอบกับช่องไทยทีวี และโลก้า ของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทำให้เหลือผู้เช่าเพียง 2 ราย คือ ช่อง 3 HD หมายเลข 33 และช่อง 8 ระบบ SD หมายเลข 27
ถึงกระนั้น ทราบมาว่า กสทช. อนุญาตให้ไทยพีบีเอส ทดลองออกอากาศ “ALTV ทีวีเรียนสนุก” (Active Learning TV) ช่องหมายเลข 4 ระบบ SD ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทำให้คงเหลือ 4 ช่องรายการ
กองทัพบก อาจเรียกได้ว่ามีผู้เช่าโครงข่ายเยอะที่สุด MUX 2 นอกจากจะมีช่อง ททบ.5 HD1 แล้ว ยังมีผู้เช่าระบบ HD ทั้งช่อง 7 HD, ช่องวัน 31 ส่วนระบบ SD มี TNN ช่อง 16, ช่องเวิร์คพอยท์ 23 และช่อง 24 ทรูโฟร์ยู
แต่ MUX 5 ที่พบว่าช่องไบร์ททีวี และช่องสปริง 26 คืนใบอนุญาต ทำให้เหลือผู้เช่าระบบ HD ทั้งช่อง อมรินทร์ทีวี 34, PPTV HD ช่อง 36 และระบบ SD มีช่องนิว 18, เนชั่นทีวี ช่อง 22, ช่อง GMM25 และช่องโมโน 29 คงเหลือ 2 ช่องรายการ
ทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาครั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์มี 6 ช่องรายการ (MUX1 ช่อง 40-45) อสมท. 5 ช่องรายการ (MUX 3 ช่อง 49-53) ไทยพีบีเอส 4 ช่องรายการ (MUX 4 ช่อง 37, 46-48) และกองทัพบก 2 ช่องรายการ (MUX 5 ช่อง 38-39)
นับเป็นการใช้โครงข่ายทีวีดิจิทัลเต็มประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ในช่วงที่เว้นวรรคการเปิดภาคเรียน แต่หลังจากนี้อีก 6 เดือนข้างหน้า ถ้าไม่ได้ไปต่อ ช่องรายการอาจจะกลับมาว่างเปล่าเหมือนเดิม
ย้อนกลับไปในปี 2538 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ ทรงก่อตั้งโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงสาขา
โดยใช้สถานีออกอากาศโทรทัศน์จากโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังโรงเรียนขนบทที่ห่างไกลกว่า 17,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ภายใต้โครงการของมูลนิธิฯ หรือโรงเรียนที่ติดตั้งอุปกรณ์เอง
ช่อง DLTV ทำให้ครูและนักเรียนได้รับโอกาส เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งยังมีส่วนช่วยพัฒนาครูปลายทางทั่วประเทศให้มีความรู้ความสามารถ ในการปฏิบัติงานสอนได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ
ถือเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล และประสบความสำเร็จในการออกอากาศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี
อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นฟรีทีวียังเป็นระบบแอนะล็อก คนที่จะดูช่อง DLTV ได้ต้องติดจานยูบีซี อีกทั้งระบบถูกออกแบบมาให้เรียนทางไกล เพราะฉะนั้นจึงเห็นนำมาใช้เฉพาะในโรงเรียนตามพื้นที่ห่างไกลมากกว่า
มาถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด สถานีโทรทัศน์ DLTV จึงได้พัฒนาระบบการออกอากาศที่ทันสมัยขึ้น จากระบบ SD มาเป็นระบบ HD
รวมทั้งปรับรูปแบบผลิตรายการ จากการออกอากาศสดเป็นบันทึกเทป เพื่อสามารถแก้ไขและนำไฟล์อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ให้ครูปลายทางชมล่วงหน้าได้ก่อนถึง 3 วัน อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางรับชมผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันอีกด้วย
วิวัฒนาการของโทรทัศน์เพื่อการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักจะเช่าเวลาสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) กรมประชาสัมพันธ์ ออกอากาศเท่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)
กระทั่งเทคโนโลยีการส่งสัญญาณแพร่ภาพผ่านดาวเทียม พัฒนามาเป็นระบบดิจิทัล (DSTV) มาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โดย 1 ช่องสัญญาณ (Transponder) ส่งช่องรายการทีวีได้ 12 ช่องรายการ ทำให้ต้นทุนการส่งสัญญาณแพร่ภาพถูกลง
เราจึงได้เห็นสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเปิด และมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา มีช่องทีวีดาวเทียมเกิดขึ้นเป็นของตัวเอง เช่น STOU Channel มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, RUTV มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น
ในปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ก่อตั้ง “โทรทัศน์ครู” โดยว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยบูรพาดำเนินงาน แต่ทำได้ 3 ปี สกอ.ไม่ต่อสัญญา ต้องยุติออกอากาศลงในวันที่ 30 กันยายน 2555
มาถึงทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษายุคนี้ กสทช. มีเงื่อนไขว่า 6 เดือนผ่านไปแล้ว หากกระทรวงศึกษาธิการสามารถกลับมาดำเนินการสอนได้ตามปกติ ก็ให้หยุดทดลองออกอากาศ
อาจมีคำถามว่า แล้วถ้าจะให้ทีวีเพื่อการศึกษาออกอากาศต่อไปมีความเป็นไปได้หรือไม่ คิดว่าได้ แต่ยาก ต้องใช้งบประมาณเฉพาะค่าส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล อาจสูงถึงปีละหลักร้อยล้านบาท!
โดยปกติแล้ว การออกอากาศทีวีดิจิทัล นอกจากจะต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช. แล้ว ยังต้องจ่ายค่าโครงข่าย เฉพาะระบบ SD อยู่ที่ประมาณ 4.60-4.72 ล้านบาทต่อเดือน ถ้าเป็นระบบ HD อยู่ที่ประมาณ 13.80-14.16 ล้านบาทต่อเดือน
ไม่นับรวมทีวีดิจิทัลแต่ละช่อง ต้องส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามหลักเกณฑ์ประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ต้องแพร่ภาพสัญญาณทีวีดิจิทัลเป็นการทั่วไปในทุกแพลตฟอร์ม ตกเดือนละ 1 ล้านบาทต่อเดือน
โทรทัศน์เพื่อการศึกษาทั้ง 17 ช่อง ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคมอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการออกอากาศถูกมาก เพราะ 1 ช่องสัญญาณ (Transponder) ส่งช่องรายการทีวีได้ 12 ช่อง จากเดิมระบบแอนะล็อกส่งได้ 2 ช่องรายการ
แต่ถ้าจะให้โทรทัศน์เพื่อการศึกษาอยู่ในแพลตฟอร์มทีวีดิจิทัล นอกจากจะต้องได้รับใบอนุญาตถาวรจาก กสทช. แล้ว จะต้องเสียค่าเช่าใช้โครงข่ายทีวีดิจิทัลแห่งใดแห่งหนึ่ง จากทั้งหมด 4 แห่ง
โดยปกติแล้ว ค่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล เฉพาะระบบความคมชัดปกติ (SD) จะอยู่ที่ประมาณ 4.60-4.72 ล้านบาทต่อเดือน ถ้าเป็นระบบความคมชัดสูง (HD) จะอยู่ที่ประมาณ 13.80-14.16 ล้านบาทต่อเดือน
แต่เมื่อธุรกิจทีวีดิจิทัลแต่ละรายประสบปัญหา กสทช. ก็เคยอนุมัติปรับลดค่าเช่าโครงข่ายประมาณ 20% เมื่อปี 2561 โดยระบบ SD ลดเหลือ 3.5-3.6 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนระบบ HD ลดเหลือ 10.5-10.8 ล้านบาทต่อเดือน
สมมติว่า ถ้าโทรทัศน์เพื่อการศึกษาอย่าง DLTV จะออกอากาศผ่านทีวีดิจิทัล 15 ช่องรายการ เอาเฉพาะระบบ SD หรือความคมชัดปกติ ต้องจ่ายเงินค่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล
ถึงจะลดลง เหลือเดือนละ 3.5 ล้านบาทต่อช่อง ถ้าจะออกอากาศ 15 ช่อง ต้องใช้เงินจ่ายค่าเช่าโครงข่ายมหาศาล ตกเดือนละ 52.5 ล้านบาท หรือตกปีละ 630 ล้านบาท!
นอกเสียจากว่าจะให้รัฐจัดสรรงบประมาณจ่ายค่าเช่าโครงข่าย ซึ่งถ้าทำได้ก็คงทำไปนานแล้ว
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ คนยุคนี้สนใจทีวีดิจิทัล น้อยกว่าช่องทาง OTT ผ่านอินเทอร์เน็ตบนมือถือ และยังพบว่าหลายครัวเรือนไม่มีทีวีให้ดู ในช่วงแรกจะเห็นข่าวผู้ปกครองซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ และมือถือเครื่องใหม่เพื่อเรียนออนไลน์โดยเฉพาะ
การเรียนออนไลน์ไม่ได้แก้ปัญหาการศึกษาแบบครอบจักรวาล เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่รัฐหยิบยื่นมาให้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเปิดภาคเรียนก็เป็นหน้าที่ของโรงเรียนและครูที่จะต้องจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนทุกคนตามปกติ
ด้วยเหตุผลข้างต้น หลังผ่านพ้นช่วงเปิดเทอมไปแล้ว หากรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่องทางนี้ต่อเนื่อง ก็อาจจะไปไวกว่าที่คิด เหลือไว้เพียงตำนานว่าครั้งหนึ่งเมื่อเกิดโรคระบาด ได้เรียนออนไลน์ผ่านโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ให้ได้พูดถึงกับคนรุ่นหลัง
กลายเป็นความทรงจำของคนยุคก่อน ที่เด็กและเยาวชนยุคนี้กลับมองกันอีกมุมหนึ่ง ในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน เข้าทำลายล้างทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการโทรทัศน์ และการศึกษาของไทย