กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ทุกวันนี้เวลาออกจากบ้านไปไหนมาไหนก็มีแต่คน “สวมหน้ากาก” ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า แทบจะเรียกได้ว่า “หน้ากาก” เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า “สวมหน้ากาก” หมายถึง “แสดงทีท่าหรือกิริยาอาการที่มิได้เกิดจากนิสัยใจจริง แสดงกิริยาท่าทีลวงให้เข้าใจผิด” เช่น “ต่างคนต่างสวมหน้ากากเข้าหากัน”
แต่ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตด้านสุขภาพ ตั้งแต่ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” ไปจนถึง “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือ โควิด-19 หน้ากากได้เข้ามามีบทบาท กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้น
“สวมหน้ากากเข้าหากัน” สำหรับยุคนี้ อาจเป็นการป้องกันสุขภาพของตัวเอง ไม่ให้เชื้อโรคจากบุคคลอื่นที่เป็นพาหะเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว มากกว่าความหวาดระแวงในทางลับหลัง ที่เกิดจากต่างฝ่ายไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน
ในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังมาไม่ถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ประสบปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ PM 2.5 บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว
สาเหตุหลักเกิดจากรถกระบะ รถบรรทุก หรือรถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ไม่นับรวมการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง เมื่อมาเจอ “ความกดอากาศสูง” หรือมวลอากาศเย็นที่หนักและจมตัว ฝุ่นควันเหล่านี้ก็ลอยขึ้นไปไม่ได้
ถ้าเป็นต่างจังหวัด ฝุ่นขนาดเล็กมักจะเกิดจากไฟป่าด้วยน้ำมือมนุษย์ จังหวัดที่ปลูกอ้อยเยอะก็จะเผาไร่อ้อยเพื่อประหยัดเวลา จังหวัดไหนที่มีโรงโม่หินก็จะเกิดฝุ่นจากการโม่หิน หรือบางประเทศในอาเซียนเกิดไฟป่า กระทบมาถึงภาคใต้ของไทยก็มี
เมื่อคุณภาพอากาศเลวร้ายลง ประชาชนจึงเลือกซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัยชนิด N95 เพื่อกรองฝุ่นละออง เวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือออกนอกบ้าน สมัยนั้นยังหาซื้อไม่ยาก สินค้าหมดก็มีจำหน่ายมาใหม่เรื่อยๆ
แต่เมื่อเกิดวิกฤตไวรัสโคโรนา 2019 จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน แล้วแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้หน้ากากอนามัยขาดตลาด ประชาชนแห่กว้านซื้อจนหมด มีการปั่นราคา ค้ากำไรเกินควรในโลกออนไลน์
หนำซ้ำ ยังกระทบไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีใช้ ต้องนำหน้ากากอนามัยใช้แล้วมาใช้ซ้ำ หรือเสี่ยงตายใช้หน้ากากผ้าสัมผัสผู้ป่วย ระยะหลังจึงแก้ปัญหาด้วยการให้กระทรวงมหาดไทย จัดสรรหน้ากากอนามัยแทนกระทรวงพาณิชย์
ถึงกระนั้น ราคาหน้ากากอนามัยในปัจจุบันแพงขึ้นไปมาก จากเดิมยิ่งซื้อจำนวนมากราคายิ่งถูกลง กลายเป็นว่าตกชิ้นละ 2.50 บาท และเนื่องจากความต้องการมีมาก แถมเป็นวัสดุสิ้นเปลืองเพราะใช้แล้วทิ้ง ทำให้ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย
อีกด้านหนึ่ง ก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนที่ยังมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ใช้หน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัย ควบคู่ไปกับรณรงค์ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือ และอยู่ห่างกัน 2 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดการสัมผัสใกล้ชิดกัน
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า หน้ากากอนามัยมี 3 ประเภท ลักษณะของการใช้แตกต่างกันออกไป ได้แก่
1. หน้ากากอนามัยแบบผ้า กรณีคนไม่ป่วย แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้า เพราะประหยัดและลดขยะ สามารถซัก ตากแห้ง และนำมาใช้ใหม่ได้ กรณีคนที่ป่วยให้ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
2. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เหมาะสำหรับป้องกันการแพร่ หรือรับเชื้อต่างๆ ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย ที่มากับละอองน้ำลาย น้ำมูก ที่พุ่งกระจายออกมา โดยเฉพาะเวลาจาม ที่มีแรงส่งละอองน้ำลาย น้ำมูกกระจายในรัศมีวงกว้าง
3. หน้ากากอนามัยชนิด N95 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย เพราะใกล้ชิดเชื้อมากกว่า มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเชื้อโรคที่มีขนาดเล็ก และเชื้อวัณโรค เชื้อแอนแทร็กซ์ หรือเชื้ออื่นๆ ที่เป็นอันตรายได้
ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำให้ใช้ “ผ้าฝ้ายมัสลิน” ทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า มากกว่าผ้าชนิดอื่น เพราะสามารถซักได้มากกว่า 100 ครั้ง โดยคุณภาพของเนื้อผ้าไม่เสื่อม และสามารถต้านการซึมผ่านของละอองน้ำได้ดี
ที่น่าสนใจก็คือ การแถลงข่าวของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 พบว่า จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในช่วง 3 เดือนลดลงอย่างมาก
ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เดือนมกราคมอยู่ที่ 51,770 ราย เดือนกุมภาพันธ์ลดลงมาเหลือ 32,211 ราย เดือนมีนาคมลดเหลือ 10,541 ราย เพราะได้อานิสงส์จากโควิด-19 ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าทุกคน
นอกจากจะคุมโควิด-19 แล้ว การสวมหน้ากากยังคุม “โรคไข้หวัดใหญ่” ได้อีกด้วย
แม้ในปัจจุบันหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ยังคงหาซื้อยาก เพราะทางราชการต้องการจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน แต่หน้ากากอนามัยแบบผ้า เริ่มมีจำหน่ายทั่วไปในราคาไม่แพง ขึ้นอยู่กับเนื้อผ้าและคุณสมบัติต่างๆ
ช่วงวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นใหม่ๆ หน้ากากอนามัยแบบผ้าก็เคยหาซื้อยากและมีผู้ค้ากำไรเกินควรขายในราคาแพง แต่เมื่อหน่วยงานราชการตัดเย็บหน้ากากผ้าแจกจ่าย ตลอดจนผู้ประกอบการเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ก็หันมาเย็บหน้ากากผ้าจำหน่าย
ทำให้ทุกวันนี้เราเห็นหน้ากากผ้าวางจำหน่ายเต็มไปหมด เริ่มกลายเป็นสินค้าแฟชั่น เพราะมีผู้ผลิตบางรายเริ่มผลิตเป็นลวดลายสีสันสดใส เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้สวมใส่เวลาออกไปข้างนอก กลายเป็นสินค้าที่นักช้อปออนไลน์ต้องสั่งกันแบบรัวๆ
และเนื่องจากทางราชการมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อทุกแห่งขอความร่วมมือให้ลูกค้าต้องสวมหน้ากาก ก่อนเข้ามาใช้บริการทุกครั้ง ทำให้หน้ากากผ้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันช่วงเวลานี้
จากประสบการณ์ส่วนตัว สวมหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้านนานกว่า 1 เดือน ช่วงแรกๆ รู้สึกเคอะเขินไปบ้าง แต่ระยะหลังๆ ทางจังหวัดสมุทรสาคร บ้านของผู้เขียนออกมาตรการ ใครไม่สวมหน้ากาก ปรับสูงสุด 20,000 บาท
กลายเป็นว่าทุกคน “สวมหน้ากาก” กันหมด ก็เกิดความเคยชิน
สิ่งที่เป็นปัญหาระหว่างสวมหน้ากากอนามัยก็คือ ไอความร้อนจากการหายใจมักจะเกิดคราบบนแว่นตา เมื่ออยู่ในที่อากาศเย็น อีกอย่างหนึ่งก็คือ มือถือที่ใช้วิธีปลดล็อกด้วยใบหน้า (Face ID) ก็ใช้ไม่ได้ ต้องคอยกดรหัสผ่านเองอยู่เรื่อย
เมื่อกลับถึงบ้านจะนำหน้ากากผ้าที่สวมใส่แล้วมาใส่ในตะกร้าใบเล็กๆ ที่ซื้อมาเพื่อใส่หน้ากากผ้าโดยเฉพาะ แล้วเมื่อถึงคราวที่หน้ากากที่ยังไม่ได้ใช้เหลือน้อย ก็รวบรวมนำไปซัก แล้วตากให้แห้งเพื่อหยิบมาใช้ในคราวต่อไป
ส่วนการซักหน้ากากผ้า ถามคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้มงวดว่าจะต้องฆ่าเชื้อโรคถึงขนาดนั้น ก็ใช้น้ำยาซักผ้าธรรมดาซักมือไปตามปกติ หรือสุภาพสตรีบางรายใช้น้ำยาซักชุดชั้นในสตรี ซักหน้ากากผ้าก็มี แต่ถ้าจะแช่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนซักก็ไม่เสียหาย
ส่วนตัวใช้น้ำยาซักผ้าเดทตอล (ขวดสีขาว ฝาสีเขียว) 1 ฝา ต่อน้ำ 1.2 ลิตร แช่ไว้ 15 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนซักมือด้วยน้ำยาซักผ้าชนิดน้ำ แล้วตากให้แห้ง โดยใช้ที่หนีบไม้แขวนเสื้อ หนีบหน้ากากไม่ให้ลมพัดปลิว 1 วัน แล้วถึงเก็บเข้าที่
ระยะหลังน้ำยาซักผ้าเดทตอลขาดตลาด แถมผู้ค้าออนไลน์บางคนโก่งราคา จากขวดละ 200 กว่าบาท กลายเป็น 400-500 บาท ก็ใช้น้ำยาเดทตอลสีน้ำตาลธรรมดาๆ แช่หน้ากากผ้าได้ โดยผสมน้ำยากับน้ำตามอัตราส่วนที่กำกับไว้ในฉลาก
แม้ต่อให้วิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลายลงได้ระยะหนึ่ง แต่หน้ากากผ้าก็ยังจำเป็นต้องมีติดบ้านไว้ เพราะอย่างน้อยเมื่อเกิดวิกฤตสุขภาพกลับมา เฉกเช่นฝุ่นละออง PM2.5 ก็ถึงเวลาที่จะหยิบหน้ากากผ้ามาสวมอีกครั้ง
ถ้าหน้ากากผ้าของท่านยังมีสภาพดี เก็บรักษาเอาไว้ ให้สะดวกต่อการหยิบใช้ ดีกว่าหาไม่เจอแล้วต้องเสียเงินซื้อใหม่อีกครั้ง