กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โรคโควิด-19” สินค้าสุขภาพขาดตลาดอย่างหนัก นอกจาก “หน้ากากอนามัย” ที่แม้แต่แพทย์และพยาบาลยังไม่มีใช้แล้ว “แอลกอฮอล์” และ “เจลล้างมือ” ก็สินค้าหมดเช่นกัน
อีกด้านหนึ่ง ยังพบผู้ค้าหัวใสกักตุนสินค้า ก่อนนำมา “ปั่นราคา” ขายแพงกว่าเท่าตัว แอลกลฮอล์ล้างแผลขนาด 450 มิลลิลิตร จากเดิมราคาขวดละประมาณ 50 บาท เพิ่มสูงขึ้นถึงขวดละ 90 บาท ยิ่งราคาขายในเน็ตสูงขึ้นถึงขวดละ 270 บาท
ส่วนเจลล้างมือ แม้จะมีบางหน่วยงานทำเองและแจกฟรี แต่ถ้าราคาขายในเน็ตก็มีหลายยี่ห้อ หลายแบบ ราคาไม่เท่ากัน ถ้าเป็นสินค้าโนเนมราคาจะถูก แต่ถ้าเป็นยี่ห้อดังจะถูกผู้ขายปั่นราคา ถ้าเป็นขวดปั๊มสูงถึง 450 บาทต่อขวดเลยทีเดียว
แม้จะมีหน่วยงานรัฐนำเจลล้างมือมาจำหน่าย แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น องค์การสุรา กรมสรรพสามิต นำเจลล้างมือขนาด 400 กรัม จำหน่ายขวดละ 99 บาท จำกัดคนละไม่เกิน 2 ขวด ปรากฎว่า “ขายหมด” อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ องค์การเภสัชกรรม เตรียมขายแอลกอฮอล์เจลผ่านออนไลน์แทน แบ่งเป็น เซต 1 แอลกอฮอล์เจลชนิดขวดปั๊ม 450 กรัม 1 ขวด และชนิดหลอด 50 กรัม 5 หลอด กับเซต 2 แอลกอฮอล์เจลชนิดหลอด 50 กรัม 8 หลอด
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้จดแจ้งผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 70% โดยปริมาตร ถึง 2,631 ราย จากสถานที่ผลิต 766 แห่ง
ขณะที่องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่าย “แอลกอฮอล์บริสุทธิ์” รายเดียวในประเทศไทย มีกำลังการผลิตแอลกอฮอล์ได้วันละ 60 ตัน ก่อนนำไปจำหน่ายแก่ภาคอุตสาหกรรม เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์
ส่วนหน่วยงานของรัฐอย่างองค์การเภสัชกรรม ผลิตแอลกอฮอล์เจลเดือนละ 200,000 หลอด และมีบริษัทลูกส่งมาให้อีก 200,000 หลอด รวม 400,000 หลอดต่อเดือน ราคาขายปลีกขนาด 50 กรัม หลอดละ 24 บาท
องค์การเภสัชฯ ให้ความมั่นใจว่า เจลล้างมือไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่าตัวอยู่แล้ว อีกทั้งกำชับร้านยาที่มีการส่งเจลล้างมือว่า ห้ามโก่งราคาเด็ดขาด
ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตแอลกอฮอล์เจล หรือเจลล้างมือส่วนหนึ่ง ต้องหยุดผลิตลงตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีกฎหมายฉบับหนึ่ง “เกือบ” จะมีผลบังคับใช้
นั่นก็คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ. 2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13 กันยายน 2562 และจะบังคับใช้ในอีก 180 วัน หรือวันที่ 11 มีนาคม 2563
แต่สุดท้าย อย. ได้ “ฉีกประกาศ” ยกเลิกไปเมื่อไม่นานมานี้เอง
สาระสำคัญก็คือ กำหนดให้ “เจลล้างมือ” ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จากเดิมจดแจ้งเป็น “เครื่องสำอาง” ให้กลายเป็น “เครื่องมือแพทย์” โดยต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์รวมกันมากกว่า 70% ขึ้นไปโดยปริมาตร
ทำให้โรงงานเครื่องสำอางที่ไม่มีใบอนุญาตผลิตเครื่องมือแพทย์ ต้อง “หยุดผลิต” ไปโดยปริยาย หากจะผลิตต้องไปขอจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ประกาศมีผลบังคับใช้
ส่งผลทำให้เจลล้างมือที่จำหน่ายตามร้านขายยา และร้านค้าทั่วไป ขาดตลาดตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนสินค้าที่มีอยู่ในสต็อกก็ถูกผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะในเน็ตปั่นราคาสูงขึ้น เพราะอยู่ในช่วงที่มีความต้องการสูง
หลายคนคงสงสัยว่า ในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาด ยังมีคนที่ต้องการเจลล้างมือพกพาเพื่อสุขอนามัย ทำไมกระทรวงสาธารณสุขถึงต้องบังคับให้เป็น “เครื่องมือแพทย์” ถือว่ากีดกันผู้ผลิตเจลล้างมือ และจำกัดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่?
เรื่องนี้ให้นำปัจจัย “โรคโควิด-19” ตัดทิ้งออกไปได้เลย เพราะประกาศฉบับนี้ออกมาตั้งแต่โควิด-19 ยังไม่เกิด แต่สาเหตุมาจากก่อนหน้านี้มีผลิตภัณฑ์ “เจลล้างมือคุณภาพต่ำ” เข้ามาในตลาดจำนวนมาก
เจลล้างมือเหล่านี้ จดแจ้งเป็น “เครื่องสำอาง” กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่พบว่าบางรายมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นส่วนผสม “ต่ำกว่า 70% โดยปริมาตร” ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้
หนำซ้ำ ผู้บริโภคที่นำไปใช้เข้าใจผิดว่าเจลล้างมือเหล่านั้นสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ จึงมีการนำไปใช้ตามห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หรือโรงพยาบาลเพื่อป้องกันโรคติดต่อต่างๆ เช่น โรคหวัด โรคมือเท้าปาก ฯลฯ
เมื่อเป็น “เจลแอลกอฮอล์คุณภาพต่ำ” ปริมาณแอลกอฮอล์น้อยเกินไป จึงเกิดความกังวลว่าจะฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ เชื้อทนต่อแอลกอฮอล์ ทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้างมากขึ้น
กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ ก็เลยร่างประกาศให้เปลี่ยนเจลล้างมือจาก “เครื่องสำอาง” ให้กลายเป็น “เครื่องมือแพทย์” ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งกับทาง อย. ที่มีอยู่เดิมต้องถูกยกเลิก
ผู้ผลิตเจลล้างมือ ต้องไปยื่นขอจดทะเบียน “สถานประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์” ต้องแจ้งรายการละเอียด และต้องทำตามมาตรฐานและข้อกำหนด
แต่บังเอิญ โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งมีต้นตอการระบาดจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งในตอนนั้นประกาศเพิ่งจะผ่านไป 3 เดือน
โรงงานผลิตเครื่องสำอาง ผลิตเจลล้างมือตามปกติ กระทั่งใกล้วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 11 มี.ค. 2563โรงงานบางแห่งหยุดผลิต บางแห่งผลิตต่อไป ซึ่งทางการไฟเขียวให้จำหน่ายสินค้าล็อตที่เหลืออยู่ได้อีกประมาณ 6 เดือน
พอโรงงานเลิกผลิตเจลล้างมือ สินค้าที่มีอยู่จำหน่ายไปหมดแล้ว ก็ทำให้เกิดปัญหาขาดตลาด เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย แม้จะมีบางส่วนผลิตออกมาจำหน่าย แต่ก็ไม่พอกับความต้องการอยู่ดี
กลายเป็นที่มาของการ “ฉีกประกาศ” เพื่อเปิดทางให้โรงงานเครื่องสำอางกลับมาผลิตเจลล้างมืออีกครั้ง เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค แก้ปัญหาสินค้าขาดตลาดและสู้ภัยวิกฤตโรคโควิด-19 ด้วยประการฉะนี้
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 วันเดียวกับที่ยกเลิกประกาศก่อนหน้า ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563
สาระสำคัญคือ ห้ามผลิต นำเข้า หรือขายเจลล้างมือที่มีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือ เอ็น-โพรพานอลเพียงสารเดียว หรือผสมรวมกันอยู่ต่ำกว่า 70% โดยปริมาตร
งานนี้เปลี่ยนจาก กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ เป็น คณะกรรมการเครื่องสำอาง ออกมาแนะนำประกาศฉบับนี้ เป็นการกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับเจลล้างมือ ต้องมีแอลกอฮอล์มากกว่า 70% โดยปริมาตรขึ้นไป
ความจริงการประกาศให้เจลล้างมือเป็นเครื่องมือแพทย์ ไม่สำคัญเท่ากับการ “ควบคุมมาตรฐาน” เจลล้างมือ ไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาด เพราะคงไม่ดีแน่ถ้าเกิดเชื้อดื้อยา ต้องเพิ่มความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ขึ้นไปอีก
แต่ถึงกระนั้น ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนหนึ่ง ที่ต้องการเจลล้างมือที่ใช้เฉพาะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส ต่อไปเจลล้างมือที่ผสมแอลกอฮอล์อ่อนๆ เน้นกลิ่นหอมจากต่างประเทศ อาจต้องยกเลิกการนำเข้า
ในปัจจุบัน เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ มีอยู่ 3 ชนิด คือ
“เอทิลแอลกอฮอล์” (Ethyl alcohol) หรือ “เอทานอล” (Ethanol) เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ผลิตจากกระบวนการหมักโดยใช้กากน้ำตาล หรือพืชผลทางการเกษตร ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และออกฤทธิ์ต่อไวรัสได้ดีกว่า สัมผัสกับอาหารได้ปลอดภัย
“ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์” (Isopropyl alcohol) หรือ “ไอโซโพรพานอล” (Isopropanol) ได้จากการสังเคราะห์ทางปิโตรเคมี ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียได้ดีกว่า แต่รับประทานโดยตรงไม่ได้ เพราะมีสารเคมีปนเปื้อน
ถ้านึกไม่ออก ให้นึกถึง “แอลกอฮอล์ล้างแผล” ขวดสีฟ้า ราคาถูกกว่า มีกลิ่นฉุนกว่า เทียบกับเอทิลแอลกอฮอล์ ที่ตอนนี้ราคาแพงและหายาก ผู้ผลิตบางรายก็เลยนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเจลล้างมือจำหน่าย เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง
อีกชนิดหนึ่ง “เอ็น-โพรพิวแอลกอฮอล์” (N-propyl alcohol) หรือ “เอ็น-โพรพานอล” (n-propanol) ก็เป็นสารเดียวกับที่ใช้เป็นตัวทำละลายในแล็กเกอร์ ทินเนอร์ หมึกพิมพ์ กาว และใช้ในอุตสาหกรรมเคลือบผิว
อย่างไรก็ตาม เจลล้างมือที่ใช้แล้วปลอดภัยที่สุด คือ เจลล้างมือที่ผสมเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล เพราะคนไทยนิยมใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรง เช่น ไก่ทอด ขนมขบเคี้ยว ข้าวเหนียว เมื่อทำมาจากแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จึงมีความปลอดภัยกว่า