xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อตกงานกะทันหัน จะรับมือยังไงดี?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ก่อนเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ 2563 เพียงไม่กี่วัน ได้ยินข่าวร้ายว่า โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ย่านอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พนักงาน 997 คน กลายเป็นคนตกงานโดยไม่รู้ตัว

แม้สาเหตุไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเจ้าของกิจการ ที่ขณะนี้ยังคงไม่มีคำตอบใดๆ แต่ก็พอจับทางได้ว่า โรงงานแห่งนี้ก่อตั้งมานานถึง 40 ปี ตัดสินใจ “เซตซีโร่” ตั้งบริษัทใหม่ คัดเลือกพนักงานบางส่วน ระดับคีย์แมนให้สมัครเข้าทำงานกับบริษัทใหม่

พนักงานที่ได้รับการคัดเลือก ส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 50 ปี ต้องยอมรับกับการจ้างงานใหม่ ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ปัจจุบันวันละ 331 บาท) ถ้าใครมีฐานค่าจ้างสูงเกินตำแหน่งหรือขั้นเงินเดือน ก็ต้องปรับลด ทำให้ได้เงินเดือนน้อยลง

ส่วนคนที่มีอายุ 50-60 ปี ทางโรงงานเลือกใช้วิธีจ้างแบบ “สัญญาจ้าง” คราวละ 11 เดือน ต่อสัญญาทุกๆ 11 เดือน เมื่อครบอายุสัญญาแล้วโรงงานไม่ต่อสัญญา ก็ให้ถือว่าสิ้นสุดการจ้าง โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ

ส่วนพนักงานบริษัทเดิม หลังปิดกิจการ เลิกจ้าง จ่ายค่าชดเชยไปแล้ว (ราว 114 ล้านบาท) ถือว่าสภาพการจ้างเดิมสิ้นสุดลง คนที่ย้ายมาอยู่ในสังกัดบริษัทใหม่ ก็ต้องนับอายุงานใหม่ รับสวัสดิการใหม่ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัทใหม่

ฟังดูแล้วอาจโหดร้าย แต่มันคือเรื่องจริง โรงงานหรือบริษัทที่เปิดกิจการมานาน 20-30 ปี และมีพนักงานอายุงานสูงๆ ใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจจะเลียนแบบเซตซีโร่เพื่อลดต้นทุน

ไม่ต่างอะไรกับการปรับโครงสร้างองค์กรที่เกิดขึ้นหลายบริษัท ยามเศรษฐกิจไม่ดีหรือถูกดิจิทัล ดิสรัปชัน ก็ต้องมีเลิกจ้าง อาจจะรู้สึกไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ทุ่มเททำงานให้องค์กรมานาน แต่การเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

เมื่อความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ทำให้เราต้องแสวงหาคำตอบให้กับตัวเอง และเผื่อแผ่ไปยังผู้อ่าน ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งกลายเป็นคนตกงาน จะทำอย่างไร? และจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรนับจากนี้?


เริ่มแรก เมื่อเราถูกเลิกจ้างกะทันหัน ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทำให้บริษัทเสียหาย เรามีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ทั้ง “เงินเดือนหรือค่าจ้างงวดสุดท้ายของการทำงาน” กับ “ค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายกำหนด”

ค่าชดเชยตามกฎหมาย จะได้ก็ต่อเมื่อทำงานมาแล้ว 120 วัน ขึ้นไป จะได้ค่าชดเชยเริ่มต้นที่ 30 วัน ถ้าทำงานมาแล้ว 1 ปี ได้ 90 วัน, ทำงาน 3 ปี ได้ 180 วัน, ทำงาน 6 ปี ได้ 240 วัน, ทำงาน 10 ปี ได้ 300 วัน และสูงสุด 20 ปีขึ้นไปได้ 400 วัน

อีกอย่างหนึ่ง ถ้านายจ้างบอกเลิกจ้างกะทันหันน้อยกว่า 1 เดือน หรือ 1 รอบค่าจ้าง แบบที่ไม่ทันได้หางานใหม่ ต้องได้รับ “ค่าตกใจ” หรือเรียกเต็มๆ ว่า “สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า” ซึ่งตามกฎหมายแรงงานบังคับให้จ่ายด้วย

อย่างต่อมา หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า “เงินประกันสังคม” ที่เราถูกหักออกจากเงินเดือนทุกเดือน นอกจากใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย หรือจะได้เงินบำเหน็จ-บำนาญเมื่ออายุ 55 ปีแล้ว ยังมี “เงินทดแทนระหว่างการว่างงาน” ให้อีก

คนที่ถูกหักเงินประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือน (หรือ 1 ปี 3 เดือน) ก่อนว่างงาน จึงจะได้เงินทดแทน 50% ของเงินเดือน สูงสุด 15,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 180 วัน แต่ถ้าลาออกเองได้แค่ 30% เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน

สมมติว่า เงินเดือนที่เราได้รับ 10,000 บาท ถ้าเราถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน แต่ถ้าลาออกเองจะได้แค่ 3,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนเท่านั้น

แต่ถ้าเงินเดือนที่เราได้รับ 20,000 บาท ถ้าเราถูกเลิกจ้าง จะคิดเฉพาะฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน แต่ถ้าลาออกเองจะได้แค่ 4,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือนเท่านั้น

วิธีการได้เงินเงินทดแทนระหว่างการว่างงานก็คือ ต้องไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ หรือจัดหางานจังหวัดภายใน 30 วัน ก่อนไปยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน

เงินจำนวนนี้ ในช่วงที่ตกงานควรใช้จ่ายเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น อย่าลืมว่าต่อให้หางานใหม่ได้ ยังต้องสำรองจ่ายเงินแก่ตัวเองระหว่างทำงานอีก 1 เดือน จนกว่าเงินเดือนที่ทำงานใหม่ออกมา


อย่างต่อมาก็คือ พยายามนึกว่าที่ผ่านมาเคยทำธุรกรรมหรือลงทุนอะไรบางอย่างเอาไว้ ในยามที่ตกงานถ้าจำเป็นต้องใช้เงิน อะไรที่ไถ่ถอนได้ ก็ไถ่ถอนออกมาก่อน เพื่อนำเงินมาใช้ “ต่อชีวิต” โดยไม่ต้องไปสนใจกำไรหรือขาดทุน รักษาชีวิตไว้ก่อน

เช่น ถ้าเรามีพอร์ตหุ้นอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าต้องการใช้เงินก็ขายทิ้งให้หมด ไม่ต้องไปสนใจว่าราคาหุ้นจะดีหรือไม่ดี หรือถ้าเราเคยซื้อสลากออมสินเอาไว้ สามารถไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้ แม้จะต้องถูกหักส่วนลดหน่วยละ 1-2 บาทก็ตาม

ส่วนทรัพย์สินมีค่าอย่างทองคำ ถ้าไม่ใช่มรดกตกทอดจากบรรพบุรุษหรือมีคุณค่าทางจิตใจ ในยามที่ต้องการใช้เงินเราสามารถขายหรือจำนำออกมาเป็นเงินสดไว้ก่อนก็ได้ คิดเสียว่าถ้าผ่านพ้นจุดนี้ไปได้ค่อยเริ่มต้นใหม่

แต่ถ้าเคยซื้อ “ประกันชีวิต” แบบสะสมทรัพย์หรือคุ้มครองตลอดชีวิต จ่ายเบี้ยประกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี เราสามารถ “กู้เงินตามสิทธิกรมธรรม์” ตามมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์มาใช้ก่อนได้ โดยที่ยังคงได้รับความคุ้มครองชีวิต

วิธีการก็คือ โทรศัพท์ไปที่บริษัทประกันชีวิตเพื่อตรวจสอบ “มูลค่าเงินสดตามกรมธรรม์” ว่ามีอยู่เท่าไหร่ สามารถกู้เงินได้หรือไม่ จากนั้นไปที่สาขาของบริษัทประกันชีวิต เพื่อเซ็นเอกสารสัญญาเงินกู้ โดยใช้สำเนาบัตรประชาชน

แต่ละบริษัทจะมีวิธีให้เงินกู้แตกต่างกันไป ทั้งจ่ายเช็คเงินสด หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งลูกค้าต้องเตรียมสำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคารไปด้วย ถ้าเป็นบริษัทใหญ่รอรับเงินภายใน 30 นาทีถึง 1 วันทำการ บริษัทเล็กๆ ช้าที่สุด 15 วัน

การกู้เงินตามสิทธิกรมธรรม์ อาจจะเสียสิทธิบางอย่าง เช่น เงินปันผลที่เคยได้รับจะไม่ได้รับ ถ้ายังไม่ได้จ่ายเงินกู้ครบจำนวน แต่ก็ไม่มีระยะเวลาชำระหนี้ตายตัว ถ้าอยากได้เงินครบกำหนดสัญญาเต็มจำนวน ก็ต้องรีบชำระหนี้เงินกู้ให้หมด


มาถึงหลักการสำคัญ คือ “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” ควรพิจารณารายจ่ายที่มีอยู่ทั้งหมด ก่อนจะค่อยๆ ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และไม่เดือดร้อนในการดำรงชีพก่อน รายจ่ายที่เป็นภาระผูกพันก็ควรยกเลิกหรือปรับลดลง

เช่น จากที่เราดื่มกาแฟร้านดังวันละแก้ว เปลี่ยนเป็นกาแฟซองหรือกาแฟกระป๋อง ความบันเทิงในบ้านจากที่จ่ายค่าแอปฯ ดูหนังทั้งเดือน เปลี่ยนเป็นดูหนังดังบนฟรีทีวี หรือค่าฟิตเนสที่ต้องจ่ายทุกเดือน เปลี่ยนมาเป็นวิ่งในสวนสาธารณะแทน

รายจ่ายบางอย่างถ้าหนักกว่าที่ยามตกงานจะแบกรับไหว ก็ปรับลดบริการลงได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ ถ้าใช้ระบบรายเดือนที่ต้องจ่ายหลายร้อยบาท ก็ชำระหนี้คงค้างให้หมดแล้วขอปรับลดเป็นระบบเติมเงิน จะใช้แค่ไหนเติมเงินเท่านั้น

สำหรับบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด อย่าอายที่จะติดต่อสถาบันการเงินเพื่อแก้ปัญหา เช่น ขอประนอมหนี้ก่อน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ทำนอง “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” หากปล่อยให้เข้าสู่กระบวนการทางศาล เครดิตที่มีอยู่ในตัวจะถูกทำลายตลอดชีวิต

ในช่วงที่กำลังหางานทำ ถ้ายังไม่มีที่ไหนเรียกตัวไปทำงาน อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับอดีตอันขมขื่น งานอะไรที่ทำแล้วได้เงินทำไปก่อน ไม่ว่าจะเป็น “งานพาร์ทไทม์” หรือ “งานฟรีแลนซ์” อย่างน้อยก็คิดเสียว่าดีกว่าอยู่เฉยๆ

เช่น คนที่มีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ และมีใบขับขี่ สมัครบริการเรียกรถเจ้าดัง ส่งคน ส่งอาหาร ส่งพัสดุ ยุคนี้สมัครและส่งเอกสารผ่านออนไลน์ อบรมออนไลน์ ไม่ต้องไปสำนักงานใหญ่ ก่อนเปิดระบบพร้อมเครดิตเพื่อบริการลูกค้าได้เลย

หรือหากใครที่มีคอนเนกชันกับคนในวงการเดียวกันอยู่แล้ว ถ้ามีคนยื่นโอกาสมาให้ ถ้าเรามีศักยภาพทำได้ก็คว้าโอกาสนั้นไปก่อน อาจจะทำแบบฟรีแลนซ์ชั่วคราวสักระยะหนึ่ง ระหว่างหางานใหม่ก็ได้

ไม่ว่าชีวิตหลังตกงานจะต้องปรับตัวขนาดไหน ก็ควรที่จะมีสติอยู่เสมอ เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายไปแล้ว เมื่อได้งานใหม่ สังคมใหม่ หรือเปลี่ยนเส้นทางชีวิตใหม่ จะกลายเป็นคนใหม่ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น


ข่าวคราวการเลิกจ้างพนักงานที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองว่า เศรษฐกิจยิ่งไม่ดีอยู่ช่วงนี้ มีอะไรบ้างที่พอจะเป็นเครื่องมือ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น

หลายธนาคารมักจะแนะนำให้มี “เงินสำรองฉุกเฉิน” โดยยึดหลัก “ออมก่อนใช้” เอาไว้ก่อน อย่างน้อยต้องมี 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งการฝากเงินในบัญชีธนาคารยุคนี้ แม้จะได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ความเสี่ยงก็ต่ำลงไปด้วย

ปัจจุบัน เงินฝากในบัญชีธนาคารมี “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” ดูแลอย่างน้อยเมื่อธนาคารไหนปิดกิจการ ลูกค้ายังได้รับความคุ้มครองเงินฝากสูงสุด 5 ล้านบาท ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 หลังจากนั้นคุ้มครองเงินฝากสูงสุด 1 ล้านบาท

อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่นอกจากมีไว้ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีประโยชน์ในยามคับขันก็คือ “ประกันชีวิต” เฉพาะแบบสะสมทรัพย์ หรือคุ้มครองตลอดชีวิต ในยามฉุกเฉินยังสามารถกู้เงินตามสิทธิกรมธรรม์ได้ ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ากู้เงินแบบอื่น

เมื่อมีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอยู่ในมือแล้ว ยังสามารถลงทุนในรูปแบบอื่น เช่น หุ้น กองทุน ตราสารหนี้ ฯลฯ แต่ต้องไม่สร้างภาระเพิ่ม โดยประเมินศักยภาพตัวเองก่อนว่ามีความรู้แค่ไหน มีเวลาพอหรือไม่

ที่สำคัญ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือไม่ อย่าเสี่ยงกับภาพลักษณ์ที่สวยหรูแต่ไม่มีหน่วยงานรองรับตามกฎหมาย เหมือนแชร์แม่มณี และสารพัดแชร์ออมเงินที่โด่งดังก่อนหน้านี้

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ตาม “ความไม่แน่นอน” มักเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ถ้าเราวางแผนทางการเงินมาอย่างดี ไม่ว่าวิกฤตจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็ยังมีแผนสำรองให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้

ในเทศกาลปีใหม่ 2563 ถือเป็นโอกาสที่จะได้เริ่มต้นใหม่ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีชีวิตและการงานที่ราบรื่น ด้วยสติและปัญญาด้วยประการทั้งปวง สมหวังทุกประการตลอดทั้งปีนี้และตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น