กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ห้องรับรอง (Lounge) ที่ท่าอากาศยาน กลายเป็นสิ่งที่นักเดินทางส่วนหนึ่ง ต่างนึกถึงเมื่อต้องออกเดินทาง เนื่องจากในช่วงที่เรียกขึ้นเครื่อง จะได้เพลิดเพลินกับที่นั่งสบายๆ ทานอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่มก่อนขึ้นเครื่อง
โดยปกติแล้ว ห้องรับรองจะให้บริการเฉพาะบัตรโดยสารชั้นหนึ่ง (First Class) และชั้นธุรกิจ (Business Class) ยกเว้นบางสายการบิน ที่มีห้องรับรองสำหรับผู้โดยสารชั้นประหยัด อย่างเช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส
ส่วนสายการบินราคาประหยัด (Low-Cost Airlines) มักจะมีบริการเสริมพิเศษที่พ่วงมากับสิทธิในการเช็กอิน ขึ้นเครื่องก่อนใคร และรับกระเป๋าก่อนใครเมื่อถึงปลายทาง โดยเลือกห้องรับรองที่เป็นพันธมิตรกับสายการบิน
ยังมีห้องรับรองที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับสายการบิน มีทั้งห้องรับรองเฉพาะสมาชิกของธุรกิจนั้นๆ เช่น เดอะ วิสดอม เลาจน์ สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตเดอะวิสดอมกสิกรไทย หรือ คิงเพาเวอร์เลาจน์ สำหรับบัตรสมาชิกคิงเพาเวอร์
เลาจน์บางแห่งนอกจากจะรองรับลูกค้าบัตรสมาชิก เช่น ไพรออริตี พาส (Priority Pass) เลาจน์คีย์ (LoungeKey) หรือ ดรากอน พาส (Dragon Pass) แล้ว ยังเปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้บริการได้ โดยต้องเสียค่าบริการเป็นรายครั้ง
ปัจจุบัน สถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตระดับสูงขึ้นไป มักจะให้สิทธิพิเศษบัตรสมาชิกเลาจน์แก่ผู้ถือบัตรไปด้วย เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเวลธ์ (Wealth) ที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุนในสถาบันการเงินหลักล้านบาท
แต่ไม่ใช่ว่าประชาชนทั่วไป ที่ไม่มีเงินฝากเป็นล้าน หรือบัตรเครดิตระดับสูงๆ จะไม่มีโอกาสเอื้อมถึง “เลาจน์ฟรี” เสียเลย เพราะปัจจุบันเริ่มมีสิทธิพิเศษใช้ห้องรับรองที่สนามบินได้ฟรีเกิดขึ้นแล้ว
เริ่มจากคนที่ใช้มือถือ เอไอเอส หากได้รับสิทธิเซเรเนด ตั้งแต่ระดับโกลด์ขึ้นไป เมื่อบินกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ จะได้รับสิทธิใช้ห้องรับรอง “บลู ริบบอน คลับ” (Blue Ribbon Club) ที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า
ปกติแล้ว ห้องรับรองของบางกอกแอร์เวย์ส จะบริการของว่างและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะข้าวต้มมัด แต่ถ้าเป็นห้องบลู ริบบอน คลับ ยังสามารถสั่งอาหารจานร้อน ของว่าง ขนมหวาน และเครื่องดื่ม พร้อมคอมพิวเตอร์ให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี
โดยลูกค้าระดับเซเรเนด โกลด์ ใช้สิทธิ์ได้ 2 ครั้งต่อปีปฏิทิน ส่วนลูกค้าเซเรเนด แพลทินัม ใช้สิทธิ์ได้เดือนละครั้ง แต่ต้องเดินทางกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเท่านั้น สายการบินอื่นใช้สิทธิพิเศษนี้ไม่ได้
สำหรับสมาชิกเซเรเนด จะได้สิทธิ์ใช้ห้องรับรอง “มิราเคิล เลาจน์” (Miracle Lounge) ในราคาพิเศษ เช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างประเทศ ปกติ 1,200 บาท ลดเหลือ 850 บาท สามารถใช้ได้โดยไม่จำกัดสิทธิ์
สนามบินดอนเมือง ขาออกในประเทศและต่างประเทศ จากปกติ 600-700 บาท ลดเหลือ 500 บาท ถ้าเป็นฝั่งเคาน์เตอร์เช็กอินอย่าง “มิราเคิล โค-เวิร์คกิง สเปซ” จากปกติ 350 บาท เหลือ 300 บาท ไม่จำกัดจำนวนสิทธิ์เช่นกัน
ที่น่าสนใจก็คือ ยังมีบัตรเดบิตและบัตรพรีเพด ของธนาคารชั้นนำออกมาแข่งขัน “เลาจน์ฟรี” กันแล้ว
อย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทย ก่อนหน้านี้ออกผลิตภัณฑ์ “บัตรเดบิตเจอร์นี” (Journey) ที่นอกจากจะรูดจ่ายในต่างประเทศ ไม่ต้องเสียค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5% แล้ว ยังได้รับสิทธิ์ใช้บริการเลาจน์ฟรีปีละครั้ง
โดยผู้ถือบัตรสามารถใช้บริการห้องรับรองมิราเคิล เลาจน์ สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ขาออกต่างประเทศ (ขาออกในประเทศไม่ร่วมรายการ) ได้ทุกสายการบิน รวมทั้งโลว์คอสต์แอร์ไลน์ 1 สิทธิ์ต่อปีปฏิทิน
ช่วงแนะนำถึงขนาดเพิ่มสิทธิ์ ถ้าสมัครบัตรภายในปี 2562 จะได้รับสิทธิ์ใช้บริการ มิราเคิล เลาจน์ ฟรีเพิ่มเป็น 3 สิทธิ์ ในปีปฏิทิน 2562 และ 2563 คิดเป็นมูลค่าสูงสุดถึง 3,600 บาทเลยทีเดียว (จากค่าบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ 1,200 บาท)
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงค่าธรรมเนียม พบว่าบัตรเดบิตเจอร์นี ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 700 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 550 บาท แต่เมื่อมองโลกในแง่ดี คิดเสียว่าเราได้ซื้อบริการเลาจน์ล่วงหน้าจากค่าธรรมเนียมบัตรไปแล้ว
ที่น่าอึ้งก็คือ เมื่อธนาคารกสิกรไทยออกบัตรเดบิตเจอร์นี ฝั่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ไม่น้อยหน้า หลังออกบัตรพรีเพดการ์ด “พลาเน็ต เอสซีบี” (PLANET SCB) แจกบัตรฟรีแก่ผู้สมัครบัตรผ่านแอปฯ SCB Easy ไปก่อนหน้านี้
ปรากฎว่า ออกโปรโมชันสำหรับผู้ที่แลกเงินในบัตร 1,000 คนแรกของเดือน รับสิทธิใช้บริการ มิราเคิล เลาจน์ ฟรี 1 สิทธิ์ตลอดรายการ ทำเอาผู้คนที่ทราบโปรโมชั่นต่างแลกเงินเพื่อแย่งสิทธิ์จำนวนมาก แม้จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม
แคมเปญนี้จัดเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2562 ถึงมกราคม 2563 โดยต้องลงทะเบียนผ่าน SMS หรือเว็บไซต์ก่อน ถ้าเราแลกเงิน 5,000 บาทขึ้นไป 1,000 คนแรก หากมีคุณสมบัติจะได้ SMS ยืนยันให้ไปใช้สิทธิ์ภายใน 10 วัน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่รู้ว่าหลังสิ้นสุดแคมเปญไปแล้ว ฝั่งของไทยพาณิชย์จะจัดโปรโมชันอะไรต่อ แต่อย่างน้อย 1,000 สิทธิ์ที่แจกต่อเดือน รวม 4,000 สิทธิ์ตลอดโครงการ ก็น่าจะมีคนแย่งชิงไปไม่น้อยเหมือนกัน
สำหรับการใช้บริการเลาจน์ โดยส่วนใหญ่มักจะกำหนดไม่เกิน 2 ชั่วโมง 30 นาทีต่อครั้ง ส่วนเกินต้องจ่ายค่าบริการ เลาจน์บางแห่งไม่มีบริการเรียกขึ้นเครื่อง จึงต้องหมั่นสังเกตว่าถึงเวลาขึ้นเครื่องเมื่อไหร่กันเอาเอง
นอกจากนี้ เลาจน์ไม่อนุญาตให้นำอาหารและเครื่องดื่มออกนอกเลาจน์ เพราะฉะนั้นการเข้าไปนั่งกินน้ำกินขนม หรือกินอาหารร้อนในเลาจน์ ก็เหมือนกับการทานบุฟเฟต์แบบจับเวลา เพียงแต่อยู่ในสนามบินแค่นั้น
กลยุทธ์ที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มนักเดินทางเริ่มเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กลยุทธ์บริหารความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (CRM) สิทธิพิเศษเลาจน์ฟรีที่สนามบินจะเริ่มมีคนนำมาใช้ เนื่องจากตอบสนองต่อความสะดวกสบายของลูกค้าก่อนเดินทาง
ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจรายใดจะกล้าลงมาเล่นแจกสิทธิ์เข้าเลาจน์ฟรีตามมาอีก?