วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
ที่หน้าสนามบินนานาชาติดัลเลส ในรัฐเวอร์จิเนีย ธงชาติสหรัฐฯ ถูกลงลงครึ่งเสา หลังทราบข่าวการจากไปของ “บุชผู้พ่อ” นายจอร์จ เฮช ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีคนที่ 41 ของสหรัฐฯ ซึ่งเสียชีวิตที่บ้านพักในเมืองฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (30 พ.ย. 2561) ด้วยวัย 94 ปี
ในความทรงจำของผม เมื่อพูดถึงบุชผู้พ่อ ผมจะนึกถึง การสิ้นสุดของ “สงครามเย็น (Cold War)” และการอุบัติขึ้นของ “สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War)”
“สงครามอ่าว” อุบัติขึ้นในช่วงปี 2533 ในช่วงที่ผมอยู่ในวัยเรียนและพอจะรู้ความแล้ว สงครามอ่าวถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่นำมาสู่ความล่มสลายของอาณาจักรภายใต้การควบคุมของ ซัดดัม ฮุสเซน และเติมเชื้อไฟให้เกิดความปั่นป่วน สับสนอลหม่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง และภายในประเทศอิรักมาจนถึงทุกวันนี้
ในเชิงประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชน “สงครามอ่าว” ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแวดวงสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การถ่ายทอดสดสงคราม” ผ่านจอโทรทัศน์ของซีเอ็นเอ็น ภาพการออกปฏิบัติการของเครื่องบิน การยิงขีปนาวุธ การทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายในอิรัก ปฏิบัติการทางการทหาร ฯลฯ อย่างชื่อของขีปนาวุธอย่างแพทริออตที่เข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้นหลายปี ก็มาโด่งดังและกลายเป็นที่รู้จักของชาวไทยในช่วงสงครามอ่าว ผ่านการถ่ายทอดสดของซีเอ็นเอ็นนี่เอง
มีคนเปรียบเทียบว่า การถ่ายทอดสดสงครามของซีเอ็นเอ็น (และสื่อตะวันตกอื่น ๆ ในเวลาต่อมา) ก็คือ การขายสงคราม (Selling the war ; รวมถึงขายอาวุธสงคราม) ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความสูญเสียผ่านหน้าจอโทรทัศน์ถ่ายทอดไปทั่วโลก
อีกหนึ่งเรื่องที่ผมนึกถึง เมื่อเอ่ยถึง “บุชผู้พ่อ” นอกเหนือจากการเป็นบิดาของ “บุชคนลูก” นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีคนที่ 43 ของสหรัฐฯ แล้วก็คือ บทบาทสำคัญในการอยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ในสมัยรัฐบาลนายริชาร์ด นิกสัน ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก และส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนปักกิ่งในอีกหลายปีต่อมาอีกด้วย
“ผมจำได้ว่าคิสซิงเจอร์ไปปากีสถานมีกำหนดการเยือนอยู่ 4 วันหรือ 5 วัน พอไปถึงวันแรกเขาก็เตี๊ยมกันว่า ให้จัดเลี้ยงงานใหญ่ ระหว่างงาน คิสซิงเจอร์คงจะได้รับรางวัลออสการ์สักวันหนึ่ง ก็คือว่า ทำว่าท้องเสียอย่างรุนแรงต้องกลับไปอยู่โฮเตล และ cancel (ยกเลิก) กิจกรรมต่อไปทั้ง / วัน บอกว่าทานอาหารที่เป็นพิษไปไหนไม่ได้ ที่ไหนได้คืนนั้นดึก ๆ ก็วิ่งไปสนามบินแล้วก็บินจากปากีสถานไปจีน เขาต้องทำลึกลับมาก ทำไปโดยรู้แต่เพียงประธานาธิบดีของอเมริกาเท่านั้น ตอนนั้นคิสซิงเจอร์เป็น National Security Advisor (ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง) รัฐมนตรีต่างประเทศก็ไม่รู้ คนที่เขาเอาไปด้วยก็มีคนหรือสองคนเท่านั้น เข้าใจว่าวินสตัน ลอร์ด (Winston Lord) คนหนึ่งกับใครอีกคนหนึ่งผมจำไม่ได้ และเมื่อออกมาแล้วก็เงียบ ผมยังจำได้ปีนั้นเอง จอร์จ บุช (George Bush) เป็นเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้แทนถาวร ซึ่งผมก็เป็นอยู่ และตัวแทนของสหราชอาณาจักร คือของอังกฤษก็เป็นเพื่อนผม ชื่อ คอลิน โครว์ (Sir Colin Crowe) หลังจากนั้นมีข่าวว่าเราเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ช่วยต่อต้านจีนผืนแผ่นดินใหญ่ ตามคำสั่งรัฐบาลเราต้องสนับสนุนให้ข้อมติที่จะให้ไต้หวันเป็นตัวแทนของคนจีนต่อไปในสหประชาชาติ ซึ่งเราทำมาทุกปี สิบกว่าปี หรือยี่สิบปี พันธมิตรเราก็มี อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ ฟิลิปปินส์ ไทย ในการประชุมสหประชาชาติปีนั้น (1971) คณะผู้แทนทั้งหลายก็ร่วมมือกันอีก ยกร่างข้อมติเตรียมเสนอหาเสียงในสหประชาชาติ ระหว่าที่ทำกันอยู่ก็มีข่าวออกมาว่า คิสซิงเจอร์ไปจีนแล้ว มีการติดต่อกันแล้ว วันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาผมก็เห็น ตามปกติการที่จะได้เห็นตัวเองในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ New York Times มันไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะเรามาจากประเทศเล็ก ปรากกว่าวันนั้น หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ New York Times รูปขนาดนี้นะครับ มีผม จอร์จ บุช และคอลิน โครว์ กำลังยืนอยู่ร่วมกัน อาจจะคุยกันเรื่องอะไรก็แล้วแต่ อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องจีนเลย แต่ใน caption (หัวข่าว) ก็เขียนว่า 3 ประเทศที่สนับสนุนไต้หวันกำลังมีความกังวลมาก เพราะคิสซิงเจอร์ไปปักกิ่ง เขาก็เขียนไปเป็นตุเป็นตะก็สนุกดีไม่เป็นไร แต่ก็เป็นความจริง ...” คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเคยเล่าเบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งสำคัญนั้นเอาไว้ (คลิกอ่าน >> ปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน: ครบรอบ 25 ปี)
นอกจากนี้ในเวลาต่อมา จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับ จีนแผ่นดินใหญ่ อย่างเป็นทางการหลังการไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการของ นายริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐฯ และมีโอกาสได้พบกับทั้งประธานเหมา เจ๋อตง และนายโจว เอินไหล ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2515 (ค.ศ.1972) นายบุช ยังเคยดำรงตำแหน่ง Head of U.S. Liaison Office in China คนที่ 2 ในช่วง ปี 2517-2518 (ค.ศ.1974-1975) ซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกับ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งในปัจจุบันอีกด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ถือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจจากสองซีกโลกที่มีความซับซ้อน และความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ล้วนส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ ในโลก ไม่มากก็น้อย
ยกตัวอย่างเช่น ในวันเดียวกับที่ผมเดินทางไปถึงสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้มีโอกาสพบปะและเจรจากับ นายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน บนโต๊ะอาหารเย็น ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ จี-20 ที่กรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการสงบศึกสงครามการค้า (Trade War) ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจ การค้า และตลาดเงิน-ตลาดทุนของไทย และทั่วโลก ในเบื้องต้นเป็นเวลา 90 วัน
คลิกอ่าน >> ‘สหรัฐฯ-จีน’ประกาศสงบศึกการค้า ระงับขึ้นภาษีศุลกากรใหม่ๆ เข้าใส่กันเป็นเวลา 90 วัน ทำเนียบขาวแถลงหลัง‘ทรัมป์-สี’หารือบนโต๊ะดินเนอร์
กลับมาที่ วอชิงตัน ดี.ซี ธงชาติสหรัฐฯ ทั่วเมือง รวมถึงผืนที่โบกสะบัดอยู่บนหลังคาทำเนียบขาว และอาคารรัฐสภา (U.S. Capitol) ก็ถูกลดลงครึ่งเสา เพื่อไว้อาลัยให้แก่การจากไปของอดีตประธานาธิบดีบุช
นอกจากนี้ ในวันพุธที่ 5 ธันวาคม ประธานาธิบดีทรัมป์ยังประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษ วันไว้อาลัยแห่งชาติ (National Day of Mourning) ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการประกอบ “พิธีศพอย่างเป็นทางการ (State Funeral)” อีกด้วย โดยร่างของอดีตประธานาธิบดีบุชจะถูกนำขึ้นแอร์ฟอร์ซวัน จากเมืองฮุสตันมายังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อประกอบพิธีทางการ พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เคารพศพ ก่อนจะถูกส่งกลับไปยังบ้านเกิดที่เท็กซัสเพื่อทำพิธีฝังต่อไป
ถ้าเป็นไปได้และโอกาสเอื้ออำนวย ผมจะนำบรรยากาศพิธีสำคัญนี้มาบอกเล่าให้ฟังครับ
อ่านเพิ่มเติม
>> ย้อนตำนาน “จอร์จ บุช” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ รบกับ “ซัดดัม ฮุสเซน” ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย <<
>> InClips:คำพูดสุดท้ายของอดีตปธน.บุชคนพ่อถึงลูกชาย “บุช ผู้ลูก” เคยให้สัมภาษณ์ “คำนวณพลาดในสงครามอ่าวรอบแรก” ควีนเอลิซาเบธร่วมไว้อาลัย <<