xs
xsm
sm
md
lg

Review : รถด่วน "กรุงเทพ - บ้านพลูตาหลวง" 3 ชั่วโมงนั่งรถไฟ สู่ชายทะเลตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง




การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดการเดินรถเร็วขบวนที่ 997/998 กรุงเทพ – บ้านพลูตาหลวง - กรุงเทพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด

โดยทดลองเดินรถทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ถึง 30 กันยายน 2561 ออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 06.45 น. เที่ยวกลับออกจากสถานีบ้านพลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เวลา 15.50 น.

ผู้เขียนได้ติดตามความเคลื่อนไหวการเปิดเดินรถเส้นทางนี้อย่างต่อเนื่อง และได้ทดลองใช้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์ ไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา จึงขอแชร์ประสบการณ์การเดินทางในครั้งนี้มาให้รับทราบกัน

- เริ่มต้นซื้อตั๋ว

วันที่ 9 มีนาคม 2561 เป็นวันแรกที่เปิดจำหน่ายตั๋วรถไฟขบวนนี้ ผู้เขียนไม่เคยทดลองซื้อตั๋วรถไฟผ่านโทรศัพท์มาก่อน นี่เป็นประสบการณ์จองตั๋ว ผ่านสายด่วนการรถไฟฯ 1690 ครั้งแรกในชีวิต

- กด 1 กด 0

- บอกปลายทาง วันที่เดินทาง

- เจ้าหน้าที่เช็กที่นั่งว่าง ถามว่าไปกี่ที่ (ในขั้นตอนนี้ อยากได้ที่นั่งริมหน้าต่างหรือริมทางเดินก็บอกกับปลายสายได้)

- เจ้าหน้าที่ถามเลขที่บัตรประชาชน สะกดชื่อ นามสกุล

- เจ้าหน้าที่ถามสถานีรถไฟที่สะดวกไปรับตั๋ว (ไม่จำเป็นต้องสถานีเดียวกับต้นทาง จะไปขึ้นหัวลำโพง แต่สถานีรถไฟใกล้ที่ทำงาน คือสถานีรถไฟธนบุรี ก็รับตั๋วที่สถานีรถไฟธนบุรีได้)

- เจ้าหน้าที่บอกรายละเอียด วัน เวลาเดินทาง หมายเลขที่นั่ง บอกรหัสรับตั๋ว 9 หลัก ให้ไปรับตั๋ว และจ่ายเงินสด ได้ภายในวันถัดไป ตามเวลาที่กำหนด (วันดังกล่าวจองเมื่อเวลา 08.45 ให้รับตั๋วก่อนวันถัดไป เวลา 19.30 น.)

หลังจดรายละเอียด และรหัสรับตั๋ว 9 หลักใส่กระดาษโน้ต ช่วงพักเที่ยงจึงเดินทางไปยังสถานีรถไฟธนบุรี เอากระดาษโน้ตพร้อมบัตรประชาชนไปให้ดู ก่อนชำระเงินค่าตั๋วรถไฟ 170 บาท เจ้าหน้าที่พิมพ์ตั๋วรถไฟส่งมาให้

สำคัญมาก ... หน้าตั๋วประทับตรา “ตรวจสอบถูกต้องแล้ว ตั๋วรถไฟสูญหายไม่รับผิดชอบ” เพราะฉะนั้นหลังได้รับตั๋วรถไฟแล้ว เก็บรักษาไว้ให้ดี อย่าให้หายไปไหน เพราะราคา 170 บาท ไม่ใช่เล่นๆ

แต่ตามระเบียบการรถไฟฯ ถ้าตั๋วรถไฟหาย แนะนำให้ไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วนำใบแจ้งความพร้อมบัตรประชาชนตัวจริง หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ มาแจ้งที่เคาน์เตอร์ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

หากตรวจสอบแล้วชื่อ นามสกุลถูกต้อง จะออกเอกสารแทนตั๋วที่สูญหายให้สามารถใช้เดินทางได้

- วันเดินทาง

ผู้เขียนเดินทางมาถึงสถานีรถไฟหัวลำโพงแต่เช้ามืด เนื่องจากร้านอาหาร ร้านของกินส่วนใหญ่ยังไม่เปิด วิธีเดียวที่พอจะฝากท้องได้ คือเดินออกไปร้านสะดวกซื้อฝั่งตรงข้ามสถานี

ในวันนั้นมีการแถลงข่าวเปิดตัวเที่ยวปฐมฤกษ์ ใช้ชานชาลาหมายเลข 5 เป็นที่จอด พบกับน้องนักข่าวต่างสำนัก (ประชาชาติธุรกิจ) เดินทางไปด้วย แต่ผู้เขียนไปในนามส่วนตัว และซื้อตั๋วรถไฟ เพื่อตั้งใจจะนำมารีวิวตรงนี้

หลังจากที่ขบวนรถธรรมดาที่ 275 กรุงเทพ – อรัญประเทศ ออกจากสถานีเวลา 06.05 น. (ล่าช้า 10 นาที) เราจึงได้เห็นขบวนรถสปรินเตอร์ ขบวนที่ 997/998 พระเอกของเรา เข้าสู่สถานีเวลา 06.11 น.

เมื่อขึ้นไปบนรถ จะเห็นที่นั่งแบ่งออกเป็นฝั่งละ 2 ที่นั่ง ให้เรานั่งตามเลขคัน (ที่ติดไว้หน้าขบวนรถ) และเลขที่นั่ง ตามที่ระบุไว้ในตั๋ว เช่น คันที่ 1 ที่นั่งหมายเลข 10 ก็ได้ที่นั่งฝั่งขวา

จากประสบการณ์ที่เคยนั่งรถธรรมดา ขบวนที่ 283 เมื่อหลายปีก่อน ถ้าเราได้ที่นั่งฝั่งขวา แดดจะส่องตั้งแต่สถานีกรุงเทพ ถึงสถานีมักกะสัน แต่ถ้าได้ที่นั่งฝั่งซ้าย แดดจะส่องตั้งแต่สถานีชุมทางฉะเชิงเทราไปจนถึงปลายทาง

เวลา 06.45 น. รถไฟออกจากสถานีกรุงเทพ เห็นบรรยากาศแยกยมราชเช้าวันเสาร์ ก่อนจะเลี้ยวขวาไปตามทางรถไฟสายตะวันออก ทยอยรับผู้โดยสารที่สถานีมักกะสัน หัวหมาก ลาดกระบัง และหัวตะเข้

ทีแรกออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ผู้โดยสารคันที่ 1 ยังไม่เต็มขบวน ยังหวั่นใจแทนการรถไฟฯ อยู่เลยว่าจะไปรอดไหม ปรากฎว่าคนค่อยๆ ทยอยขึ้นที่หัวหมาก ลาดกระบัง แล้วเต็มขบวนที่หัวตะเข้ เห็นแล้วน่าชื่นใจยิ่งนัก

พีอาร์การรถไฟฯ เปิดเผยกับเราระหว่างขบวนรถออกจากสถานี ว่า ในวันนั้นมีผู้โดยสารที่จองตั๋วรถไฟ 128 ที่นั่ง ไม่นับรวมสื่อมวลชน ที่การรถไฟฯ จัดที่นั่งขบวนที่ 3 ท้ายสุดไว้ต่างหาก

สอบถามจุดหมายปลายทางแต่ละคน พบว่าส่วนใหญ่เลือกที่จะไปเที่ยวตลาดน้ำสี่ภาค พัทยา แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งลงแค่สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา เพราะอยากสัมผัสการเดินทางด้วยรถไฟปรับอากาศ ด้วยค่าโดยสาร 80 บาท

ขบวนปฐมฤกษ์วันนั้น เจ้าหน้าที่ได้แจกอาหารว่างและน้ำดื่ม แต่ในการเดินรถจริงๆ จะไม่มีอาหารว่างและน้ำดื่มบริการ เพราะฉะนั้น ควรซื้อมาจากข้างนอกก่อนขึ้นรถ และควรช่วยกันรักษาความสะอาดด้วย

ระหว่างออกจากสถานีรถไฟหัวตะเข้ จากเมืองใหญ่ที่แสนวุ่นวาย บ้านจัดสรรเต็มไปหมดตลอดเส้นทาง ถูกแทนที่ด้วยบรรยากาศของทุ่งนาเขียวขจีสะท้อนกับแสงแดดยามเช้า เจ้าหน้าที่ทยอยตรวจตั๋วรถไฟทีละที่นั่งจนครบ

- สู่ดินแดนบูรพา

08.01 น. ขบวนรถจอดที่สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา แม้จะมีผู้โดยสารบางส่วนลงจากขบวนรถ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวอีกส่วนหนึ่งได้จองตั๋ว และรอขึ้นรถอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งจากสถานีนี้ ไปยังสถานีบ้านพลูตาหลวง คิดค่าโดยสารเพียง 90 บาทเท่านั้น

ออกจากสถานี ทางรถไฟจะค่อยๆ ยกระดับขึ้นสะพาน ตีโค้งขวาเป็นทางยาว เห็นตึกรามบ้านช่องตัวเมืองฉะเชิงเทราทางขวามือ ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำบางปะกง ทางรถไฟจะยกระดับข้ามถนน แสงแดดจะเริ่มส่องมาทางฝั่งซ้ายของขบวนรถ

เมื่อผ่านสถานีรถไฟพานทอง จ.ชลบุรี จะเริ่มเห็นโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่จำนวนมาก ก่อนจะลอดใต้มอเตอร์เวย์ กรุงเทพ - ชลบุรี และขนานกับถนนบายพาส เลี่ยงเมืองชลบุรี

08.36 น. ขบวนรถจอดที่สถานีรถไฟชลบุรี แวะรับผู้โดยสารสักครู่ จึงออกจากสถานี สักพักมองไปทางด้านซ้ายมือจะพบกับไอเท็มลับของทางรถไฟสายนี้ คือ “แกรนด์แคนยอน คีรี” หรือ เหมืองหินที่คีรีนคร ต.ห้วยกะปิ อ.เมืองชลบุรี

ที่แห่งนี้เป็นเหวลึกที่เกิดจากการทำเหมือง ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งร้าง แม้การรถไฟฯ จะกั้นรั้วไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป แต่หากนั่งบนรถไฟขบวนนี้ แล้วมองออกไป เราจะเห็นเหวลึกจุดนี้เพียงเสี้ยววินาทีที่งดงาม แทบอยากจะหยุดเวลาไว้

รถไฟจะผ่านสถานีบางพระ เริ่มขึ้นเขาที่เขาพระบาท ก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ศรีราชา ผ่านค่ายลูกเสือวชิราวุธ ทางรถไฟจะค่อยๆ ขึ้นเนิน หากมองไปทางฝั่งขวาจะเห็นมุมสูงของตัวอำเภอศรีราชาสลับกับต้นไม้เป็นหย่อมๆ

08.55 น. ขบวนรถจอดที่สถานีชุมทางศรีราชา แวะรับผู้โดยสารสักครู่ จึงออกจากสถานี ช่วงนี้ทางรถไฟจะแยกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่งตรงไปมุ่งหน้าพัทยา อีกทางหนึ่งไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เฉพาะขบวนรถขนส่งสินค้า

09.22 น. ขบวนรถจอดที่สถานีพัทยา ที่นั่นจะคึกคักเป็นพิเศษเพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากลงที่สถานีนี้ ขบวนปฐมฤกษ์วันนั้นหยุดรถไป 10 นาที เพราะมีการจัดพิธีต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงมีเวลาลงไปถ่ายรูปขบวนรถไฟเป็นที่ระลึก



09.40 น. ขบวนรถจอดที่ที่หยุดรถตลาดน้ำสี่ภาค ขบวนปฐมฤกษ์วันนั้นหยุดรถไป 10 นาที เพราะจัดพิธีต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน ซึ่งสื่อมวลชนจำนวนมากที่มากับการรถไฟฯ จะลงที่สถานีนี้เพื่อไปเที่ยวตามโปรแกรม

รถไฟออกจากที่หยุดรถตลาดน้ำสี่ภาค ผู้โดยสารน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ก่อนจะแวะส่งผู้โดยสารที่สถานีญาณสังวราราม ต่อด้วยที่หยุดรถสวนนงนุช เพราะส่วนใหญ่ไปเที่ยวตลาดน้ำสี่ภาคก่อน แล้วถึงไปแหล่งท่องเที่ยวอื่น

10.07 น. ขบวนรถจอดที่สถานีบ้านพลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง ที่นั่นคึกคักไปด้วยพิธีต้อนรับนักท่องเที่ยว จากชาวตำบลพลูตาหลวง มีขบวนกลองยาวพร้อมพวงมาลัยและขนมหวาน



โดยสรุปแล้ว แม้ว่าจะล่าช้าไปเกือบ 20 นาที เพราะมีพิธีต้อนรับขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ที่พัทยาและตลาดน้ำสี่ภาค แต่ถ้าวัดกันโดยรวมถือว่าตรงเวลาพอสมควร อาจเป็นเพราะไม่มีขบวนรถอื่นเหมือนเส้นทางรถไฟหลัก

จากสถานีบ้านพลูตาหลวง ขบวนปฐมฤกษ์วันนั้นมีรถสองแถวจอดอยู่ที่หน้าสถานี เพจ “ทีมนั่งรถไฟ กับนายแฮมมึน” ระบุว่า ถ้าเหมาคัน 1,200 บาทต่อวัน นั่งได้ 10 คน ไปวัดช่องแสมสาร วิหารหลวงพ่อดำ เรือหลวงสิมิลัน และหาดนางรอง

แต่ถ้าเดินทางเอง ออกจากสถานีให้เดินไปถนนใหญ่ ข้ามถนน แล้วรอรถสองแถวสีเหลือง ไปแยกบ้าน กม. 10 (อู่ตะเภา) และตัวอำเภอสัตหีบ ค่ารถประมาณ 20 บาทต่อคน แล้วหารถรับจ้างในตลาดได้เลย

- ความคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

หลังจากที่การเดินทางผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อมีคนพูดถึง แล้วผู้เขียนเล่าให้ฟัง ก็มีเสียงสะท้อนแตกต่างกันไป

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เป็นคนสัตหีบโดยตรง บอกกับผู้เขียนว่า “คงวิ่งได้ไม่นาน เดี๋ยวก็เลิก”

เขาอธิบายว่า แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอสัตหีบ ส่วนใหญ่เป็นเขตทหาร ควบคุมโดยกองทัพเรือ แม้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่อาจจะมีข้อจำกัดบางประการ แตกต่างจากพัทยาที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายกว่า

ที่ผ่านมาก็เคยมีรถไฟนำเที่ยวจากกรุงเทพฯ มาที่สัตหีบเหมือนกัน แต่ก็ยกเลิกไป ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากเวลาที่นักท่องเที่ยวนั่งรถไฟถึงบ้านพลูตาหลวงแล้วจะไปไหนต่อ แล้วจะไปยังไง

หน้าสถานีมีรถสองแถวแบบเหมาก็จริง แต่ถ้าไม่ได้มาเป็นหมู่คณะที่พอจะหารค่ารถได้ ค่าเหมารถหลักพันบาทเพื่อแวะไปแต่ละสถานที่ เทียบกับขับรถจากกรุงเทพฯ มาเองแล้วพบว่าจะถูกกว่า

นอกจากนี้ หากเดินข้ามถนนใหญ่หน้าสถานี ไปรอรถสองแถวก็รอนาน หรือไม่ก็ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ชอบเที่ยวแบบลำบาก

โดยส่วนตัวเห็นว่า การกำหนดค่าโดยสารรถไฟ 170 บาท แล้วค่อยคิดค่าบริการนำเที่ยว หรือแพ็คเกจตามแหล่งท่องเที่ยวที่หลัง ถือว่ายุติธรรมดี เทียบกับสมัยก่อนที่จะเป็นเหมาจ่ายพร้อมโปรแกรมทัวร์สวนนงนุช ตลาดน้ำสี่ภาค 540 บาท

ข้อดีที่นั่งรถไฟปรับอากาศสปรินเตอร์ คือ ทำความเร็วได้สม่ำเสมอ และอากาศภายในขบวนรถไม่ร้อน ออกจากสถานีไม่รู้สึกเหนียวตัว เมื่อเทียบกับนั่งรถไฟธรรมดา ชั้น 3 แบบนั่งพัดลม ที่เหนียวตัวพร้อมกับกลิ่นสนิมติดมาด้วยทุกที

แต่ข้อที่อยากจะให้ปรับปรุง มีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ กระจกรถไฟเหมือนไม่ได้เช็ด ทำให้เวลาถ่ายภาพ ถ่ายคลิปวีดีโอมักมีคราบบนกระจก รวมทั้งพื้นห้องโดยสารที่ยังดูสกปรกเล็กน้อย หากทำความสะอาดก่อนนำมาให้บริการได้จะดีมาก

ถามว่าคุ้มค่าไหมกับค่าโดยสารที่จ่ายไป ส่วนตัวคิดว่าราคาสูสีกับรถตู้ แต่ถ้าเรื่องความปลอดภัยแล้วมากกว่ารถตู้แน่นอน เพราะวิ่งไปตามราง และมีทางรถไฟเฉพาะ

ก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า ระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ รถไฟขบวนนี้จะมีผลตอบรับจากนักเดินทางมากน้อยขนาดไหน และจะมีโอกาสขยับขยายจากรถไฟเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มาเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคตะวันออกได้อย่างไร.



กำลังโหลดความคิดเห็น