xs
xsm
sm
md
lg

ทางออก “หน้าที่สาม” ของผลคำพิพากษาคดีจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผลการพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อาจจะทำให้ผู้คนได้รับความผิดหวังกันไปบ้าง
โดยเฉพาะผู้ที่ติดตามรอลุ้นให้ “เวรกรรม” ตามกฎหมาย สนองต่อผู้สั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บล้มตาย ที่รอดมาได้ก็พิการไปตลอดชีวิต

โทษทัณฑ์ทางกฎหมายอาจจะเอาผิดไม่ได้ ด้วยศาลท่านว่าจำเลยไม่มีความผิดเพราะไม่เจตนา การใช้แก๊สน้ำตาแม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นสาเหตุสำคัญให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ แม้ตามรัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดเสียทีเดียว ด้วยสามารถอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ก็ไม่เคยมีกรณีใดที่อุทธรณ์สำเร็จมาก่อนเลย รวมถึงท่าทีของ “โจทก์” คือฝ่าย ป.ป.ช.ก็ยังกั๊กๆ ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่

จึงอาจจะต้องทำใจล่วงหน้า ว่าผลในทางคดีก็อาจจะเป็นอย่างนั้นไปนั่นแหละ

ก็คงต้องรอให้ “กฎแห่งกรรม” ที่เที่ยงแท้ยิ่งกว่ากฎหมายที่มนุษย์กำหนด ทำงานอีกครั้งเมื่อถึงเวลาก็แล้วกัน
อย่างไรก็ตาม ผลของคำพิพากษาในคดีนี้ ก็อาจจะทำให้ฝ่ายกองเชียร์เสื้อแดงต้อง “หุบปาก” ไปครึ่งหนึ่งในเรื่องที่ชอบกล่าวหาว่า “ศาลไม่ยุติธรรม” เสื้อแดงทำอะไรก็ผิด อีกฝ่ายทำอะไรก็ไม่ผิด
เพราะคดีนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ถ้าศาลท่านพิจารณาชั่งน้ำหนักแล้วมีความเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ท่านก็ไม่ลงโทษ

สำหรับคนเสื้อแดง คดีนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องลุ้นต้องให้กำลังใจอะไรมากนัก ไม่เหมือนคดีที่จะอ่านคำพิพากษากันในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม ที่จะมาถึงในอีกราว 3 สัปดาห์จากนี้

คดี “แม่ปู” กับความรับผิดในการทุจริตจำนำข้าวนั้นต่างหากที่เป็นของจริง

หลังจากที่ศาลฎีกายกคำร้องที่ฝ่ายจำเลยขอให้ส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้เรื่องกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว ก็เรียกว่าไม่มีอะไรมาขวางการชี้ขาดในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ได้อีกแล้ว

ก่อนจะถึงวันนั้น เรามาทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันหน่อย

ข้อหาที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหาสั่งฟ้องต่อศาล คือ ดำเนินนโยบายจำนำข้าว โดยไม่ยับยั้งความเสียหาย ไม่มีการปรับแก้หลักเกณฑ์ให้เกิดความรอบคอบ ทำให้ความเสียหาย ทั้งที่คำนวณเป็นเงินได้และไม่ได้ จึงถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1

ความผิดดังกล่าวได้แก่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น อัตราโทษที่ศาลจะลง หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีความผิด จึงเป็นไปได้ตั้งแต่ 1 ปีเป็นอย่างน้อย ถึงมากที่สุด 10 ปี อันนี้เป็นโทษสุทธิตามกฎหมาย ยังไม่คิดเรื่องการลดหย่อนต่างๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร

มีข้อสังเกตว่า ตามอัตราโทษดังกล่าว ความผิดข้อหานี้จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ศาล “อาจ” รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษให้ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากเป็นกรณีที่ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดย 5 ปีนี้คิดจากโทษสุทธิที่ศาลจะลงจริงๆ หลังจากหักเรื่องการลดโทษต่างๆ แล้ว

ดังนั้น “เลขที่ออก” ของผลคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาที่จะถึงนี้ นอกจากจะ“ออกหัว” ว่าเข้าคุก หรือ “ออกก้อย” ได้กลับบ้านแล้ว ก็ยังมีความเป็นไปได้ใน “หน้ากลาง” นี้ด้วย คือ “กลับบ้าน” แบบมีชนักติดหลัง คือ ศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดและลงโทษ แต่ให้รอการลงโทษไว้หรือรอการกำหนดโทษ ซึ่งผลของการต้องคำพิพากษาดังกล่าว ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ไปตลอดชีวิต หรืออย่างน้อยก็ภายใต้การบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (9) และ (10) ที่กำหนด “ลักษณะต้องห้าม” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้...

(9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ

(10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

เราคงมิบังอาจที่จะคาดเดาผลคำพิพากษา หรือก้าวล่วงดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาของบรรดาองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตัดสินคดีนี้

แต่หากใครสักคนจะใช้มุมมองการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์แล้ว ทางออกแบบครึ่งทาง คือกลับบ้านแบบมีชนักติดหลังนี้ อาจจะเป็นเลขออกที่ดีกว่าการ “ปล่อยกลับบ้าน” กันเฉยๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการ “ฟอกตัว” ให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์กลายเป็นผู้บริสุทธิ์และอาจจะส่งผลถึงคดียึดทรัพย์เพื่อชดใช้ความเสียหายจากคดีจำนำข้าวซึ่งเป็นเรื่องละเมิดทางการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งต่อสู้กันอยู่ในศาลปกครอง

หรือการ “ส่งเข้าคุก” ซึ่งหากเจ้าตัวเกิดทำใจกล้ายอมรับคำพิพากษาหันหน้าเข้าเรือนจำ ก็จะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองในหมู่คนเสื้อแดง แถมดีไม่ดียังอาจจะถูกมือดีเอาไป “ชู” ขยายประเด็นในระดับสากลโดยเอาไปเทียบกับผู้นำทางการเมืองต่างประเทศที่ถูก “ภัยการเมือง” ตัดสินจำคุกหรือกักบริเวณกันแบบผิดฝาผิดตัว กลายเป็นวีรสตรีหรือสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้กันเข้าไปอีก

แต่ถ้าคำพิพากษาออกมาในหน้าที่ให้มีความผิดตามข้อกล่าวหา แต่เรื่องโทษรอไว้ไม่ต้องไปติดคุกในเรือนจำ ก็เท่ากับเป็นการออกมาฟันธงว่า การจำนำข้าวนั้นมีการทุจริต มีความผิดเกิดขึ้น หากศาลนั้นยังปรานีจำเลยอยู่ จึงไม่ให้รับโทษจริง แต่กระนั้น ในเรื่องคดีละเมิดหรือการยึดทรัพย์นั้นก็ต้องดำเนินคดีกันต่อไป โดยมีคำพิพากษาในคดีอาญาเป็นเครื่องรับรองว่าเกิด
การทุจริตอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติจริง

รวมถึงการ “ปิดฉาก” ยุติอนาคตของอดีตนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทยออกจากวงการเมืองระดับชาติตลอดกาลด้วย ตามผลของรัฐธรรมนูญที่อธิบายไปข้างต้นแล้ว

จึงเห็นว่าถ้ามองอย่างกลยุทธ์แล้ว ทางออกแบบ “ผิดจริง แต่รอลงอาญา” นั้นก็เป็นวิธีจบที่ถือว่า “ลงได้สวย” ของมหากาพย์คดีจำนำข้าวนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น