เป็นเรื่องปกติที่รัฐวิสาหกิจ เฉกเช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
ตั้งแต่เรื่องการส่งพัสดุที่เมื่อถึงปลายทางมักจะแตกหัก ชำรุด เสียหาย เพราะพนักงานใช้วิธีโยนสิ่งของอย่างไม่ระมัดระวัง ไปจนถึงเรื่องของพัสดุสูญหายระหว่างการจัดส่ง โดยเฉพาะทรัพย์สินมีค่า หรือสินค้าราคาแพง
ที่ผ่านมามีการรณรงค์บรรจุสิ่งของอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสียหาย รวมทั้งปรับปรุงระบบการรับฝาก การส่งต่อ การนำจ่ายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ลดเสียงด่าจากลูกค้าไปบ้าง
อีกทั้งเมื่อธุรกิจขนส่งสินค้ากำลังมาแรง มีผู้ประกอบการรายใหญ่ลงมาเล่นหลายราย ไปรษณีย์ก็ต้องต้องปรับตัวไม่น้อย เช่น เปิดบริการถึง 2 ทุ่มในที่ทำการบางแห่ง
ปัญหาหนึ่งที่แก้ไม่ตกก็คือ “การดองจดหมาย” ซึ่งหมายถึงการส่งจดหมายแบบธรรมดา ไม่ได้ลงทะเบียน ไม่ได้ใช้บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส)
พบว่าบางพื้นที่ โดยเฉพาะต่างจังหวัดนั้นใช้วิธีการดองจดหมายแล้วรวบรวมส่งมาเลยทีเดียว ทำให้กระทบธุรกิจเสียหาย หรือเสียโอกาสบางอย่างที่อาจจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้รับจดหมายเลยก็ได้
โดยปกติแล้วที่กรุงเทพฯ มักจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบเรื่องการดองจดหมายเท่าไหร่
แต่จะเกิดขึ้นอย่างมากในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามพื้นที่ชนบท พบว่าที่ทำการไปรษณีย์หลายแห่ง ใช้วิธีดองจดหมายธรรมดารวมกันเอาไว้ก่อน
เมื่อได้จำนวนหนึ่ง เช่น ประมาณ 10 ฉบับ ค่อยมัดรวมยางแล้วส่งถึงบ้านทีเดียว
ถ้าเป็นจดหมายที่เขียนหาพ่อแม่ หาแฟน อย่างดีก็แค่เสียความรู้สึก
แต่ถ้าเป็นจดหมายสำคัญอย่างเช่น เอกสารทางราชการ ใบแจ้งยอดบัตรเครดิต ค่างวดรถ ค่าโทรศัพท์ หรือเอกสารสำคัญที่ใช้ในการประกอบธุรกรรมต่าง ๆ
แต่ละฉบับเดตไลน์ไม่เหมือนกัน เจอแบบนั้นทำให้เสียโอกาส และเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
ที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ ผู้ปกครองชาว อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ร้องเรียนกับนักข่าวภูธรในพื้นที่ พร้อมกับจดหมายจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่า ลูกชายวัย 19 ปี พลาดโอกาสยื่นขอรับทุนเรียนดีในชนบท
เพราะจดหมายมาถึงบ้านหลังหมดเขตไปแล้ว ไม่สามารถยื่นขอใช้สิทธิ์รับทุนได้อีกเพราะผิดระเบียบ
พอเป็นข่าวใหญ่โต ผู้คนบนโลกโซเชียลต่างรุมสาปแช่งไปรษณีย์ไทยกันเป็นแถว ที่สุดแล้วหัวหน้าไปรษณีย์บุรีรัมย์ และไปรษณีย์อุบลราชธานี ต้องพาผู้ปกครองและลูกชายไปยื่นเอกสารที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้วยตัวเอง
นับว่าโชคดีที่ทางมหาวิทยาลัยได้พิจารณารับเรื่องเพราะเหตุสุดวิสัย
ยังนึกสงสัยอยู่ว่า หากผู้ปกครองไม่ได้ร้องเรียนกับนักข่าวในวันนั้น ในทางกลับกัน ปล่อยให้เรื่องผ่านไป เพราะคิดว่าจดหมายมาถึงช้า หมดเขตไปแล้วคงไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไร
ไปรษณีย์ไทยก็คงไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวว่า การส่งจดหมายธรรมดาล่าช้า ทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งต้องพลาดโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย
จริงๆ ยังมีอีกหลายพื้นที่ ซึ่งมีคนร้องเรียนบนโลกโซเชียล แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โต เพราะแค่ผู้คนบนโลกโซเชียลด่าตามประสานักเลงคีย์บอร์ด แต่ไม่มีใครลงมารับเรื่อง
บางพื้นที่ได้รับจดหมายล่าช้าเป็นเดือน มีปัญหาส่งจดหมายผิดบ้าน แต่ที่น่าสังเกตก็คือ บางพื้นที่ไม่ได้รับจดหมายเลยแม้แต่ฉบับเดียว นับตั้งแต่ต้นปี 2560 เลยก็มี
ขอเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว ที่บ้านอยู่จังหวัดติดกับกรุงเทพมหานคร ขอใช้คำว่า “จังหวัดสารขัณฑ์” ก็แล้วกันเพราะไม่อยากเกิดเรื่องราวใหญ่โต
ปกติหากเป็นจดหมายแบบด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) มักจะไม่ค่อยมีปัญหาล่าช้า ผู้นำจ่ายจะเป็นพนักงานคนหนึ่ง ที่บ้านมักจะชมอยู่บ่อยครั้งว่านิสัยดีมาก
แต่สำหรับจดหมายธรรมดา ซึ่งผู้นำจ่ายจะเป็นอีกคนหนึ่ง มักจะพบเห็นจดหมายส่งถึงบ้านเดือนละครั้ง สองครั้ง หนักที่สุดคือสองเดือนครั้งก็มี
ขึ้นอยู่กับวันหยุดเทศกาล หรือสภาพอากาศ ฝนตก น้ำท่วมหมู่บ้าน มักจะไม่ค่อยได้มีจดหมายอะไรเข้ามา กระทั่งวันดีคืนดีก็โผล่มาเป็นสิบฉบับพร้อมกับรัดหนังยางไว้รวมกัน
ที่ผ่านมามักจะพลาดโอกาสได้รับจดหมายสำคัญอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในช่วงที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องใช้หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร
ปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ก็ยังไม่เห็น
ต้องไหว้วานขอร้องให้เพื่อนที่ทำงานธนาคารแห่งนั้น ช่วยคัดสำเนาหนังสือส่งมาให้ทางอีเมล ถึงได้รู้ยอดเงินดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งปีไปยื่นภาษี
หรือเมื่อไม่กี่เดือนก่อน สมัครบัตรเครดิตอยู่ใบหนึ่ง หลังจากอนุมัติได้ไม่นาน บัตรถูกส่งมาถึงบ้านเรียบร้อยแล้ว
แต่ปัญหาคือ ซองรหัสบัตรเครดิตยังไม่มา ไม่สามารถใช้เบิกถอนเงินสดได้
พยายามรอคอยจนผ่านไป 3 เดือน โทร. ถามคอลล์เซ็นเตอร์ แจ้งว่าส่งไปให้นานแล้ว
ที่สุดทางผู้ออกบัตรจึงส่งรหัสบัตรมาให้ใหม่ แล้วพบว่าส่งมาให้ผ่านทางอีเอ็มเอสมาให้เลย มาถึงรวดเร็วเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น
ที่น่าเคืองที่สุดก็คือ ช่วงหนึ่งมีสโตร์ในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งเปิดใหม่ ส่งจดหมายมาให้ที่บ้าน พร้อมคูปองส่วนลดรวมกันแล้วน่าจะมูลค่านับพันบาท
พบว่าสโตร์ดังกล่าวเปิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม โดยสัญชาตญาณน่าจะส่งจดหมายก่อนหน้านั้น
คูปองหมดอายุตั้งแต่ 31 มีนาคม แต่จดหมายเพิ่งมาถึงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม เลยเวลากว่า 1 เดือน
ทีแรกว่าจะโกรธกับพฤติกรรมของไปรษณีย์ที่นี่ ดองจดหมายแล้วรวบรวมส่งมาให้เดือนละครั้ง ช้าสุดสองเดือนครั้ง แต่ก็เฉยๆ วางอุเบกขาไว้
แต่เมื่อมาอ่านข่าวน้องที่พลาดโอกาสยื่นขอทุนเพราะไปรษณีย์มาส่งล่าช้า ความรู้สึกแรกในใจก็คือปรี๊ดแตก
เดี๋ยวนี้ไปรษณีย์ไทยทำงานกันแย่แบบนี้แล้วเหรอ ถึงขั้นตัดอนาคตเด็กนี่ร้ายแรงไม่ใช่น้อย ๆ
เคยคิดว่า น่าจะแก้ไขพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 ที่ใช้มานานกว่า 83 ปี เปิดเสรีให้เอกชนเข้ามาลงทุนธุรกิจไปรษณีย์แบบจริงจัง ประชาชนจะได้มีทางเลือกมากขึ้น
ยิ่งมีผู้ประกอบการมากขึ้น การแข่งขันด้านราคาค่าบริการก็มากขึ้น ไปรษณีย์ไทยก็ต้องปรับตัวหากไม่อยากให้เอกชนชิงส่วนแบ่งรายได้
แบบนี้ประชาชนได้ประโยชน์จริง ๆ
ทุกวันนี้เมื่อรู้ว่าจดหมายจะมาถึงล่าช้าขนาดนี้ ส่วนหนึ่งใช้วิธีให้ส่งเอกสารจำพวกใบแจ้งยอดค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าบัตรเครดิต ไปยังที่ทำงาน เพราะจดหมายในกรุงเทพฯ จะถึงมือเร็วกว่า
หากมีคนส่งพัสดุหรือเอกสารผ่านอีเอ็มเอส ก็ต้องคอยหมั่นเข้าระบบ Track & Trace บ่อยครั้งราวกับคนโรคจิต เช็กรหัส 13 หลักว่าพัสดุอีเอ็มเอสมาถึงไหนแล้ว บางครั้งยังเห็นว่าส่งไปผิดจังหวัด ล่าช้าไปอีก 1 วันก็มี
อีกส่วนหนึ่ง ใช้วิธีคอยตรวจสอบยอดค่าใช้บริการรายเดือน หรือยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์
ยิ่งมีช่องทางชำระผ่านบัตรเครดิต หรือบัญชีธนาคาร โดยตัดยอดค้างชำระทันทีก็ยิ่งสบาย
แทนที่จะชำระผ่านเคาน์เตอร์ ที่บิลบางแห่งต้องรอ 1-2 วันทำการถึงจะตัดยอด แถมเสียค่าบริการ 10-15 บาท แต่ถ้าผ่านแอปพลิเคชั่นจะจ่ายฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม
ที่ผ่านมา ธนาคาร ผู้ออกบัตรเครดิต หรือค่ายมือถือแต่ละแห่ง พยายามให้ลูกค้าสมัคร ใบแจ้งยอดอิเล็กทรอนิกส์ (E-Statement) โดยส่งผ่านอีเมลเป็นประจำทุกเดือน โดยออกโปรโมชั่นจูงใจต่าง ๆ มากมาย
ชูข้อดีคือไม่ต้องรอไปรษณีย์ ไม่ต้องกังวลกับกองเอกสาร แต่ส่งให้เป็นไฟล์ PDF ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย สามารถดูรายละเอียด และตรวจสอบยอดเงินต่าง ๆ ได้เหมือนกับใบแจ้งยอดของจริง
แต่โดยส่วนตัวที่ไม่สมัคร เพราะ ...
หนึ่ง ปกติเวลาชำระค่าบริการต่าง ๆ ผ่านบัตรเครดิต หรือหักจากบัญชีธนาคารผ่านช่องทางออนไลน์ ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษี ก็จะส่งทางไปรษณีย์อยู่ดี ไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนอย่างแท้จริงเท่าไหร่
ที่น่าอนาถก็คือ ค่ายมือถือ หรือธนาคารบางแห่ง ไม่ได้มาแบบใส่ซองหน้าต่าง แต่มาแบบแกะตามรอยปรุฉบับเดียวโดด ๆ เพื่อลดต้นทุนค่าซอง พบว่าแกะยากแกะเย็น จนเอกสารขาดวิ่นไปคนละทิศทาง
ตรงกันข้าม เมื่อรับใบแจ้งยอดทางไปรษณีย์ หากชำระค่าบริการผ่านแอปพลิเคชั่น หรือผ่านช่องทางออนไลน์ ในซองเดียวกันก็ต้องมีใบเสร็จรับเงินแนบมาอยู่ดี
สอง ใบแจ้งยอดทางไปรษณีย์ แม้จะทำให้ดูรกกับกองเอกสาร แต่ก็ยังตรวจสอบแบบเห็นด้วยตาเปล่า จับต้องได้ ถ้ากองเอกสารรก อย่างดีก็แค่ทำลายเอกสารนั้นแล้วเอาไปทิ้ง
เทียบกับใบแจ้งยอดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไปอยู่ในอีเมลคนละฉบับ ต่อให้บันทึกลงมือถือหรือคอมพิวเตอร์ เวลาเปิดอ่านก็ยาก เสียเวลาเปิดโปรแกรม PDF แล้วไฟล์ก็รกในโฟลเดอร์ Download อยู่ดี
อีกทั้งทุกวันนี้คนเรามักจะละเลยในการเปิดอีเมล่วนตัว เพราะมีแต่ อีเมลขยะ (Junk Mail) จำพวกโฆษณาสินค้า ใบแจ้งยอดอิเล็กทรอนิกส์ ก็ไปปะปนกับอีเมลขยะเหล่านั้น การติดต่อสื่อสารยุคนี้ใช้เฟซบุ๊กและไลน์กันหมดแล้ว
ที่น่าปวดหัวก็คือ ไฟล์ PDF บางตัวเข้ารหัสผ่านที่ทางธนาคารกำหนด ส่วนใหญ่จะเป็นวันเดือนปีเกิด ธนาคารแต่ละแห่งออกรหัสผ่านไม่เหมือนกัน ดาวน์โหลดไปแล้วไม่รู้เปิดอ่านยังไง ต้องย้อนกลับไปดูอีเมลอีกรอบ
สาม โปรโมชั่นบัตรเครดิตที่แนบมากับใบแจ้งยอดทางไปรษณีย์ พิมพ์ไว้ล่วงหน้าก่อนวันโปรโมชั่นจริงประมาณ 1 เดือน ทำให้เราได้รู้โปรโมชั่นก่อนใคร เตรียมตัวรับสิทธิพิเศษเสียแต่เนิ่น ๆ
เทียบกับบนเว็บไซต์ มักจะแสดงผลเฉพาะโปรโมชั่นปัจจุบัน แต่โปรโมชั่นที่กำลังจะเกิดขึ้นรอบหน้ายังไม่มี
อีกทั้งคนเราไม่ได้มีเวลาเปิดเว็บไซต์ธนาคารทุกวัน ทุกวันนี้คนเราเปิดแต่เฟซบุ๊กกับไลน์ ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ในที่เดียว
โดยส่วนตัวเห็นว่า การผลักภาระให้ใช้ใบแจ้งยอดอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอีเมล โดยที่ไม่ส่งทางไปรษณีย์อีกต่อไปนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริงสักเท่าไหร่
ออกจะเอื้อประโยชน์ลดต้นทุนให้กับผู้ให้บริการเสียมากกว่า
แต่การออกเมนู ใบแจ้งยอดอิเล็กทรอนิกส์ ในช่องทางบริการออนไลน์ เวลาที่เราต้องการ เพียงแค่ล็อกอินแล้วดาวน์โหลดไฟล์ใบแจ้งยอดไปใช้ยังดูมีประโยชน์ซะมากกว่า
อย่างไรก็ตาม บทเรียนในการส่งเอกสารด้วยช่องทางจดหมายธรรมดา หน่วยงาน องค์กร ทั้งราชการและเอกชนควรตระหนักได้แล้วว่า หากเป็นจดหมายสำคัญไม่ควรยึดติดอยู่กับจดหมายธรรมดา ค่าส่ง 3 บาทเพียงอย่างเดียว
ต่อไปนี้องค์กรไหนที่จะแจ้งข่าวสารสำคัญแก่ลูกค้า เช่น การจัดโปรโมชั่น ควรมีกำหนดระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน
เพราะบางองค์กรกำหนดระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน กว่าจดหมายจะมาถึงก็หมดเขตไปแล้ว ลูกค้าจะเสียประโยชน์
ตัวอย่างเช่น ทราบผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่งมาว่า ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายหนึ่ง เจ้าของเดียวกับค่ายมือถือรายใหญ่แห่งหนึ่ง แจกซิมการ์ดเบอร์สวยฟรีแก่ลูกค้าที่ใช้บริการเน็ตบ้านครบ 1 ปี
หนังสือลงวันที่ 19 พฤษภาคม แต่หมดเขตเปิดใช้บริการวันที่ 30 มิถุนายน ระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน เห็นแบบนี้จังหวัดสารขัณฑ์ ที่ส่งจดหมายเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง สงสัยจะชวด
ส่วนไปรษณีย์ไทย แม้พวกเขาจะอ้างว่าต้องการรักษาองค์กรที่เป็นสมบัติของชาติสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ตราบใดที่สมบัติของชาติ ระบบยังเป็นอย่างนี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว
ที่สุด ประชาชนก็ต้องแก้ปัญหาตามมีตามเกิดก็แล้วกัน.